หากคุณมีกล้ามเนื้อขาที่แข็งแรง จะทำให้เคลื่อนไหวได้คล่องตัวขึ้น และเนื่องจากกล้ามเนื้อขาเป็นกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ และมีมวลกล้ามเนื้อมาก การออกกำลังกายเพื่อสร้าง กล้ามเนื้อขา ให้แข็งแรงจึงสามารถช่วยให้คุณเผาผลาญพลังงานได้มากขึ้น แม้ในเวลาที่คุณกำลังนั่งทำงานอยู่ก็ตาม
ออกกำลังกายอย่างไร เพื่อให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรง
ท่าสควอท (Squats)
สควอทเป็นการออกกำลังกายที่พบมากที่สุด สำหรับการสร้างกล้ามเนื้อกลุ่มควอดริเซ็บ (Quadriceps) ที่อยู่บริเวณต้นขา รวมถึงกล้ามเนื้อขามัดใหญ่อื่นๆ แต่การสควอทจำเป็นต้องทำอย่างระมัดระวัง เพื่อป้องกันการบาดเจ็บของเข่า โดยการสควอทแบบมีอุปกรณ์ ทำได้โดยการถือบาร์เบลไว้บนไหล่ บริเวณด้านหลังคอ และย่อตัวลงเล็กน้อยด้วยการงอขา
นอกจากนี้ยังสามารถสควอทได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ ด้วยการยืนห่างจากกำแพงเล็กน้อย และย่อตัวลงโดยให้หลังติดกำแพง ระวังไม่ให้เข่าเลยปลายเท้า มากไปกว่านั้นยังสามารถใช้เครื่องสควอทในยิม ซึ่งเป็นเครื่องที่ทำให้คุณอยู่ในท่านั่ง และดันขาไปข้างหน้า โดยอาจออกกำลังกายด้วยเครื่องสควอท 8-12 ครั้ง จนกระทั่งรู้สึกล้าบริเวณกล้ามเนื้อขา อย่างไรก็ตาม ถ้าสามารถทำได้มากกว่า 12 ครั้งโดยไม่เหนื่อย ให้คุณเพิ่มน้ำหนักที่เครื่องสควอท
ท่าวอล์กกิง ลันจ์ (Walking Lunges)
ท่าลันจ์ เป็นวิธีปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ สำหรับการออกกำลังกายเพื่อทำให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรง โดยวิธีทำท่าลันจ์คือ ให้ถือดัมเบลไว้ทั้ง 2 ข้าง มองตรงไปข้างหน้า และก้าวขาไปข้างหน้า 1 ข้าง จากนั้นงอเข่าเพื่อรับน้ำหนักของร่างกาย กลับมาที่ตำแหน่งเริ่มต้น และเปลี่ยนเป็นขาอีกข้างหนึ่ง ให้ทำท่าลันจ์ 8-12 ครั้งสำหรับขา 1 ข้าง นอกจากนี้อาจไม่จำเป็นต้องใช้ดัมเบล โดยคุณสามารถใช้ขวดนมที่เป็นแกลลอนแทน
ท่าสเต็ปอัพ (Step-Ups)
สเต็ปอัพ หรือการก้าวขึ้น ก้าวลง สามารถประยุกต์ให้เป็นการออกกำลังกายที่ง่ายดายได้ โดยคุณอาจใช้เก้าอี้ หรือกล้องไม้ที่แข็งแรง เพื่อใช้ในการก้าวขึ้น-ลง ซึ่งความสูงที่แนะนำคือ 12-24 นิ้ว และการออกกำลังกายด้วยการก้าวขึ้น-ลง ทำได้โดยก้าวขึ้นและก้าวลงบนวัตถุ เช่น สเต็ปอัพ บ็อกส์ (Step up box) โดยให้ทำทั้งหมด 3 รอบ รอบละ 10-15 ครั้งสำหรับขาแต่ละข้าง มากไปกว่านั้นคุณอาจเพิ่มน้ำหนักด้วยการถือขวดแกลลอนใส่น้ำ ไว้ทั้ง 2 ข้าง
ท่าสะพาน (Bridges)
ท่าสะพานเป็นท่าที่ดีต่อขาด้านหลัง โดยเฉพาะส่วนสะโพก และส่วนที่ติดกับกล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (hamstrings) วิธีทำท่านี้คือให้นอนหงายกับพื้น และชันเข่าขึ้น จากนั้นยกสะโพกขึ้นด้านบน พร้อมกับเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณสะโพก ค้างไว้ประมาณ 3 วินาทีและกลับมาอยู่ที่ท่าเดิม ทำซ้ำ 15-20 ครั้ง
เริ่มต้นออกกำลังกาย เพื่อสร้างกล้ามเนื้อขา
- กรณีที่คุณมีโรคประจำตัว หรืออายุมากกว่า 40 ปี และไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ควรปรึกษาคุณหมอก่อนเริ่มออกกำลังกาย
- วอร์มอัพก่อนออกกำลังกาย ก่อนเริ่มต้นออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ ควรวอร์มอัพด้วยการเดินเร็วเป็นเวลา 10 นาที เนื่องจากถ้าไม่วอร์มอัพอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บกล้ามเนื้อได้
- เลือกน้ำหนักให้เหมาะสม ในกรณีที่ใช้เครื่องออกกำลังกาย ควรเลือกน้ำหนักที่เหมาะสมกับตนเอง ไม่หนักจนเกินไป และไม่เบาจนทำให้ไม่รู้สึกเหนื่อยตอนออกกำลังกาย
- ออกกำลังกาย 12-15 ครั้งต่อ 1 เซต งานวิจัยพบว่าการออกกำลังกาย 12-15 ครั้งต่อ 1 เซตถือว่าเหมาะสมสำหรับคนส่วนใหญ่ ที่จะสามารถทำให้สร้างกล้ามเนื้อ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ควรให้เวลากล้ามเนื้อได้พัก โดยควรพักเป็นเวลา 1 วันเต็มๆ หลังจากออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ
- ออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง สถาบัน The Department of Health and Human Services แนะนำว่า ควรออกกำลังกายเพื่อสร้างความแข็งแรง ของกลุ่มกล้ามเนื้อที่สำคัญทั้งหมด โดยใช้เวลาอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นประจำ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัย หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]