วัคซีนสำหรับเด็ก เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ โดยช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้เตรียมพร้อมต่อสู้กับเชื้อก่อโรคต่าง ๆ เช่น โรคโปลิโอ โรคคอตีบ โรคหัด ที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ หากลูกน้อยได้รับวัคซีนไม่ครบตามที่กำหนดอาจทำให้มีภูมิคุ้มกันต่ำ และเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ง่าย ดังนั้น ผู้ปกครองจึงควรใส่ใจรายละเอียดวัคซีนเด็กแต่ละชนิดและพาลูกน้อยไปรับวัคซีนที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัยอย่างครบถ้วน
[embed-health-tool-vaccination-tool]
วัคซีนสำหรับเด็ก คืออะไร
ในช่วงอายุ 6 เดือนแรก เด็กทารกควรดื่มน้ำนมแม่ เพราะน้ำนมแม่นอกจากจะมีสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุมากกว่า 200 ชนิดแล้ว ยังถือเป็นวัคซีนธรรมชาติที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคต่าง ๆ ได้ด้วย แต่ถึงอย่างนั้น ภูมิคุ้มกันที่ได้จากน้ำนมแม่ก็จะค่อย ๆ หมดไปภายในเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ทารกทั้งที่กินนมแม่และไม่ได้กินนมแม่ต้องได้รับวัคซีนตามช่วงอายุ เพราะวัคซีนเด็กไม่เพียงแค่ป้องกันการเกิดโรค แต่ยังช่วยป้องกันการแพร่เชื้อโรคไปสู่เด็กที่โตกว่าหรือผู้ใหญ่ได้อีกด้วย
วัคซีนทำงานโดยเลียนแบบการติดเชื้อโรคบางชนิดในเด็ก วัคซีนเด็กที่เข้าสู่ร่างกายจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของเด็กพัฒนาอาวุธที่เรียกว่า สารภูมิต้านทาน หรือ แอนติบอดี (Antibody) ขึ้นมา เพื่อต่อสู้กับเชื้อโรคชนิดเดียวกับแต่ละวัคซีนที่เด็กได้รับ ทำให้ร่างกายของเด็กต่อสู้กับการติดเชื้อโรคในอนาคตต่อไปได้
วัคซีนสำหรับเด็ก มีอะไรบ้าง
เด็กควรได้รับวัคซีนตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงอายุ 12 ปี โดยการให้วัคซีนเด็กจะต้องเป็นไปตามแบบแผนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ โดยวัคซีนสำหรับเด็กสามารถแบ่งได้เป็น
วัคซีนพื้นฐาน คือ วัคซีนจำเป็นที่เด็กทุกคนต้องได้รับ ได้แก่
- วัคซีนวัณโรค (BCG)
- วัคซีนตับอักเสบ บี (HBV)
- วัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก–ไอกรน
- วัคซีนโปลิโอชนิดกิน (OPV)
- วัคซีนฮิป (Hib)
- วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR)
- วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี (JE)
วัคซีนเสริม คือ วัคซีนอื่นๆ ที่อาจให้เสริมหรือทดแทน เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานโรคอื่นๆ เช่น
- วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
- วัคซีนเอชพีวี (HPV)
- วัคซีนตับอักเสบ เอ (HAV)
- วัคซีนไข้เลือดออก (Dengue)
- วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส (Varicella)
- วัคซีนโรต้า (Rota) ป้องกันการติดเชื้อโรต้าที่ทำให้ท้องเสีย
- วัคซีนนิวโมคอคคัส ป้องกันเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ
ตารางวัคซีนสำหรับเด็กและสมุดบันทึกสุขภาพ
วัคซีนเด็กนั้นมีหลายชนิด แต่การรับวัคซีนไม่ได้รับทีเดียวพร้อมกันหมดทุกชนิดตั้งแต่แรกเกิด แต่เด็กจะทยอยได้รับวัคซีนแต่ละชนิดไปตามช่วงอายุ โดยเริ่มจากแรกเกิดถึงอายุ 12 ปี จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่จะลืมว่าลูกน้อยต้องรับวัคซีนชนิดใด ตอนอายุเท่าใด หรือได้รับวัคซีนชนิดใด ๆ ไปแล้วบ้าง
เพื่อแก้ปัญหานี้ หน่วยงานทางการแพทย์จึงได้จัดทำตารางการให้วัคซีนและสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กที่ระบุชนิดของวัคซีนและช่วงวัยที่ควรได้รับวัคซีนนั้น ๆ เอาไว้อย่างละเอียด ช่วยให้คุณพ่อคุณแม่ลดความสับสน และตรวจสอบข้อมูลการให้วัคซีนเด็กของลูกน้อยได้อย่างถูกต้อง
เพราะอะไร เด็กจึงควรได้รับวัคซีนให้ครบถ้วน
หากลูกน้อยได้รับวัคซีนเด็กไม่ครบตามที่กำหนด ขาดวัคซีนโรคใดโรคหนึ่งไป จะส่งผลให้เด็กมีภูมิคุ้มกันโรคนั้นๆ ต่ำ และเสี่ยงป่วยเป็นโรคนั้นๆ ได้ง่ายขึ้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรพาลูกไปรับวัคซีนเด็กให้ครบตามกำหนดเสมอ
ดังนั้น การเตรียมความพร้อมในเรื่องของตารางการฉีดวัคซีนหรือการได้รับวัคซีนด้านต่าง ๆ จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ไม่ควรละเลยเด็ดขาด
คำแนะนำสำหรับการพาลูกไปรับวัคซีนสำหรับเด็ก
- คุณพ่อคุณแม่ควรพกสมุดบันทึกสุขภาพไปโรงพยาบาลด้วยทุกครั้ง เพื่อบันทึกการฉีดวัคซีน
- ไม่ควรให้เด็กรับวัคซีนขณะมีไข้ หรือเจ็บป่วยเฉียบพลัน แต่หากเป็นหวัด หรือท้องเสียเล็กน้อยแต่ไม่มีไข้ สามารถรับวัคซีนได้
- หลังรับวัคซีน เด็กบางคนอาจมีรอยบวมหรือแดงรอบ ๆ บริเวณรอยเข็ม
- หลังฉีดวัคซีนควรอยู่โรงพยาบาลต่ออย่างน้อย 30 นาที เพื่อสังเกตอาการแพ้ เช่น มีไข้ งอแง อย่างไรก็ตามเด็กบางคนอาจแสดงอาการแพ้หลังฉีดวัคซีนไปแล้ว 2-3 วัน หากเกิดอาการแพ้รุนแรง ควรรีบไปพบคุณหมอทันที
- หากไม่ได้ไปรับวัคซีนตามอายุที่กำหนด หรือตามวันนัด ควรไปพบคุณหมอเพื่อวางแผนรับวัคซีนใหม่ให้ครบถ้วน