โยคะ (Yoga) เป็นกิจกรรมที่เสริมสมาธิ และสร้างความยืดหยุ่นให้แก่ร่างกายได้เป็นอย่างดี ทั้งยังช่วยลดความเครียดและลดความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า ทั้งยังส่งผลดีต่อสุขภาพหัวใจ และการหายใจอีกด้วย แต่โยคะก็มีท่าทางที่หลากหลาย สำหรับคนที่ทำโยคะเป็นประจำสามารถที่จะเลื่อนระดับไปทำท่าที่ยาก ๆ ได้ แต่สำหรับผู้ที่กำลังสนใจ และกำลังมองหาจังหวะดี ๆ เล่นโยคะ แต่ก็อาจจะยังไม่มีเวลาไปเข้าคอร์สอย่างเต็มรูปแบบ วันนี้ Hello คุณหมอ มีท่าโยคะง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็ทำได้มาฝาก เป็นท่าที่ประหยัดทั้งพื้นที่ ประหยัดทั้งเวลา ทำง่าย แล้วก็ยังได้ประโยชน์ต่อร่างกายอีก เรามารู้จักกับ โยคะท่าต้นไม้ กันค่ะ
โยคะท่าต้นไม้ คืออะไร
ท่าต้นไม้ หรือโยคะท่าต้นไม้ เป็นหนึ่งในท่าโยคะที่ถือว่าง่ายที่สุดสำหรับเน้นฝึกการทรงตัว โดยจะเป็นการฝึกยืนด้วยขาเดียว และปรับสมดุลในการทรงตัวทั้งช่วงแขน ขา ไหล่ สะโพก อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่เริ่มฝึก โยคะ ใหม่ ๆ จะรู้สึกว่าท่าต้นไม้นี้ยากและน่าหงุดหงิด เพราะว่าหลายคนจะล้มบ่อย เนื่องจากยังทรงตัวได้ไม่ดี แต่เมื่อฝึกจนคล่องแล้ว จะพบว่ามีการโน้มถ่วงร่างกายได้ดีขึ้น ยืดหยุ่นร่างกายดีขึ้น และมีสมาธิดีขึ้นด้วย
ประโยชน์ของการทำ โยคะท่าต้นไม้
โยคะท่าต้นไม้ แม้จะเป็นท่าที่สามารถทำได้ง่าย ๆ แต่ก็มีประโยชน์ต่อร่างกายในหลาย ๆ แง่ อย่างประโยชน์ข้อแรกซึ่งถือว่าเป็นข้อดีที่โดดเด่นของการเล่น โยคะ เลยก็คือ การสร้างความยืดหยุ่นให้กับร่างกาย เนื่องจากในการทำโยคะแต่ละท่านั้น ต้องมีทั้งการทรงตัวและการโน้มถ่วงร่างกายตั้งแต่แขน ขา เอว บ่า ไหล่
มากไปกว่านั้น การทำท่าต้นไม้ที่ดูไม่หวือหวาเท่าไหร่นี้ ยังเป็นท่าโยคะที่ดีต่อสะโพกด้วย เพราะช่วยเสริมความแข็งแรงที่ช่วงขาทั้งหมด และเพิ่มความสมดุลให้กับสะโพก เป็นอีกหนึ่งท่าโยคะที่ดีสำหรับผู้ที่มีอาการปวดสะโพก เพราะช่วยบรรเทาอาการปวดสะโพกให้ดีขึ้นได้
นอกจากประโยชน์ทางด้านกายภาพแล้ว การทำ โยคะ ท่าต้นไม้ก็ยังให้ประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพจิตด้วย เพราะมีส่วนช่วยเสริมสร้างสมาธิและสร้างสมดุลของสุขภาพจิตได้เป็นอย่างดี หากกำลังมองหากิจกรรมที่ทำง่าย แต่ให้ความรู้สึกสงบนิ่ง กระปรี้กระเปร่าและสดชื่นขึ้นล่ะก็ การทำโยคะท่าต้นไม้เป็นประจำ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมดี ๆ ที่ไม่ควรพลาด
วิธีทำ โยคะท่าต้นไม้
โยคะท่าต้นไม้สามารถทำได้ง่าย ๆ ดังนี้
- ก่อนเริ่มทำ โยคะ ให้สูดหายใจเข้าออกลึก ๆ ยืดตัวตรงและยืนขึ้น แขนทั้งสองข้างแนบกับลำตัว
- งอเข่าข้างขวาขึ้น ให้อยู่เหนือต้นขาซ้าย หรืออยู่ตรงบริเวณโคนขาซ้าย
- จังหวะนี้จะเหลือเท้าซ้ายเป็นตัวรับน้ำหนักทั้งหมด พยายามทรงตัวด้วยเท้าซ้าย อย่าให้ล้ม
- เมื่อสามารถทรงตัวได้ดีโดยไม่โอนเอนแล้ว ค่อย ๆ สูดหายใจเข้าลึก ๆ
- ค่อย ๆ ยกแขนทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะ โดยแยกแขนออกทางข้างลำตัว แล้วยกขึ้นอย่างช้า ๆ ให้มือทั้งสองข้างประกบกันอยู่เหนือศีรษะ
- มองตรงไปข้างหน้า ห้ามก้มหรือเงย ให้เพ่งสายตาไปยังวัตถุใดวัตถุหนึ่งที่อยู่ตรงหน้าไกลออกไป การเพ่งมองวัตถุไกล ๆ ที่อยู่นิ่ง จะช่วยให้สามารถรักษาสมดุลในการทรงตัวได้
- การทำ โยคะ ท่านี้ ต้องคอยสังเกตุให้หลังตรงอยู่เสมอ ไม่ควรงอหลัง หรือห่อไหล่ จากนั้นหายใจเข้ายาว ๆ อย่างช้า ๆ และหายใจออกยาว ๆ อย่างช้า ๆ ประมาณ 5-10 ครั้ง เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย
- ค่อย ๆ ลดมือลงข้างลำตัว แล้วลดขาขวาลงอยู่ในท่ายืนปกติ ยืนตัวตรง ไม่ห่อไหล่ และไม่งอหลัง แบบเดียวกับตอนที่เริ่มต้น จากนั้นสลับทำเช่นเดียวกันกับขาข้างซ้าย
คำแนะนำสำหรับการทำโยคะท่าต้นไม้
- บางคนไม่สามารถที่จะยกขาทั้งสองข้างขึ้นมาได้เท่ากัน เช่น ขาข้างขวาอาจสามารถยกมาถึงโคนขาได้ แต่ขาข้างซ้ายยกขึ้นมาไม่ถึง หากเป็นเช่นนี้ สามารถวางเท้าซ้ายไว้ที่น่องขาขวา หรือบนนิ้วเท้าข้างขวา และสามารถทำเช่นเดียวกันนี้กับเท้าอีกข้างได้
- ในระยะแรกของการทำ โยคะ ท่าต้นไม้ หากไม่สามารถทรงตัวได้จริง ๆ หรือทำแล้วแต่ล้มบ่อย สามารถใช้ผนังเป็นตัวช่วยได้ ลองทำท่าต้นไม้โดยให้หลังติดกับหนังห้องเพื่อสร้างความสมดุล ป้องกันไม่ให้ล้ม
- เวลาที่ยกขาข้างใดข้างหนึ่งขึ้นมาแตะไว้ที่โคนขาอีกข้าง สะโพกฝั่งเดียวกับขาข้างที่ยกขึ้นมา จะต้องอยู่ในตำแหน่งเดิมเหมือนตอนที่ยืนสองขา ไม่ควรให้สะโพกเฉออกไปข้างใดข้างหนึ่ง
- เวลาวางยกขามาวางไว้ที่ขาอีกข้าง ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการวางเท้าในตำแหน่งหัวเข่าโดยตรง เพราะเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ หรือสร้างความเจ็บปวดต่อข้อเข่าได้
- คอยดูให้เข่าซ้ายหันไปทางซ้ายเสมอ ระวังอย่าให้หันเข้าจุดกึ่งกลาง
- สามารถเพิ่มความท้าทายในการทำ โยคะ ท่าต้นไม้ ด้วยการหลับตา แล้วลองดูว่ายังสามารถทรงตัวขณะที่หลับตาแม้จะยืนขาเดียวอยู่ได้หรือไม่
- หากไม่นำมือมาประกบกัน สามารถแยกแขนทั้งสองข้างออกเป็นรูปตัววีได้
การเตรียมตัวก่อนเริ่มโยคะ
- หากเรียน โยคะ แบบเป็นคลาส ห้องเรียนอาจจะมีความร้อนที่ทำให้เหงื่อออก ดังนั้นก่อนเริ่มเรียนคลาสโยคะประมาณ 2 ชั่วโมง ควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันอาการขาดน้ำ
- ก่อนเริ่มทำโยคะหรือเรียนโยคะ ไม่ควรปล่อยให้ท้องว่าง ควรรับประทานอาหารอย่างน้อย 20 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ก่อนเริ่มทำโยคะ เพื่อให้มีพลังงานเพียงพอขณะทำ โยคะ ป้องกันการสูญเสียสมาธิเนื่องจากรู้สึกหิว
- สวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะกับการทำโยคะ เช่น สปอร์ตบรา กางเกงโยคะ เพื่อให้เหมาะแก่การเคลื่อนไหวร่างกาย
- ลงทุนกับเสื่อ โยคะ ดี ๆ สักผืน เพราะเวลาเล่นโยคะมักจะมีเหงื่อออก หากเหงื่อออกที่เท้า อาจจะทำให้ลื่นล้มได้ การใช้เสื่อโยคะจึงช่วยป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นขณะเล่นโยคะ ทั้งยังช่วยในเรื่องความสะอาดเวลาเหงื่อออกและเกิดคราบเหงื่อที่ฝ่าเท้าด้วย
[embed-health-tool-bmi]