ขั้นตอนที่ 1 คุณหมอจะอธิบายขั้นตอนการฝากไข่ ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และอัตราการฝากไข่สำเร็จ โอกาสในการฝากไข่สำเร็จขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ ปริมาณของไข่ คุณภาพของไข่ สภาพร่างกายของผู้ฝากไข่ และอายุของผู้ฝากไข่ โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Fertility and Sterility เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 ศึกษาความสำเร็จของการฝากไข่ในผู้หญิงอายุน้อยกว่า 37 ปีจำนวน 19 คน พบว่า โอกาสที่จะแช่แข็งไข่ได้สำเร็จอยู่ที่ 89 เปอร์เซ็นต์ และโอกาสที่ไข่จะปฏิสนธิได้สำเร็จประมาณ 78 เปอร์เซ็นต์
ขั้นตอนที่ 2 เข้ารับการตรวจคัดกรองโรค เพื่อให้แน่ใจว่าไข่ที่ฝากเป็นไข่ที่มีสภาพสมบูรณ์ ไม่ส่งต่อโรคติดต่อเมื่อนำไปปฏิสนธิในภายหลัง เช่น การติดเชื้อเอชไอวี การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี
ขั้นตอนที่ 3 คุณหมอจะฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ เช่น ฟอลลิโทรปินอัลฟ่าหรือเบต้า (Follitropin Alfa/Beta) หรือ เมโนโทรปิน (Menotropins) ซึ่งเป็นยากระตุ้นการตกไข่และทำให้ตกไข่ได้ครั้งละหลายใบ เพื่อกระตุ้นให้รังไข่ผลิตไข่หลายใบในคราวเดียวกันแทนที่ผลิตไข่แค่ 1 ฟองตามปกติ อีกทั้งคุณหมอจะเจาะเลือดไปตรวจวัดระดับฮอร์โมนแอนตีมูลเลอเรียน (Anti-Mullerian Hormone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากรังไข่ สามารถบอกจำนวนไข่ได้
ขั้นตอนที่ 4 คุณหมอจะอัลตราซาวด์เพื่อหาตำแหน่งของไข่ในรังไข่ ก่อนจะวางยาสลบและใช้เข็มขนาดเล็กดูดไข่ออกมาทางช่องคลอด หากไม่สามารถหาตำแหน่งไข่ตกได้จากการอัลตราซาวด์ อาจต้องนำไข่ออกมาโดยการผ่าตัดขนาดเล็กบริเวณหน้าท้อง
ขั้นตอนที่ 5 คุณหมอจะนำเซลล์ไข่ไปแช่แข็งโดยเร็วที่สุด โดยจะเก็บรักษาไว้ในไนโตรเจนเหลวอุณหภูมิ -196 องศาเซลเซียส เพื่อคงสภาพเซลล์ไข่ไม่ให้เปลี่ยนแปลง ไข่ทั้งหมดที่เก็บได้อาจจะนำไปละลายไม่สำเร็จเสมอไป จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเก็บไข่ที่สมบูรณ์ให้ได้ปริมาณที่เพียงพอ เพื่อให้มีเซลล์ไข่ที่สามารถใช้ได้มากพอที่จะนำไปแช่แข็งได้ โดยไข่ที่แช่แข็งสำเร็จจะเก็บไว้ในห้องแล็บของคลินิกหรือโรงพยาบาลที่เข้ารับการฝากไข่
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย