backup og meta

ทารกกับอากาศร้อน กับสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

ทารกกับอากาศร้อน กับสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

โดยปกติแล้ว ไม่ควรพาทารกที่อายุน้อยกว่า 6 เดือนไปโดนแสงแดดโดยตรง เนื่องจากผิวของทารกยังมีเมลานิน ซึ่งเป็นเม็ดสีที่ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดดน้อยเกินไป ทั้งยังไม่ควรทาครีมกันแดดให้กับทารกที่อายุต่ำกว่า 6 เดือนอีกด้วย แต่ในประเทศไทยนั้น ทารกกับอากาศร้อน นั้นอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจต้องเตรียมพร้อมเมื่อต้องพาทารกออกไปข้างนอกในช่วงอากาศร้อน

[embed-health-tool-vaccination-tool]

ทารกกับอากาศร้อน สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

อากาศร้อนแค่ไหน ถึงไม่ควรพาทารกเดินทาง

สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Academy of Pediatrics หรือ AAP) ระบุว่า เด็กทุกเพศทุกวัยที่มีสุขภาพแข็งแรงดี สามารถเล่นกลางแจ้ง หรือเดินทางในช่วงอากาศร้อนได้ หากอุณหภูมิไม่เกิน 32 องศาเซลเซียส แต่หากเป็นเด็กทารก หรือเด็กวัยเตาะแตะ ไม่ควรเผชิญอากาศร้อนหรือแสงแดดติดต่อกันเป็นเวลานานเกินไป เพราะเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพได้ง่าย

อากาศร้อนส่งผลต่อร่างกายทารกอย่างไร

อากาศร้อนสามารถส่งผลกระทบต่อทารก และทำให้เกิดภาวะสุขภาพได้นานัปการ ที่พบได้บ่อย ได้แก่

ผดร้อน

ผดร้อน หรือผด (Heat rash หรือ Prickly heat) คือ รอยหรือตุ่มแดงขนาดเล็กที่เกิดขึ้นเพราะอากาศร้อนจัด ทำให้รู้สึกคันตามผิวหนังในบริเวณที่เกิดผด ยิ่งเด็กทารกยิ่งเสี่ยงเกิดผดร้อนได้ง่าย เพราะต่อมเหงื่อยังพัฒนาไม่เต็มที่ โดยผดร้อนในทารกอาจเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนในร่างกายที่อับชื้น เช่น บริเวณที่สัมผัสผ้าอ้อม บริเวณใต้คาง

ภาวะขาดน้ำ

การเผชิญอากาศร้อนหรือแสงแดดจัดทำให้ทารกเสี่ยงเกิดภาวะขาดน้ำได้ง่ายขึ้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรทำให้ร่างกายของเด็กชุ่มชื้นอยู่เสมอ หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน หรือเด็กที่ยังกินนมอยู่ แนะนำให้ป้อนนมลูกให้บ่อยขึ้น แต่ลดระยะเวลาในการป้อนนมแต่ละครั้งให้สั้นลง แต่หากลูกกินอาหารหยาบได้แล้ว ก็อาจให้เด็กจิบน้ำเย็นทีละนิดก็ได้

โรคลมแดด

โรคลมแดด (Heat Stroke) คือ ภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินไป เนื่องจากสัมผัสกับอากาศร้อนจัดนานกว่าปกติ จนร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ทัน โดยอาการของโรคลมแดดมักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะทำให้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ในร่างกายเริ่มหยุดทำงาน ทำให้สมองเสียหาย และอาจเป็นอันตรายร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตได้

อาการของโรคลมแดดที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้ไว้ เช่น

  • เหงื่อออกมากผิดปกติ แต่อยู่ ๆ เหงื่อก็หยุดไหล
  • กระหายน้ำมาก
  • ผิวหนังซีด เย็นและชื้น
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • กระหม่อมบุ๋ม
  • ปัสสาวะน้อยลงและมีสีเข้มกว่าปกติ
  • ปากแห้ง ตาแห้ง
  • ปวดศีรษะ
  • เป็นตะคริว
  • ง่วงซึม งอแง

วิธีดูแลทารกเมื่อต้องออกไปข้างนอกช่วงอากาศร้อน

  • ไม่ควรทิ้งลูกไว้ในรถตามลำพัง แม้จะเป็นที่จอดรถในร่มก็ตาม
  • ให้ลูกจิบน้ำเป็นระยะ เพื่อไม่ให้กระหายน้ำ และป้องกันภาวะขาดน้ำ
  • พยายามอย่าให้ทารกต้องเจอแดดในช่วงแดดจัด (10.00-14.00 น.) ยิ่งทารกมีอายุน้อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องเลี่ยงแดดในช่วงนี้ให้ได้มากที่สุด เพราะยิ่งเด็กเขาก็ยิ่งผลิตเหงื่อได้น้อย นั่นหมายความว่า ร่างกายเขายังปรับลดอุณหภูมิเองได้ไม่เก่งนัก
  • ควรให้ลูกอยู่ในที่ร่มและเย็น อากาศถ่ายเทสะดวก หากต้องพาลูกออกกลางแจ้ง หรือเจอแดดจัด ควรใช้ผ้าหมาด ๆ คลุมรถเข็นเด็กเอาไว้ และให้ลูกใส่เสื้อผ้าที่มีเนื้อผ้าสบาย ผ้าไม่หนาจนทำให้ลูกอัดอัด แต่ก็ไม่บางจนทำให้ลูกเสี่ยงป่วย หรือผิวหนังโดนแดดเผา และอย่าลืมทาครีมกันผดผื่นให้ลูก และเปลี่ยนชุดให้เขาบ่อย ๆ ด้วย
  • หากลูกเริ่มงอแง หรือดูอ่อนเพลียผิดปกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณว่าลูกกำลังเผชิญภาวะเครียดจากความร้อน (Heat stress) ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อคนเราเจอแดดหรืออากาศร้อนจัด จนร่างกายเริ่มระบายความร้อนไม่ไหว ในกรณีนี้ ควรให้ลูกจิบน้ำให้มาก ๆ และพาลูกเข้าพบคุณหมอทันที

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Babies in hot weather. https://www.pregnancybirthbaby.org.au/babies-hot-in-weather. Accessed July 17, 2020

How can I keep my baby safe during hot weather?. https://www.nhs.uk/common-health-questions/childrens-health/how-can-i-keep-my-baby-safe-during-hot-weather/. Accessed July 17, 2020

https://www.health.nsw.gov.au/environment/beattheheat/Pages/babies-children-hot-weather.aspx. Accessed July 17, 2020

Hot weather and child safety. https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/hot-weather-and-child-safety. Accessed July 17, 2020

Natural Disasters and Severe Weather, Infants and Children. https://www.cdc.gov/disasters/extremeheat/children.html. Accessed July 17, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

18/04/2024

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

แป้งเด็ก ส่งผลอันตรายต่อ ทารก จริงหรือ

รู้หรือไม่ อากาศร้อน อันตรายต่อร่างกายมากกว่าที่เราคิด


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 18/04/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา