การฆ่าตัวตายในวัยรุ่น ไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยผ่านไปได้เพราะหนึ่งชีวิตมีความสำคัญ และพฤติกรรมการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นสามารถเกิดขึ้นได้กับวัยรุ่นทุกคน ดังนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญและใส่ใจปัญหาที่ลูกของคุณอาจกำลังเผชิญอยู่ เพื่อให้ง่ายต่อการปกป้องลูกคุณจากการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น ลองมาอ่านบทความนี้แล้วคุณจะรู้ว่าวัยรุ่นกำลังเผชิญกับอะไรอยู่
อะไรที่ทำให้เสี่ยงต่อ การฆ่าตัวตายในวัยรุ่น
อาจเป็นเรื่องยากที่จะทำความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดบางอย่างของวัยรุ่นที่กำลังประสบปัญหามีพฤติกรรมฆ่าตัวตาย ซึ่งวัยรุ่นอาจกำลังเผชิญกับความเครียด ความกังวลหรือความกดดันจากรอบตัว อีกทั้งช่วงวัยรุ่นยังเป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ต้องการความเป็นอิสระที่มักขัดแย้งกับกฎเกณฑ์และความคาดหวังจากคนในครอบครัวและคนรอบข้าง
วัยรุ่นที่มีปัญหาสุขภาพจิต เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ หรืออาการนอนไม่หลับ มีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น และยิ่งวัยรุ่นที่มีความกดดันจากปัญหาในชีวิต เช่น พ่อแม่หย่าร้าง หรือถูกกลั่นแกล้ง ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงขึ้นไปอีก หรืออาจจะเป็นเรื่องอื่น ๆ เช่น
- ความผิดปกติทางจิตใจ โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาเสพติด
- ความรู้สึกหงุดหงิดกับเรื่องต่าง ๆ
- ความรู้สึกสิ้นหวังและไรค่าที่มาพร้อมกับภาวะซึมเศร้า
- เคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว
- ประวัติครอบครัวเคยเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีพฤติกรรมฆ่าตัวตาย
- การถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดนทารุณกรรม ใช้ความรุนแรง หรือการกลั่นแกล้ง
- มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างครอบครัว เพื่อนและสังคม
- เกิดความผิดปกติจากการใช้สารเสพติด
- สามารถเข้าถึงวิธีการฆ่าตัวตายได้ เช่น อาวุธปืน หรือยาต่าง ๆ
- มีปัญหาทางร่างกายอาจด้วยโรคร้ายหรือพิการทางร่างกาย
- เด็กที่เป็นลูกบุญธรรม
- กลุ่มเพศ LGBTQ ที่โดนต่อต้านจากครอบครัวและสังคม
สัญญาณเตือน การฆ่าตัวตายในวัยรุ่น
การฆ่าตัวตายในวัยรุ่นมักเกิดได้จากหลายสาเหตุข้างต้น โดยอาจมีสัญญาณอาการ ดังนี้
- พูดถึงการตายหรือการฆ่าตัวตายบ่อยครั้ง
- อาจส่งสัญญาณบอกใบ้ว่าจะไม่อยู่แล้ว
- พูดถึงความรู้สึกสิ้นหวังหรือรูสึกผิด
- ออกห่างจากครอบครัวและสังคมเพื่อน
- อาจเขียนจดหมายเกี่ยวกับเรื่องความตาย
- เริ่มแจกหรือมอบสิ่งของแทนใจให้คนในครอบครัว
- หมดความชื่นชอบในสิ่งที่เป็นงานอดิเรก
- เหม่อลอย มีปัญหาทางความคิด
- พฤติกรรมการกิน การนอนเปลี่ยนแปลงไป
- เข้าไปมีส่วนร่วมในพฤติกรรมเสี่ยง
- ไม่อยากออกไปไหนหรือทำอะไร เช่น การไปโรงเรียน เล่นกีฬา
การป้องกัน ปัญหาการฆ่าตัวตายในวัยรุ่น
พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถมีส่วนในการช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นได้ ดังนี้
พูดคุยกับบุตรหลานเกี่ยวกับสุขภาพจิต
หากวัยรุ่นมีอาการเศร้า วิตกกังวล ซึมเศร้า อย่านิ่งนอนใจและอย่างรอให้พวกเขาเข้ามาขอคำปรึกษาจากคุณ แต่ผู้ปกครองควรเป็นฝ่ายเข้าไปถามเรื่องสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นและอยู่เคียงข้าง
ใส่ใจ
เมื่อวัยรุ่นกำลังคิดฆ่าตัวตายพวกเขามักมีสัญญาณบอกเสมอ ดังนั้นคุณจำเป็นต้องใส่ใจลูกหลานเพื่อป้องกันเรื่องร้ายที่จะตามมา
ไม่ให้วัยรุ่นแยกตัวอยู่คนเดียว
พยายามให้วัยรุ่นมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมทั้งในครอบครัวและกลุ่มเพื่อน นอกจากจะทำให้วัยรุ่นไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและขาดที่พึ่งแล้ว ครอบครัวและกลุ่มเพื่อนยังสามารถใช้โอกาสนี้ในการคอยสังเกตความผิดปกติหรือปัญหาสุขภาพจิตในวัยรุ่นได้อีกด้วย
คอยสังเกตการใช้โซเชียลมีเดีย
พยายามสังเกตการเข้าใช้งานโซเชียลของวัยรุ่น เพราะโซเชียลอาจเป็นแหล่งที่ทำให้พวกเขาถูกกลั่นแกล้ง เกิดความกดดันจากรอบข้าง และสังเกตหากบุตรหลานของคุณโพสต์ข้อความทางลบลงในโซเชียล ให้คุณเข้าไปพูดคุยเพื่อแนะนำแนวทางหรือแสดงความห่วงใยกับสิ่งเหล่านั้น
ส่งเสริมสุขภาพ
ส่งเสริมให้วัยรุ่นออกกำลังกาย กินอาหารที่มีคุณประโยชน์ และนอนหลับให้เพียงพอ เพราะสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง จะส่งผลดีต่อสุขภาพจิต ช่วยลดโอกาสในการฆ่าตัวตายของวัยรุ่นได้อีกด้วย
หาทางรักษา
หากวัยรุ่นจำเป็นต้องเข้าบำบัดพฤติกรรมฆ่าตัวตาย พ่อแม่ผู้ปกครองควรมีส่วนร่วมในการช่วยให้วัยรุ่นปฏิบัติตามแผนการรักษา รวมถึงทำความเข้าใจ และคอยให้กำลังใจ เพื่อช่วยให้ลูกสามารถก้าวผ่านปัญหาไปได้
เก็บอาวุธไว้ในที่ปลอดภัย
ผู้ปกครองควรเก็บอาวุธ ปืน ยา แอลกอฮอล์ หรืออื่น ๆ ที่เป็นอันตรายไว้ในที่ปลอดภัย เพราะสิ่งเหล่านี้อาจเป็นเครื่องมือในการฆ่าตัวตายในวัยรุ่นได้
[embed-health-tool-bmi]