backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

ลูกฟันผุ สาเหตุ และวิธีรักษาที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 09/11/2022

ลูกฟันผุ สาเหตุ และวิธีรักษาที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้

ภาวะฝันผุเกิดได้ทั้งกับเด็กและผู้ใหญ่ แต่อาจพบในเด็กได้มากกว่า เนื่องจากเด็กอาจมีพฤติกรรมในการรับประทานอาหารที่เสี่ยงเกิดฟันผุ เช่น ชอบกินขนมหวาน ชอบกินลูกอม ทั้งยังอาจดูแลและทำความสะอาดภายในช่องปากได้ไม่ดีนัก หากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ ลูกฟันผุ ไม่พาไปรักษาอย่างทันท่วงที อาจส่งผลให้เกิดภาวะสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้ โดยเฉพาะหากฟันแท้ผุ อย่างไรก็ตาม การรับรู้สาเหตุและวิธีการรักษาฝันผุที่เหมาะสม อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะฟันผุในเด็กได้

ลูกฟันผุ เกิดจากอะไร

ฟันผุ คือ ภาวะที่เคลือบฟัน (Enamel) ซึ่งเป็นส่วนที่แข็งที่สุดและเป็นชั้นนอกสุดของฟันถูกทำลาย เนื่องจากมีแบคทีเรียเกาะอยู่บนผิวฟัน แล้วสร้างกรดแลคติกออกมาทำลายแร่ธาตุบนเคลือบฟัน จนทำให้เกิดจุดขาว จุดน้ำตาล หรือจุดสีดำบนฟัน ฟันไวต่อความร้อนหรือความเย็น มีกลิ่นปาก หรือหากฟันผุรุนแรง อาจทำให้ฟันเป็นโพรงขนาดใหญ่ ซึ่งหากปล่อยให้ลูกฟันผุไปถึงโพรงประสาทฟัน อาจทำให้เนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันติดเชื้อและอักเสบจนต้องถอนฟัน และอาจส่งผลให้เกิดภาวะสุขภาพรุนแรงขึ้น เช่น โรคเหงือกอักเสบ การติดเชื้อในกระแสเลือด จนเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

สาเหตุของภาวะฟันผุในเด็กที่พบได้บ่อย เช่น การรับประทานอาหารน้ำตาลสูงอย่างลูกอม ขนมหวาน น้ำอัดลม แล้วไม่แปรงฟัน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยดังต่อไปนี้ ก็อาจทำให้ลูกฟันผุได้เช่นกัน

  • สุขอนามัยในการดูแลฟันไม่ดี
  • ปากแห้ง
  • มีร่องหรือรอยแยกเกิดขึ้นบนฟัน
  • ขาดฟลูออไรด์
  • การหลับคาขวดนมตั้งแต่อายุยังน้อย

อาหารที่อาจทำให้ ลูกฟันผุ

อาหารและเครื่องดื่มที่อาจทำให้ลูกเสี่ยงฟันผุได้ อาจมีดังนี้

ลูกอม

ลูกอมส่วนมากมีน้ำตาลหรือสารให้ความหวานเป็นส่วนประกอบหลัก หากรับประทานมากเกินไป หรือรับประทานแล้วไม่แปรงฟันให้ดี อาจทำให้มีน้ำตาลสะสมที่ฟัน ซึ่งน้ำตาลเป็นอาหารของแบคทีเรียที่อาจทำให้ฟันผุได้ นอกจากนี้ ลูกอมยังอาจทำให้ฟันบิ่นหรือหักได้ด้วย

น้ำแข็ง

แม้น้ำแข็งจะไม่มีน้ำตาลและสารปรุงแต่งอื่น ๆ ที่เป็นผลเสียต่อฟันเป็นส่วนประกอบ แต่การเคี้ยวน้ำแข็งบ่อย ๆ อาจทำลายเคลือบฟัน ทำให้ฟันอ่อนแอ จนเกิดฟันผุได้ง่าย อีกทั้งยังอาจทำให้ฟันหักหรือบิ่นได้เช่นเดียวกับการรับประทานลูกอม

ส้ม

แม้ส้มจะมีวิตามินซีที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่การรับประทานส้มหรือผลไม้รสเปรี้ยวชนิดอื่นบ่อย ๆ แล้วไม่ดื่มน้ำตาม หรือไม่แปรงฟัน ก็อาจทำให้เคลือบฟันถูกกรดจากส้มหรือผลไม้รสเปรี้ยวกัดกร่อนจนบางหรืออ่อนแอลง และเสี่ยงเกิดฟันผุได้ง่ายขึ้น

อาหารที่เหนียวหรือหนืดจัด

อาหารที่มีลักษณะเหนียวหรือหนืด เช่น ผลไม้แห้ง ผลไม้เคลือบน้ำตาล อาจส่งผลเสียต่อฟัน และเสี่ยงทำให้ลูกฟันผุได้ เนื่องจากอาหารเหนียวหนืดมักจะติดอยู่บนฟันได้นานกว่า แค่การบ้วนปากอาจขจัดคราบเหนียวออกได้ไม่หมด ทางที่ดี ควรแปรงและใช้ไหมขัดฟันหลังรับประทานอาหารเหนียวหรือหนืด เพื่อป้องกันฟันผุ

มันฝรั่งทอด

มันฝรั่งทอดอุดมไปด้วยแป้งหรือคาร์โบไฮเดรตซึ่งมักติดอยู่ตามซอกฟันหลังรับประทาน จึงควรทำความสะอาดภายในช่องปากและฟันให้ดี ด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธีและใช้ไหมขัดฟัน เพื่อกำจัดเศษมันฝรั่งทอด และเศษอาหารอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดคราบจุลินทรีย์หรือคราบพลัคบนฟัน และทำให้ฟันผุได้

น้ำอัดลม

ในน้ำอัดลมมักมีน้ำตาลเป็นส่วนผสม หากดื่มมากไปและไม่ทำความสะอาดภายในช่องปากให้ดี อาจเกิดคราบจุลินทรีย์หรือคราบพลัค นอกจากนี้ กรดที่อยู่ในน้ำอัดลม ก็สามารถทำลายเคลือบฟันจนอ่อนแอและเสี่ยงฟันผุได้เช่นกัน

ลูกฟันผุ รักษาได้อย่างไรบ้าง

หากสังเกตเห็นว่าลูกฟันผุ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อให้ทันตแพทย์ตรวจวินิจฉัยโรค โดยอาจต้องพิจารณาลักษณะอาการ ความรุนแรงของอาการ อายุ และสุขภาพโดยรวมของเด็กด้วย ส่วนใหญ่แล้ว วิธีการรักษาฟันผุ คือ การอุดฟัน เพื่อซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดจากฟันผุ แต่หากลูกฟันผุรุนแรง ทันตแพทย์อาจต้องถอนฟัน เพื่อป้องกันเชื้อลุกลามไปยังอวัยวะส่วนอื่น และป้องกันปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงกว่า

อย่างไรก็ตาม การดูแลและฝึกฝนให้ลูกรู้จักการรักษาทำความสะอาดฟันอย่างถูกวิธี เช่น แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร ใช้ไหมขัดฟันหลังแปรงฟัน รวมถึงการให้ลูกรับประทานอาหารที่อาจช่วยบำรุงฟัน เช่น ผักผลไม้ไฟเบอร์สูง นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนมวัว และการพาลูกไปเข้ารับการตรวจสุขภาพฟันอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง หรือตามที่ทันตแพทย์นัด อาจเป็นวิธีป้องกันฟันผุที่ดีที่สุด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

เนตรนภา ปะวะคัง


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 09/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา