backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

การดูแลสุขภาพ ทำอย่างไรให้ชีวิตแข็งแรงดีทั้งกายและใจ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 03/11/2022

การดูแลสุขภาพ ทำอย่างไรให้ชีวิตแข็งแรงดีทั้งกายและใจ

การดูแลสุขภาพ คือการดูแลสุขภาพกาย  สุขภาพจิต และการรักษาความสัมพันธ์กับรอบข้าง ให้แข็งแรง มีความสุข และสมดุล เพราะภาวะสุขภาพส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งเรื่องงาน ครอบครัว การเงิน ความสัมพันธ์ เมื่อสุขภาพดี ชีวิตมักมีแนวโน้มที่จะดีตามไปด้วย

การดูแลสุขภาพ

การดูแลสุขภาพกาย

การดูแลสุขภาพกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ สามารถทำได้ดังนี้

ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

การออกกำลังกาย การเล่นกีฬา การเคลื่อนไหวร่างกาย นับเป็นสิ่งจำเป็นเพราะทำให้ร่างกายแข็งแรง กระปรี้กระเปร่า และยังช่วยลดความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคซึมเศร้า

ใน 1 สัปดาห์ ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาที อาจแบ่งเป็นออกกำลังกายวันละ 30 นาที จำนวน 5 วัน หรืออาจเพิ่มเป็น 300 นาที ต่อสัปดาห์ เพื่อประโยชน์ทางสุขภาพที่มากขึ้น

การออกกำลังกาย สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน เช่น การขึ้นบันไดแทนลิฟต์ การเดินไปเดินมาในบ้านระหว่างใช้คอมพิวเตอร์ การทำงานบ้าน และการเดินไปยังจุดหมายใกล้ ๆ อย่างโรงอาหารหรือร้านสะดวกซื้อใกล้บ้าน แทนการใช้ยานพาหนะ นอกจากนั้น การเล่นกีฬาที่ชื่นชอบก็นับเป็นแรงจูงใจที่ดีเพื่อการดูแลสุขภาพกาย ทั้งวิ่ง ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก รวมทั้งการเล่นกีฬาในฟิตเนสโดยมีเทรนเนอร์ฝึกสอนก็นับเป็นทางเลือกที่ดีเช่นกัน

ทั้งนี้ ควรแบ่งเวลาออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกายตามที่ตัวเองชอบ รวมทั้งปรับให้เหมาะสมกับกิจวัตรประจำวันและตารางชีวิตเพื่อจะได้ไม่กระทบกับงานหรือการใช้ชีวิตด้านอื่น ๆ

เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์

ร่างกายจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานในการใช้ชีวิตประจำวัน ควรเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับช่วงวัย และสภาพร่างกาย หรือภาวะสุขภาพ โดยในคนปกตินอกเหนือจากรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในแต่ละมื้อแล้ว ควรเลือกรับประทานอาหาร ดังนี้

  • รับประทานเส้นใยให้มากขึ้น หรืออย่างน้อยวันละ 30 กรัม โดยอาหารที่มีเส้นใยประกอบด้วย ผัก ผลไม้ ธัญพืช เพราะจะช่วยป้องกันท้องผูก ลดระดับน้ำตาลในเลือด และควบคุมน้ำหนัก
  • ลดเกลือในมื้ออาหาร เพื่อรักษาระดับความดันเลือด ผู้ใหญ่ควรบริโภคเกลือในมื้ออาหารไม่เกิน 6 กรัมต่อวัน หรือประมาณ 1 ช้อนชา เพื่อไม่ให้เกิดภาวะโซเดียมสูงเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการกินไขมันอิ่มตัว เพราะเป็นสาเหตุของภาวะไขมันในเลือดสูง เสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้ สำหรับอาหารซึ่งควรหลีกเลี่ยงไม่ควรกินในปริมาณมาก ได้แก่ ของทอด ไอศกรีม อาหารหรือขนมหวานที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ ขนมอบ ชีส ไส้กรอก เบคอน
  • ลดการบริโภคน้ำตาล เนื่องจากการบริโภคน้ำตาลเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง รวมถึงโรคเบาหวาน นอกจากนี้ ในกรณีของผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้มีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน การลดปริมาณน้ำตาลที่บริโภคในแต่ละวัน ยังช่วยป้องกันไม่ให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลงด้วย

นอนหลับให้เพียงพอ

การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ช่วยให้รักษาสภาพจิตให้อยู่ในเกณฑ์ดี และลดความเสี่ยงจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง โรคซึมเศร้า

ระยะเวลานอนที่เหมาะสม มีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ ดังนี้

  • อายุ 3-5 ปี ควรนอน 10 ถึง 13 ชั่วโมงต่อวัน
  • อายุ 6-12 ปี ควรนอน 9-12 ชั่วโมงต่อวัน
  • อายุ 13-18 ปี ควรนอน 8-10 ชั่วโมงต่อวัน
  • อายุ 18 ปี ขึ้นไป ควรนอนอย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวัน

นอกจากนี้ ควรนอนในห้องนอนที่เงียบและมืดสนิท รวมทั้งหมั่นทำความสะอาดห้องนอนและเตียงนอนอยู่เสมอ เพราะห้องนอนและเตียงนอนเป็นปัจจัยสำคัญต่อคุณภาพการนอนด้วยเช่นกัน และไม่ควรวางโทรศัพท์มือถือไว้บนเตียง เพราะอาจรบกวนการนอน และอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ

การมีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอนอกจากจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักแล้ว ยังส่งผลดีต่อร่างกายหลายประการเช่น

  • ช่วยเผาผลาญแคลอรี่ เนื่องจากการมีเพศสัมพันธ์ทุก ๆ 1 นาที เผาผลาญพลังงานได้ประมาณ 5 แคลอรี่ หากมีเพศสัมพันธ์ค่อนข้างนานก็อาจยิ่งช่วยให้เผาผลาญพลังงานได้มากขึ้น และช่วยกระตุ้นให้หัวใจสูบฉีดเลือดดีขึ้น
  • ช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจ งานวิจัยของ The New England Research Institute พบว่าการมีเพศสัมพันธ์เป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง อาจช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจลงได้ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์
  • ช่วยให้นอนหลับดีขึ้น โดยปกติร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) ในปริมาณมากขณะหลับ นอกจากนั้น ร่างกายยังผลิตโปรแลคตินเมื่อมีเพศสัมพันธ์แล้วถึงจุดสุดยอดมากถึง 4 เท่าหากเทียบกับการถึงจุดสุดยอดเมื่อช่วยตัวเอง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ร่างกายรู้สึกง่วงและหลับได้ดีโดยเฉพาะในเพศชาย
  • ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ในผู้ชาย การหลั่งอสุจิประมาณ 21 ครั้งต่อเดือน ลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากไดมากกว่าผู้ชายที่หลั่งประมาณ 4-7 ครั้งต่อเดือน อ้างอิงจากงานวิจัยของ Journal of the American Medical Association

การดูแลสุขภาพจิต

ไม่เพียงแต่การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงเท่านั้น แต่การดูแลรักษาสภาพจิตใจให้มั่นคง ไม่ขึ้นลงหรือหวั่นไหวไปตามสภาพแวดล้อม ย่อมมีส่วนทำให้ชีวิตสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น วิธีดูแลสุขภาพจิตให้แจ่มใสนั้น อาจทำได้ดังนี้

จัดการความโกรธ

การจัดการกับความโกรธเป็นหนึ่งในวิธีการดูแลสุขภาพจิตที่สำคัญเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องจากอารมณ์โกรธนั้นเกิดขึ้นได้ค่อนข้างง่าย และมักทำให้ขาดสติ นำไปสู่การตัดสินใจที่ผิด ๆ พูดจาทำร้ายจิตใจผู้อื่น ทำให้คนรอบข้างเสียความรู้สึก ข้าวของเสียหาย หรือเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุซึ่งอันตรายถึงชีวิต อาจลองใช้วิธีเหล่านี้เพื่อช่วยระงับความโกรธ เช่น

  • ออกกำลังกาย การออกกำลังกายทำให้จิตใจผ่องใส ร่างกายสดชื่น และยังช่วยลดความเครียด ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของความโกรธ ผู้ที่มีความเครียดสะสม เมื่อมีสิ่งเร้าเพียงเล็กน้อยก็สามารถโกรธหรือบันดาลโทสะได้
  • มองหาต้นเหตุของความโกรธ ความโกรธอาจเกิดขึ้นได้ และอาจยับยั้งความโกรธได้ลำบาก แต่การค้นหาสาเหตุของความโกรธจะช่วยให้เกิดการทบทวนและเรียนรู้ และสามารถรับมือกับปัญหาที่เป็นต้นเหตุของความโกรธได้ดีขึ้น
  • เรียนรู้ที่จะให้อภัย ความโกรธอาจเกิดจากโกรธตัวเองหรือโกรธคนรอบข้าง การรู้จักให้อภัยว่าทุกคนสามารถทำผิดพลาดได้อาจช่วยให้รู้สึกสบายใจขึ้น ปล่อยวางความโกรธได้ง่าย ให้อภัยผู้อื่น และอาจทำให้สามารถกลับไปสานสันพันธ์กับคนที่เคยทำให้โกรธได้
  • เรียนรู้ที่จะผ่อนคลายบ้าง การให้เวลาตัวเองได้พักผ่อน อยู่ในมุมสงบ หลบหนีจากความวุ่นวายอาจช่วยให้มีสติและใจเย็นลง ทั้งนี้อาจทำได้ด้วยการนั่งสมาธิ เล่นโยคะ ฟังเพลง ออกไปเดินเล่นในสวนสาธารณะ
  • มองหาตัวช่วย เมื่อรู้สึกว่าความโกรธรุนแรงเกินควบคุม ควรมองหาตัวช่วยหรือเดินหนีออกไปจากสถานการณ์ที่ทำให้โกรธก่อน เพราะหากยังโกรธอยู่อาจขาดสติจนพูดหรือทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ดังนัั้นอาจเลือกออกไปสูดอากาศนอกห้อง พูดระบายหรือปรึกษากับคนที่ไว้ใจหรืออยู่ด้วยแล้วสบายใจ อาจทำให้ลดอารมณ์โกรธลงและทำให้รู้สึกดีขึ้น

รับมือกับความเครียด

ความเครียดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต อาจเกิดจากปัญหาเรื่องงาน ความรัก ภาวะสุขภาพ หรือการสูญเสียบุคคลใกล้ตัว วิธีจัดการกับความเครียดมีหลายรูปแบบ เช่น

  • ปรับทัศนคติของตนเอง ด้วยการทำใจยอมรับความจริง มองโลกด้วยทัศนคติบวก รวมทั้งการทำความเข้าใจว่าไม่มีใครสามารถควบคุมสถานการณ์ไปตามที่ต้องการได้ทุกอย่าง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ การออกกำลังกายมีประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน เพราะนอกจากจะช่วยลดความเครียดได้โดยตรงแล้ว ยังทำให้นอนหลับสบาย ช่วยลดปัญหาการนอนไม่หลับ อันเป็นผลพวงจากความเครียดสะสม
  • พบเจอเพื่อฝูง เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ หรือทำกิจกรรมใหม่ ๆ ให้สมองได้ผ่อนคลายอีกทั้งการได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระบายความรู้สึกรวมทั้งรับฟังปัญหาของเพื่อนบางคนอาจช่วยให้รู้สึกสบายใจขึ้นและมองเห็นความเครียดเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต้องพบเจอ
  • ปรับพฤติกรรม หากพบว่าตนเองตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความเครียด ควรหาทางแก้ไข ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง หรือหาทางปรับความเข้าใจกับคนที่ทำให้เกิดความเครียด รวมทั้งไม่ควรกดดันตัวเอง หรือไม่ควรรับปากที่จะทำอะไรให้ผู้อื่นหากเป็นสิ่งที่เกินความสามารถของตนเอง

ต่อสู้กับภาวะซึมเศร้า

ภาวะซึมเศร้า คือ ความผิดปกติทางอารมณ์แบบหนึ่ง ซึ่งผู้ป่วยมักรู้สึกเศร้า ไร้ค่า หมดหวัง หรือขาดความสนใจในสิ่งต่าง ๆ นอกเหนือจากการไปพบคุณหมอเพื่อขอรับการรักษาและรับยามากิน ผู้มีภาวะซึมเศร้า อาจสามารถปฏิบัติตัวดังนี้

  • มีตารางชีวิตที่ชัดเจน เนื่องจากภาวะซึมเศร้าอาจมีผลต่อการนอน รวมถึงกิจวัตรประจำวันแต่เดิม การมีตารางชีวิตที่ชัดเจนจะช่วยให้ชีวิตประจำวันของผู้มีภาวะซึมเศร้ายังดำเนินไปได้อย่างเป็นระบบ
  • เลือกรับประทานอาหาร ในบางกรณี ผู้มีภาวะโรคซึมเศร้ามักเลือกรับประทานอาหารปริมาณมากเพื่อให้ตัวเองมีความสุข แต่จริง ๆ แล้วควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อย่างผักใบเขียวหรือผลไม้ เพราะหากตกอยู่ในภาวะน้ำหนักเกิน อาจยิ่งทำให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้ามากขึ้น
  • ท้าทายความคิดแง่ลบ บ่อยครั้งที่ผู้มีภาวะซึมเศร้ามักมีความคิดว่าตัวเองไร้ค่า ในการรับมือกับความคิดเช่นนี้ ผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้าอาจลองถามตัวเองว่าจริงหรือเปล่า หรือมีอะไรเป็นหลักฐานที่บ่งบอกว่าตัวเองไร้ค่า อย่าปล่อยให้ตนเองคิดเลื่อนลอยและฟุ้งซ่านโดยไม่มีเหตุผลประกอบ และลองถามตัวเองว่า ตนเองทำอะไรได้ดี มีความสามารถด้านใด เพื่อฝึกตนเองในการมองให้ชีวิตมีค่ามากขึ้น
  • หาอะไรใหม่ ๆ ทำ การรู้สึกหมดความสนุกกับสิ่งรอบตัวเป็นอาการหนึ่งของภาวะซึมเศร้า ผู้มีภาวะซึมเศร้าอาจลองหาอะไรใหม่ ๆ ทำ เพราะอาจเปิดโลกใหม่ ๆ ทำให้อารมณ์ดีขึ้น และดึงความสนใจออกไปจากการครุ่นคิดถึงแต่ภาวะซึมเศร้าของตนเอง หากไม่สามารถทำได้ ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อเข้ารับการบำบัดต่อไป

การเข้าสังคมและรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง

การเข้าสังคม เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพ เนื่องจากความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนหรือคนรอบตัว สามารถสร้างความสุขให้เกิดขึ้นได้  เพราะการได้รับการยอมรับจากผู้อื่นจะช่วยส่งเสริมความมั่นใจและทำให้รู้สึกว่าตนเองเป็นที่รักและเป็นที่ต้องการ เพิ่มคุณค่าในตัวเอง ในขณะเดียวกันการเข้าสังคมทำให้มีคนคอยรับฟังปัญหาต่าง ๆ ซึ่งอาจช่วยลดความเครียดหรือคลายความไม่สบายใจลงไปการเข้าสังคมและรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบตัวอาจดีขึ้น หากปฏิบัติดังนี้

  • ไม่คาดหวังมากเกินไป ในการเข้าสังคม ควรยอมรับความเป็นตัวตนของคนอื่น เคารพสิ่งที่อีกฝ่ายคิดหรือแสดงออก และไม่คาดหวังจากอีกฝ่ายมากเกินไป เพราะหากคาดหวังสูง เมื่อผิดหวังจะรู้สึกเสียใจและยากที่จัดการกับความรู้สึก
  • เป็นผู้ฟังที่ดีในการสนทนา โดยฟังอย่างตั้งใจ สบตาผู้พูดเป็นระยะ ไม่พูดแทรกเมื่อคู่สนทนาพูด และถามคำถามต่าง ๆ เพื่อให้เห็นว่าตัวเองสนใจเรื่องที่คู่สนทนาพูดจริง ๆ ฟังด้วยความเข้าใจและไม่ตัดสินผู้อื่น
  • ยอมรับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ และไม่มีสิ่งใดคงทนถาวรตลอดไป การยืดหยุ่นหรือยอมรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นจะช่วยให้จัดการกับความรู้สึกของตนเองได้ เช่น การเลือกเดินออกจากชีวิตของใครบางคน
  • ไม่ลืมที่จะรักตัวเอง ความสัมพันธ์เป็นเรื่องระหว่างบุคคล ไม่ใช่เรื่องของเรื่องของใครคนหนึ่ง ในการรักษาความสัมพันธ์ อาจต้องนึกถึงจิตใจของผู้อื่น แต่ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรักตัวเอง ควรนึกถึงความรู้สึกหรือความต้องการของตัวเองด้วยเช่นกัน
  • รู้จักรับมือเมื่อไม่ลงรอยกัน การทะเลาะกันหรือคิดต่างเป็นเรื่องปกติของความสัมพันธ์ และเพื่อรักษาความสัมพันธ์ ทั้ง 2 ฝ่ายควรรับมือกับความไม่ลงรอยกันอย่างชาญฉลาด เช่น แลกเปลี่ยนปัญหาอย่างตรงไปตรงมา รู้จักควบคุมอารมณ์ไม่ให้สุดโต่งด้านใดด้านหนึ่ง ยอมรับความผิดพลาด ประนีประนอม เจอกันตรงกลาง และไม่ถือทิฐิหากต้องกล่าวขอโทษก่อน
  • ใช้โซเชียลมีเดียอย่างฉลาด ปัจจุบัน โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือรักษาสร้างความสัมพันธ์และการแสดงออก การเลือกแสดงออกด้านบวกบนโซเชียลมีเดียมีส่วนให้คนอยากเข้าหาหรือสร้างความสัมพันธ์ด้วย ขณะที่การเลือกแสดงออกด้านลบออกบนโซเชียลมีเดียบ่อย ๆ อาจทำให้คนรู้จักเลือกลบความเป็นเพื่อนแทน แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ควรที่จะรักษาความเป็นตัวของตัวเองไว้เช่นกัน
  • คิดก่อนพูดหรือโพสต์ ไม่ว่าในชีวิตจริงหรือในโลกออนไลน์ ควรไตร่ตรองก่อนพูดหรือโพสต์ เพื่อป้องกันคู่สนทนาหรือคนใกล้ตัวเสียความรู้สึกหรืออาจไปกระทบความสัมพันธ์ให้แย่ลง

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 03/11/2022

advertisement iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

advertisement iconโฆษณา
advertisement iconโฆษณา