ประเภทของนิทานที่เหมาะกับเด็กในแต่ละช่วงวัย
เด็กแต่ละช่วงวัยมีพัฒนาการที่แตกต่างกัน จึงควรเลือกนิทานเด็กให้เหมาะสมกับวัย ซึ่งอาจมีดังนี้
- นิทานเด็กแรกเกิด ควรเลือกหนังสือนิทานเด็กที่มีสีสันสดใส เป็นรูปภาพ มีขนาดใหญ่ เพราะจะช่วยดึงดูดเด็กแรกเกิดและช่วยพัฒนาการมองเห็นได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ อาจเลือกนิทานเด็กที่มีลักษณะรูปร่างและพื้นผิวที่แตกต่างกัน หรือมีเสียงประกอบ เพื่อให้เด็กได้ฝึกการสัมผัส การได้ยินและการมองเห็น ไม่จำเป็นต้องเน้นการเล่าเนื้อเรื่องจนจบ
- นิทานเด็กทารกและเด็กเล็ก อายุ 12-18 เดือน เด็กในวัยนี้มักให้ความสนใจกับหนังสือที่มีเนื้อเรื่องเป็นคำง่าย ๆ มีจังหวะ คล้องจองหรือมีเสียงดนตรีประกอบ คุณพ่อคุณแม่จึงอาจเลือกหนังสือนิทานที่เกี่ยวกับอาหาร สัตว์ รถ หรือมีรูปคน รวมถึงอาจมีลักษณะที่เป็นภาพประกอบแบบป๊อปอัพ มีพื้นผิวที่แตกต่างกัน และมีความแข็งแรงทนทาน ซึ่งอาจช่วยพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ภาษา การมองเห็นและการฟังได้
- นิทานเด็กวัยหัดเดิน อายุ 18 เดือน ถึง 3 ปี เด็กวัยนี้ควรเลือกหนังสือนิทานที่มีเนื้อเรื่องยาวมากขึ้น และมีคำศัพท์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น อาจเป็นหนังสือที่มีภาพประกอบ ภาพป๊อปอัพ มีเสียงและมีพื้นผิวแตกต่างกัน โดยอาจเป็นหนังสือให้ความรู้ หนังสือเกี่ยวกับการผจญภัย เช่น เจ้าชายกับเจ้าหญิง นางฟ้า สัตว์ ดวงดาว รถยนต์ ซึ่งอาจช่วยพัฒนาทักษะทางภาษาและเสริมสร้างจินตนาการให้แก่เด็ก
- นิทานเด็กก่อนวันเรียน เด็กในวัยนี้เป็นวัยที่ต้องเตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจเลือกหนังสือนิทานที่มีตัวหนังสือมากขึ้น สามารถเล่าเรื่องได้ยาวขึ้น หรืออาจมีความซับซ้อนของเรื่องราว เพราะอาจช่วยพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เด็กมักพบเจอเพื่อให้เด็กหัดขบคิดแก้ปัญหา และะช่วยเสริมทักษะทางภาษาและการสื่อสาร หรืออาจเลือกหนังสือที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของเด็ก เพื่อให้เด็กได้พัฒนาความถนัดและความชอบของตัวเอง หรือเลือกหนังสือที่เกี่ยวกับโรงเรียน เพื่อน ครอบครัว เพื่อให้เด็กเรียนรู้การเข้าสังคม
วิธีการเล่านิทานให้เด็กฟัง
การเล่านิทานให้เด็กฟังอาจช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์และอาจช่วยให้เด็กรู้สึกสนุกกับนิทานเด็ก โดยคุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีการเล่าต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อช่วยดึงดูดความสนใจของเด็ก
- ควรเลือกสถานที่และบรรยากาศประจำในการอ่านหนังสือ รวมถึงกำหนดช่วงเวลาในการอ่านนิทานอย่างน้อย 1 เล่ม ให้เป็นกิจวัตรประจำวัน เพื่อทำให้เด็กคุ้นชินและเพิ่มความสนใจในการอ่านหรือฟังนิทาน
- ควรปิดโทรทัศน์ วิดีโอเกม โทรศัพท์ และสร้างบรรยากาศให้เงียบสงบในระหว่างเล่านิทาน เพื่อไม่ให้มีสิ่งรบกวนและช่วยทำให้เด็กมีสมาธิอยู่กับนิทาน
- ควรให้เด็กนั่งบนตักหรือบริเวณที่สามารถมองเห็นหนังสือนิทานได้อย่างชัดเจน หรือกึ่งนอนกึ่งนั่งอย่างสบายๆ
- ควรใช้น้ำเสียงและอารมณ์ให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง เพื่อดึงดูดให้เด็กสนใจในนิทานมากขึ้น
- ควรให้เด็กมีส่วนร่วมในนิทาน โดยอาจตั้งคำถามระหว่างเล่า เน้นคำที่ต้องการให้เด็กจดจำ หรือให้เด็กชี้รูปภาพตาม เพื่อเพิ่มจิตนาการ สมาธิ การคิดวิเคราะห์และความสนุก
- เมื่อเด็กโตขึ้นและสามารถตัดสินใจเองได้ ควรให้เด็กเลือกหนังสือที่ตัวเองชอบและเล่าให้เด็กฟัง เพราะอาจจะช่วยฝึกให้เด็กกล้าตัดสินใจและอาจช่วยเพิ่มความสนใจในนิทานได้ด้วย
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย