ท่อน้ำตาอุดตัน ทารก อาจเกิดขึ้นจากปัญหาด้านพัฒนาการของท่อน้ำตา ความผิดปกติของกระดูกจมูก หรือการติดเชื้อในบริเวณใกล้เคียง เช่น จมูกติดเชื้อ เยื่อบุตาอักเสบ ทำให้มีน้ำตาไหลมาก แสบระคายเคืองตา และอาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็น ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตพบอาการดังกล่าว ควรพาลูกเข้ารับการรักษาในทันที
[embed-health-tool-vaccination-tool]
การสร้างน้ำตา
ดวงตาเคลือบด้วยน้ำตา (tear film) ที่มีอยู่ 3 ชั้น เพื่อเป็นการชะล้างฝุ่นละอองและเศษผงต่าง ๆ โดยแต่ละชั้น มีดังนี้
- ชั้นนอกสุด เป็นชั้นไขมัน (lipid) ที่สร้างมาจากต่อมไขมันมัยโบเมียน (meibomian glands) ซึ่งอยู่บริเวณหนังตา
- ชั้นกลาง เป็นน้ำที่สร้างมาจากต่อมน้ำตา (lacrimal gland) ซึ่งอยู่ในบริเวณด้านบนของดวงตาทั้งสองข้าง
- ชั้นสุดท้าย หรือชั้นในสุด เป็นเมือกซึ่งบำรุงกระจกตาและหล่อเลี้ยงพื้นผิวดวงตาด้วยน้ำตา เมื่อกะพริบตา หนังตาจะกระจายน้ำตาไปทั่วผิวตา
ในภาวะปกติ น้ำตามีการระบายลงผ่านทางรูเปิดของท่อน้ำตา (puncta และ canaliculi) ซึ่งอยู่บริเวณเปลือกตาด้านหัวตาทั้งบนและล่าง จากนั้นจะต่อไปยังถุงน้ำตา (tear sac) แล้วค่อยไหลผ่านช่องที่เรียกว่า ท่อน้ำตา (tear duct หรือ nasolacrimal duct) ไปเปิดในช่องจมูกและลงคอไป หากน้ำตาไม่สามารถระบายออกได้ทางระบบท่อดังกล่าว ผู้ป่วยอาจมีภาวะท่อน้ำตาอุดตัน ถึงแม้ว่าภาวะดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ แต่ก็พบได้บ่อยที่สุดในทารกแรกคลอด
สาเหตุของ ท่อน้ำตาอุดตัน ใน ทารก
- สาเหตุที่พบได้มากที่สุด คือ พัฒนาการตามปกติและการเปิดออกของท่อน้ำตาที่ช้าลง เนื่องจากทารกแรกเกิดจำนวน 1 ใน 20 รายมีท่อน้ำตาที่เนื้อเยื่อยังไม่สามารถเปิดออกได้
- กระดูกจมูกที่ผิดตำแหน่งหรือโค้งงอ (ซึ่งพบได้น้อย) ทำให้ท่อน้ำตาไม่สามารถเปิดออกได้
- การติดเชื้อต่าง ๆ เช่น เยื่อบุตาอักเสบ (conjunctivitis) หรือจมูกติดเชื้อ (nose infection) เรื้อรัง
- ระบบท่อน้ำตาที่ตีบตัน
ภาวะท่อน้ำตาอุดตันในทารก ก่อให้เกิดอาการอย่างไร
โดยทั่วไป ทารกมักเริ่มมีอาการภายใน 1 เดือนหลังคลอด อาการเหล่านั้น ได้แก่
- มีตาแฉะหรือน้ำตาไหลมาก
- มีหนองสีเหลืองหรือสีขาวที่มุมของดวงตา ตาติดกัน ลืมตายาก
- มีเมือกแห้งและแข็งตามแนวขนตา
- รอบดวงตาหรือจมูกเป็นสีแดงเรื่อและมีอาการบวม
การรักษา ท่อน้ำตาอุดตัน ทารก
ภาวะท่อน้ำตาอุดตันในทารก สามารถหายไปได้เอง ราวร้อยละ 90 จะหายภายในอายุ 1 ปี อย่างไรก็ดี การดูแลรักษาเพื่อให้หาย และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน สามารถทำได้ ดังนี้
- ทำความสะอาดดวงตาเบา ๆ ด้วยสำลีก้อนหรือผ้าสำหรับเช็ดที่นุ่มและอุ่นให้สะอาด เมื่อมีคราบขี้ตาติดอยู่บริเวณหนังตา
- นวดถุงน้ำตา หลังจากล้างมือให้สะอาด ผู้ปกครองใช้นิ้วแรงกดบริเวณหัวตา (มุมตาด้านใน) เพื่อรีดน้ำตาที่สะสมอยู่ในถุง
- ยาปฏิชีวนะหยอดตา (antibiotic eye drop) ใช้เมื่อมีการมีการติดเชื้อ คือมีขี้ตา หรือหนองสีเหลือง
- ล้างมือให้สะอาดเสมอ ทั้งก่อนและหลังสัมผัสบริเวณดวงตา
หากเด็กอายุ 1 ขวบแล้ว ภาวะท่อน้ำตาอุดตันยังไม่หาย คุณหมออาจแนะนำให้รักษาด้วยการแยงท่อน้ำตา ซึ่งส่วนมากจะทำโดยการดมยาสลบ ดังนั้น หากบุตรหลานของท่านมีภาวะนี้ ควรพยายามนวดหัวตาตามที่คุณหมอแนะนำ จะได้ไม่ต้องถึงขั้นรักษาด้วยการแยงท่อน้ำตา