backup og meta

ลูกสมาธิสั้น สัญญาณเตือน และวิธีรับมือ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 14/12/2022

    ลูกสมาธิสั้น สัญญาณเตือน และวิธีรับมือ

    บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่อาจไม่แน่ใจว่า ลูกสมาธิสั้น แค่ชั่วคราวตามประสาเด็กวัยซน ลูกเป็นโรคสมาธิสั้น ทำให้อาจละเลยการดูแลที่เหมาะสม จนส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ ดังนั้น การสังเกตอาการหรือสัญญาณเตือนของโรคสมาธิสั้นในเด็ก จึงอาจเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตอาการเบื้องต้นได้ หากพบว่าลูกมีอาการเข้าข่ายโรคสมาธิสั้น ควรปรึกษาคุณหมอทันที เพราะโรคนี้ยิ่งรักษาเร็วเท่าไหร่ ก็อาจยิ่งช่วยให้ลูกมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น

    ลูกสมาธิสั้น เป็นอย่างไร

    โรคสมาธิสั้น หรือ  ADHD (Attention deficit hyperactivity disorder) เป็นโรคที่พบได้ในเด็กวัย 2-17 ปี ซึ่งอาการของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป เช่น ขาดสมาธิ ไม่มีความอดทน ขาดความสนใจ อยู่นิ่งไม่ได้ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่สามารถเป็นโรคสมาธิสั้นได้ แต่อาการมักจะเกิดขึ้นตั้งแต่ตอนที่เป็นเด็ก เด็ก ๆ ที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะมีปัญหา คือ ไม่สามารถอยู่นิ่งได้ ไม่สามารถทำตามคำสั่ง และทำการบ้านหรืองานที่ได้รับมอบหมายจากโรงเรียนไม่เสร็จ

    อาการของ ลูกสมาธิสั้น

    เมื่อลูกสมาธิสั้นอาจทำให้มีอาการหลัก ๆ 3 ด้าน คือ อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น และไม่มีสมาธิ ดังนี้

    อยู่ไม่นิ่ง ซน

    • พูดไม่หยุด พูดไปเรื่อย ๆ
    • เล่นแรง เล่นได้ไม่เหนื่อย
    • นั่งไม่ติดที่ ชอบเดินไปเดินมา
    • ชอบวิ่ง ไม่เดิน
    • กระสับกระส่าย
    • มืออยู่ไม่สุข
    • อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องขยับตลอด

    หุนหันพลันแล่น

    • อดทนรอไม่ได้ ไม่ชอบรออะไรที่ช้า ๆ
    • คิดอะไรจะทำทันที
    • พูดสวน พูดเถียง
    • ตอบก่อนผู้ถามจะถามจบ
    • รอคอยไม่ได้

    ไม่มีสมาธิ

    • ขี้ลืม
    • ทำงานไม่เสร็จ
    • อยู่กับอะไรนาน ๆ ไม่ได้
    • วอกแวกง่าย อะไรผ่านก็หันไปมอง
    • เปลี่ยนกิจกรรมบ่อยๆ
    • ทำงานตกหล่น สะเพร่า
    • เหม่อลอย
    • ทำของหายบ่อย ๆ

    ลูกสมาธิสั้น จะรู้ได้อย่างไร

    อาการสมาธิสั้นในเด็กแต่ละคนจะแตกต่างกันไป บางครั้งคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้นก็อาจจะไม่ใช่ก็ได้ แค่เป็นการซุกซนตามวัย เพราะเด็กส่วนใหญ่จะไม่สามารถมีสมาธิ จดจ่อกับอะไรนาน ๆ ได้เหมือนวัยผู้ใหญ่อยู่แล้ว นอกจากนี้ อาการสมาธิสั้นยังเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ การที่จะรู้ได้ว่าลูกเป็นโรคสมาธิสั้นหรือเปล่าจึงต้องปรึกษาคุณหมอ โดยคุณหมอจะซักถามประวัติของลูก หรืออาจมีการตรวจร่างกายเพื่อการวินิจฉัยและรับการรักษาต่อไป

    วิธีพูดกับลูกเรื่องโรคสมาธิสั้น

    แพทริเซีย คอลลินส์ ผู้อำนวยการสถาบัน Psychoeducational Clinic มหาวิทยาลัยแห่งรัฐนอร์ธแคโรไลนา ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำเทคนิคการพูดคุยเพื่อให้ลูกเข้าใจโรคสมาธิสั้น ดังนี้

    1. ทำให้ลูกรู้สึกว่าเขาได้รับการยอมรับ

    คุณพ่อคุณแม่ควรทำให้ลูกเข้าใจว่า โรคสมาธิสั้นไม่ได้ส่งผลต่อความฉลาดหรือความสามารถของเด็ก การรักษาโรคสมาธิสั้นนั้นเปรียบได้เหมือนกับการใส่แว่นตา ที่ถ้าลูกสายตาสั้นก็ใส่แว่นเพื่อให้เห็นชัดขึ้น โรคสมาธิสั้นก็เช่นกัน การไปพบคุณหมอก็จะทำให้สมองของลูกปรับโฟกัสได้ดีขึ้น ซึ่งทำให้สมาธิดีขึ้นนั่นเอง

    1. ทำให้ลูกรู้ว่าสมาธิสั้นก็ประสบความสำเร็จได้

    ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนที่มีอาการของโรคสมาธิสั้นสามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ คุณพ่อคุณแม่อาจลองยกตัวอย่างคนที่เป็น ADHD แต่ประสบความสำเร็จในชีวิต

    1. อย่าคาดหวังว่าเขาจะเข้าใจในทันที

    เด็ก ๆ ต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ ๆ ในชีวิต การที่คุณพ่อคุณแม่จะทำให้เขาเข้าใจโรคสมาธิสั้นอาจต้องใช้เวลา ดังนั้น จึงไม่ควรคาดหวังว่าลูกจะสามารถเข้าใจในทันที คุณพ่อคุณแม่ควรให้เวลาสักระยะหนึ่ง ถ้าเกิดลูกเริ่มถามคำถามเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นก็เป็นสัญญาณที่ดีว่าเขาเริ่มสนใจที่จะอยากคุยเรื่องนี้แล้ว

    1. เรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นในเด็กให้มาก

    โรคสมาธิสั้นในเด็กเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากในเด็ก ๆ ทั่วโลก อย่างในสหรัฐอเมริกาก็พบว่าเด็กในวัย 2-17 ปีเป็นโรคสมาธิสั้นถึง 6.1 ล้านคน ดังนั้น จึงมีข้อมูลเกี่ยวกับอาการโรคสมาธิสั้น (ADHD) มากมาย คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอ หรือพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นโรคสมาธิสั้นเหมือนกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล

    1. อย่าโฟกัสแต่แง่ลบ

    การมองแต่ปัญหา บางครั้งทำให้ลืมไปว่าลูกอาจมีความสามารถทางด้านกีฬา ศิลปะ หรือกิจกรรมอื่น ๆ ลองมองหากิจกรรมที่เด็กทำได้ดีและสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะอาจดีกว่าเอาแต่คิดว่าลูกไม่มีสมาธิ ลูกทำไม่ได้ ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีต่อลูกเลย

    1. อย่าปล่อยให้ลูกใช้โรคสมาธิสั้นเป็นข้ออ้างในการทำสิ่งต่าง ๆ

    คุณพ่อคุณแม่ต้องทำให้ลูกเข้าใจว่าการเป็นโรคสมาธิสั้น ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการไม่ทำสิ่งต่าง ๆ ได้ เช่น ลูกไม่ส่งการบ้าน แล้วอ้างว่าเพราะตัวเองสมาธิสั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ปล่อยให้ลูกเอามาเป็นข้ออ้างในการเลิกทำสิ่งต่าง ๆ หรือยอมแพ้ที่จะทำอะไรบางอย่าง เพราะจะเป็นการปลูกฝังนิสัยไม่มีความรับผิดชอบให้ลูกได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


    เขียนโดย Sopista Kongchon · แก้ไขล่าสุด 14/12/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา