backup og meta

ปากแหว่งเพดานโหว่ อาการ สาเหตุ การรักษา

ปากแหว่งเพดานโหว่ อาการ สาเหตุ การรักษา

ปากแหว่งเพดานโหว่ เป็นความผิดปกติของใบหน้าและช่องปากที่เกิดขึ้นในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งสามารถรับรู้ได้ด้วยการอัลตราซาวด์ ทั้งยังอาจมีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมร่วมด้วย โดยอาจสังเกตได้จากรอยแหว่งของริมฝีปากบนไปจนถึงเหงือก หรือเพดานปากส่วนหน้า อย่างไรก็ตาม ปากแหว่งเพดานโหว่สามารถผ่าตัดแก้ไขและรักษาให้กลับมาใช้งานได้เกือบปกติ 

คำจำกัดความ

ปากแหว่งเพดานโหว่ คืออะไร 

ปากแหว่ง (Cleft Lip) เพดานโหว่ (Cleft Palate) คือ ภาวะที่กระบวนการสร้างของโครงสร้างใบหน้าและช่องปากผิดปกติ และปากแหว่งเพดานโหว่ถือเป็นความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด โดยปากแหว่งเพดานโหว่อาจเกิดขึ้นข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างของปาก เนื่องจากปากและเพดานปากพัฒนาแยกออกจากกัน จึงอาจเป็นไปได้ที่จะเกิดปากแหว่งแต่ไม่มีเพดานโหว่ หรือเพดานโหว่แต่ไม่มีปากแหว่ง หรืออาจพบทั้ง 2 อย่างร่วมกัน  

ปากแหว่งเพดานโหว่พบได้บ่อยแค่ไหน

ในประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่ โดยอัตราประมาณ 1-2 คน ต่อ 1,000 คน พบมากที่สุดบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 700-800 คน/ปี

อาการ

อาการปากแหว่งเพดานโหว่ 

ปากแหว่งเพดานโหว่อาจมีอาการดังนี้ 

  • รอยแหว่งที่ริมฝีปากและเพดานปากอาจส่งผลต่อใบหน้าด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง และในบางครั้งจมูกอาจมีภาวะปกติร่วมด้วย
  • รอยแหว่งที่เพดานปาก หรือรอยโหว่ที่เพดานอ่อนในปากที่ไม่ส่งผลต่อรูปลักษณ์ของใบหน้า
  • รอยแหว่งที่ริมฝีปากเล็กน้อย 

นอกจากนี้ ปากแหว่งเพดานโหว่อาจมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ดังนี้

  • ปัญหาการรับประทาน เด็กที่มีอาการปากแหว่งเพดานโหว่อาจไม่สามารถดูดนมแม่หรือขวดนมแบบตามปกติได้ อาจมีอาการสำลักนมได้ง่าย เนื่องจากอาจขึ้นจมูกได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการออกแบบจุกนมและขวดนมพิเศษสำหรับเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ เพื่อช่วยให้รับประทานอาหารได้อย่างเหมาะสมและได้รับสารอาหารที่เพียงพอจนกว่าจะได้เข้ารับการผ่าตัด
  • ปัญหาด้านการพูด หากยังไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้พูดไม่ชัด เสียงอาจจะขึ้นจมูก ทำให้ยากต่อการสื่อสาร ควรรีบผ่าตัดแก้ไขก่อนที่เด็กจะเริ่มพูด
  • ปัญหาด้านการได้ยิน อาจมีความเสี่ยงในการติดเชื้อที่หูชั้นกลางหรือหูน้ำหนวก และหากไม่ได้รับการรักษาอาจสูญเสียการได้ยินได้ เด็กที่ปากแหว่งเพดานโหว่อาจจะต้องใส่ท่อที่บริเวณแก้วหูเพื่อระบายของเหลว และควรตรวจสอบการได้ยินปีละครั้ง
  • ปัญหาด้านทันตกรรม ฟันอาจขึ้นผิดตำแหน่ง ฟันซ้อนซึ่งอาจทำให้มีความเสี่ยงสูงที่ฟันจะผุได้ง่ายกว่าปกติ รวมไปถึงอาจจะต้องจัดฟันเพื่อให้ฟันเรียงตัวกันอย่างปกติ  

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด 

ปากแหว่งเพดานโหว่มักสังเกตเห็นตั้งแต่แรกเกิด และคุณหมออาจเริ่มประสานการดูแลตั้งแต่ช่วงเวลานั้น ทั้งทันตแพทย์และคุณหมอผ่าตัด  

สาเหตุ

สาเหตุของปากแหว่งเพดานโหว่ 

ปากแหว่งเพดานโหว่เกิดจากสาเหตุเนื้อเยื่อในใบหน้าและปากของทารกไม่ประสานกันอย่างปกติ ซึ่งปกติแล้วเนื้อเยื่อที่ประกอบเป็นริมฝีปากและเพดานปากจะหลอมรวมเข้าด้วยกันภายในเดือน 2-3 ของพัฒนาการทารกในครรภ์ แต่ทั้งนี้ ยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดปากแหว่งเพดานโหว่ อาจมีความผิดปกติในโรคทางพันธุกรรม และกลุ่มอาการทางโรคพันธุกรรม

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของปากแหว่งเพดานโหว่ 

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเพิ่มโอกาสให้ทารกมีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ได้แก่ 

  • พันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติโรคปากแหว่งเพดานโหว่
  • สูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
  • รับประทานยาบางชนิด เช่น สเตียรอยด์ ยากันชัก
  • ขาดกรดโฟลิกระหว่างตั้งครรภ์
  • ปัญหาด้านสุขภาพ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยปากแหว่งเพดานโหว่

ปากแหว่งเพดานโหว่อาจสามารถวินิจฉัยได้ดังนี้ 

  • การตรวจอัลตราซาวด์ ด้วยการใช้คลื่นเสียงจำลองภาพทารกในครรภ์ระหว่างการตั้งครรภ์ช่วง 18-21 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม การตรวจด้วยวิธีอัลตราซาวด์ อาจไม่สามารถบ่งชี้ได้แน่ชัดในขณะนั้นว่าทารกมีอาการของปากแหว่งเพดานโหว่หรือไม่ 
  • การตรวจร่างกายทารก มักจะได้รับการวินิจฉัยทันทีหลังคลอด โดยคุณหมอจะทำการตรวจสอบใบหน้าและช่องปากว่ามีความผิดปกติใดหรือไม่ ร่วมกับอาจมีภาวะผิดปกติในด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย

การรักษาปากแหว่งเพดานโหว่ 

การรักษาเด็กปากแหว่งเพดานโหว่อาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะของอาการที่เป็น โดยการรักษามีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กสามารถรับประทานอาหาร ดูดนม สื่อสารและได้ยินได้ตามปกติ เด็กปากแหว่งเพดานโหว่ควรได้รับการรักษาตั้งแต่แรกเริ่มในแต่ละช่วงวัย โดยการผ่าตัดมักดำเนินตามขั้นตอนดังนี้ 

  • การผ่าตัดปากแหว่ง ภายในอายุ 3-6 เดือน โดยศัลยแพทย์จะทำการกรีดบริเวณปากแหว่งทั้ง 2 ข้างและสร้างแผ่นเนื้อเยื่อ จากนั้นเย็บให้เข้ากัน
  • การผ่าตัดเพดานโหว่ ภายในอายุประมาณ 12 เดือนหรืออาจเร็วกว่านั้น อาจใช้วิธีการปิดรอยแยกและสร้างเพดานปากขึ้นมาใหม่ รวมถึงอาจใส่ท่อที่บริเวณแก้วหูเพื่อระบายของเหลว
  • การผ่าตัดติดตามผล ระหว่างอายุ 2 ปีจนถึงวัยรุ่นตอนปลาย อาจต้องทำการผ่าตัดเพิ่มเติม เพื่อปรับรูปลักษณ์ของปาก ริมฝีปาก และจมูก

นอกจากนี้ ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่อาจต้องมีการจัดฟัน เนื่องจากฟันอาจจะขึ้นซ้อนกัน ทำให้ฟันเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ ทั้งนี้ ยังอาจต้องพบนักจิตวิทยา เพื่อช่วยให้เด็กรับมือกับความเครียดจากการทำหัตถการทางการแพทย์บ่อย ๆ รวมถึงอาจช่วยบรรเทาข้อกังวลอื่น ๆ และช่วยบรรเทาความกังวลให้กับคุณพ่อคุณแม่

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง 

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง 

แม้ว่าในหลายกรณีปากแหว่งเพดานโหว่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่วิธีการดังต่อไปนี้อาจช่วยลดความเสี่ยงทารกเป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่งได้ 

  • ปรึกษาคุณหมอ หากครอบครัวมีประวัติเป็นปากแหว่งเพดานโหว่ ควรแจ้งให้คุณหมอทราบ เพื่อการวางแผนการตั้งครรภ์และตรวจสอบความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจากที่ปรึกษาทางด้านพันธุกรรมโดยเฉพาะ 
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด การใช้ยาต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดข้อบกพร่องหรือความผิดปกติของทารกในครรภ์ 
  • รับประทานวิตามิน เช่น กรดโฟลิก แคลเซียม รวมถึงรับประทานอาหารที่มีคุณประโยชน์และมีสารอาหารตามโภชนาการ 

[embed-health-tool-vaccination-tool]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

โรคปากแหว่งเพดานโหว่. https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B9%88/. Accessed November 26, 2021

Cleft lip and cleft palate. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cleft-palate/symptoms-causes/syc-20370985. Accessed November 26, 2021

Cleft Lip and Cleft Palate. https://www.webmd.com/oral-health/cleft-lip-cleft-palate. Accessed November 26, 2021

Cleft lip and palate. https://www.nhs.uk/conditions/cleft-lip-and-palate/. Accessed November 26, 2021

Facts about Cleft Lip and Cleft Palate. https://www.cdc.gov/ncbddd/birthdefects/cleftlip.html. Accessed November 26, 2021

เวอร์ชันปัจจุบัน

20/04/2022

เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

โรคหลอดเลือดหัวใจเกิน สาเหตุ อาการ และการรักษา

ทารกกินน้ำผึ้ง เป็นอันตรายอย่างไร


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย นนทกร บัณฑิตสินทรัพย์ · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา