ทำไมพ่อแม่ถึงต้องมี ความลำเอียง
เมื่อตอนที่เรายังเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเป็นลูกคนเดียว ความรัก ความดูแล และการเอาใจใส่ทั้งหมดจะพุ่งมาที่เราคนเดียว แต่เมื่อโตขึ้นและสามารถดูแลตัวเองได้มากกว่าตอนที่ยังเป็นเด็ก ความเอาใจใส่ในบางเรื่องของพ่อแม่อาจลดลงไป เพราะคุณอาจจะสามารถทำในเรื่องที่เคยน่าวิตกกังวลได้เป็นอย่างดีแล้ว ดังนั้นเมื่อมีสมาชิกใหม่เกิดขึ้นในบ้าน ความเอาใจใส่จึงต้องเปลี่ยนไปอยู่กับน้องชายหรือน้องสาวตัวน้อยแทน
บางครั้งการแสดงออกที่เราเข้าใจว่าเป็นความ ลำเอียง แท้จริงเเล้วอาจเป็นเพียงกรณีของผู้น้อยย่อมต้องได้รับการดูแลและปกป้องมากกว่าผู้ที่เป็นผู้ใหญ่และดูแลตัวเองได้แล้ว แต่หากมีการเปรียบเทียบในเรื่องเดียวกัน เช่น การเรียน การทำกิจกรรม รูปร่างหน้าตา ความสำเร็จ นั่นอาจเป็นความลำเอียงที่ชัดเจนและมีผลกระทบกับจิตใจและอารมณ์มากยิ่งขึ้น ถึงแม้จะเป็นการแสดงออกเพื่อหวังผลในการผลักดันเพื่อให้เด็กพัฒนาตนเองก็ตาม
พฤติกรรมใดบ้างที่บ่งบอกว่านี่คือการ “ลำเอียง”
ลักษณะพฤติกรรมที่ทำให้รู้สึกว่านี่คือความ ลำเอียง มีหลายกรณี เช่น
- เลือกให้เวลากับเด็กเพียงคนเดียว ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะมีเหตุผลที่ต่างกันทั้งเวลาทำงาน หรืออะไรก็ตาม แต่เลือกที่จะให้เวลากับลูกเพียงคนเดียวมากเกินไป
- รักลูกคนโตและคนเล็กมากกว่า ทำให้ลูกคนกลางอาจจะรู้สึกเหมือนกับว่าได้ความรักไม่เพียงพอ
- เลือกที่จะให้ความสนใจกับคนที่เรียนเก่งมากกว่า
- ให้สิ่งของใหม่กับพี่หรือน้องมากกว่า
- ชื่นชมความสำเร็จของพี่หรือน้องมากกว่า
- พูดเปรียบเทียบเรื่องต่าง ๆ ระหว่างเรากับพี่และน้อง
- ให้คำปรึกษา หรือช่วยตัดสินใจปัญหาของพี่หรือน้องมากกว่า
แก้ปัญหา ความลำเอียง ภายในบ้าน
- ให้โอกาสในการเป็นตัวของตัวเองกับเด็ก ไม่กำหนดหรือคาดหวังความต้องการมากจนเกินไป
- ทำบรรยากาศทุกอย่างภายในบ้านให้มีความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นงานบ้าน หรือแม้กระทั่งเรื่องอะไรก็ตาม ทุกอย่างต้องเป็นธรรมสำหรับทุกคน ห้ามเอาเปรียบกัน
- ให้เวลากับลูกเท่ากันทุกคน ไม่เลือกที่จะให้เวลากับใครคนใดคนหนึ่งมากไป
- เมื่อให้รางวัลหรือของขวัญ ก็ควรจะอยู่ในความพอดี ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป
- อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าทำไมจึงทำเช่นนั้น หากสังเกตว่าลูกรู้สึกว่าพ่อแม่มีความ ลำเอียง
- รักลูกให้เท่ากัน เอาใจใส่ลูกทุกคนตามสมควร
- สอนให้ลูกมีเหตุและผล มีสติและเข้าใจถึงสาเหตุการกระทำต่างๆของพ่อแม่
- หมั่นสังเกตอาการของลูกเสมอ หากลูกมีอาการซึมเศร้า เครียด ควรมีการพูดคัยและทำความเข้าใจกัน
เรื่องของความ ลำเอียง เป็นเรื่องที่ผู้ปกครองไม่ควรมองข้าม เพราะจะส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจของเด็ก และหากไม่มีการพูดคุยหรือแก้ไขให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน ก็จะส่งผลให้เป็นเหตุการณ์ที่ฝังใจไปจนโต จนอาจเกิดอาการปลีกตัว และไม่สนใจครอบครัว เพราะรู้สึกว่าไม่มีใครรัก การมีครอบครัวที่อบอุ่นสามารถทำให้เด็กเติบโตไปเป็นบุคลากรที่ดีได้ ดังนั้นการเริ่มต้นที่ดีจึงมาจากครอบครัวที่มีความรักและความอบอุ่นนั่นเอง
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด