backup og meta

เด็กปวดท้อง ควรทำอย่างไรเพื่อแก้อาการปวดท้อง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 16/08/2023

    เด็กปวดท้อง ควรทำอย่างไรเพื่อแก้อาการปวดท้อง

    อาการ เด็กปวดท้อง อาจพบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะเด็กวัย 4-8 ปี ซึ่งอาการปวดท้องอาจมีสาเหตุมาจากอาหาร ความเครียด และความเจ็บปวด ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้จากการที่ลูกร้องไห้ไม่ยอมหยุด ขวดตัว หรือแสดงอาการเจ็บปวดออกมา ดังนั้น การศึกษาถึงวิธี แก้อาการปวดท้องของลูกน้อย อาจช่วยให้คุณพ่อคุณแม่บรรเทาอาการปวดท้องเบื้อต้นให้ลูกได้ ก่อนที่จะพาลูกไปโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธี

    เด็กปวดท้อง สังเกตได้อย่างไร

    เมื่อ เด็กปวดท้อง สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตได้ คือ ลูกอาจร้องไห้ไม่ยอมหยุด ขดตัว และแสดงอาการเจ็บปวดออกมาอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ อาจมีอาการที่สังเกตได้อย่างชัดเจนว่ากำลังมีอะไรผิดปกติเกิดขึ้น สำหรับเด็กวัยรุ่นอาจมีความลังเลที่จะบอกถึงความเจ็บปวด ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจต้องสังเกตอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ดังนี้

    ระยะเวลาของอาการปวด

    สาเหตุของอาการปวดท้องที่เกิดขึ้นไม่นาน ส่วนใหญ่อาจเกิดจากการมีแก๊สในกระเพาะอาหาร เป็นไข้หวัด หรือมีอาการเกี่ยวกับลำไส้ แต่อาการปวดท้องอาจหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง แต่หากมีอาการปวดท้องนานเกิดกว่า 24 ชั่วโมง ควรพาลูกไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยและประเมินอาการ

    ตำแหน่งของอาการ เด็กปวดท้อง

    โดยปกติแล้ว อาการปวดท้องอาจเกิดขึ้นบริเวณกลางช่องท้อง ซึ่งลูกอาจแสดงอาการออกมาด้วยการถูรอบ ๆ ท้อง แต่หากเกิดอาการปวดบริเวณอื่น ๆ เช่น ปวดบริเวณที่ต่ำกว่ากลางช่องท้องและเยื้องลงมาทางด้านขวาอาจเป็นอาการปวดท้องในรูปแบบอื่น ๆ เช่น ไส้ติ่งอักเสบ ลมในท้องมาก ท้องผูก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอทันที

    สิ่งที่ปรากฏออกมาจากตัวลูก

    เมื่อลูกเกิดอาการเจ็บป่วยมาก ๆ สิ่งที่ควรทำ คือ การพาลุกไปพบคุณหมอ แต่บ่อยครั้งที่คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ดูแลอาจเพิ่งรู้ว่าลูกมีอาการป่วย ดังนั้น หากลูกมีอาการปวดท้อง สิ่งที่อาจจะต้องสังเกต คือ สิ่งที่ปรากฏออกมาจากตัวลูก เช่น ตัวซีด เหงื่อออก ง่วงนอน กระสับกระส่าย รวมถึงการไม่สามารถเบี่ยงเบนความสนใจจากความเจ็บปวดได้ แม้จะมีของเล่นอยู่ตรงหน้า รวมถึงการไม่ยอมกินข้าว กินน้ำ เป็นเวลาหลายชั่วโมง

    อาเจียน

    เมื่อเกิดอาการปวดท้องอาจทำให้ลูกอาเจียนบ่อย ๆ แต่การอาเจียนไม่ได้บ่งบอกถึงปัญหาที่ร้ายแรงเสมอไป อาการอาเจียนอาจหายไปเองเหมือนอาการปวดท้อง แต่ถ้าอาเจียนนานกว่า 24 ชั่วโมง คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบคุณหมอทันที

    โดยคุณพ่อคุณแม่อาจสังเกตจากสีของอาเจียน โดยในทารกและเด็กเล็กสีของอาเจียนส่วนใหญ่จะเป็นสีเขียวหรือสีเหลือง ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าควรพาลูกไปพบคุณหมอ แต่ไม่ว่าในวัยใดก็ตาม ถ้าการอาเจียนออกมาแล้วดูเหมือนมีเลือดหรือสิ่งอื่น ๆ ปนออกมาด้วย ควรพาไปพบคุณหมอทันที เพื่อรักษาอาการที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน

    ท้องเสีย

    ท้องเสียอาจทำให้เกิดอาการปวดท้องร่วมด้วย ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าอาการท้องเสียที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส โดยอาการท้องเสียอาจแสดงอาการไปอีกหลายวัน โดยทั่วไปอาการท้องเสียอาจดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไปประมาณใช้ 72 ชั่วโมง หรือ 3 วัน อย่างไรก็ตาม หากมีเลือดปนออกมากับอุจจาระ ควรพาลูกไปพบคุณหมอทันที

    อาการปวดขาหนีบ

    ปัญหาร้ายแรงที่เด็กผู้ชายอาจจะอธิบายได้ว่า อาการปวดท้องนั้นเกิดขึ้นบริเวณอื่น คือ เมื่อลูกรู้สึกเหมือนลูกอัณฑะถูกบิด ซึ่งในบางครั้งลูกอาจจะอายที่ต้องบอกกับคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจถามลูกว่า มีความเจ็บปวดลงไปตรงบริเวณนั้นหรือไม่ หากลูกมีอาการปวดบริเวณขาหนีบหรือลูกอัณฑะให้รีบไปพาพบคุณหมอทันที

    ปัญหาการปัสสาวะ

    อาการปวดท้องอาจมีความเกี่ยวข้องกับปัญหาการปัสสาวะ เช่น เจ็บปวด ปัสสาวะบ่อย ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ของร่างกายว่ามีการติดเชื้อ ซึ่งควรพาลูกไปพบคุณหมอ

    ผื่น

    ในบางครั้งอาการปวดท้องที่รุนแรงอาจทำให้เกิดผื่นขึ้นตามตัว เมื่อมีทั้งอาการปวดท้องและผื่นขึ้น คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องพาลูกไปพบคุณหมอทันที

    แก้อาการปวดท้องของลูกน้อย ทำได้อย่างไร

    อาการปวดท้องมักพบได้บ่อยในเด็ก โดยเฉพาะเด็กวัย 4-8 ปี โดยสาเหตุที่อาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง ได้แก่ อาหาร ความเครียด และความเจ็บปวด โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถดูแลลูกได้ด้วยวิธีต่าง ๆ เหล่านี้ เพื่อ แก้อาการปวดท้องของลูกน้อย

    1. ให้ลูกกินโยเกิร์ต

    โยเกิร์ตอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาอาหารท้องเสียและอาจช่วยบรรเทาอาการตะคริวที่ท้อง โดยปกติแล้วแบคทีเรียชนิดดีจะอาศัยอยู่ในลำไส้ เพื่อช่วยในการย่อยอาหาร หากในลำไส้ของลูกมีเชื้อไวรัสหรือกำลังมีอาการท้องร่วง แบคทีเรียชนิดดีอาจช่วยขับเชื้อไวรัสออกจากร่างกาย และอาจบรรเทาอาการปวดท้องของลูกได้ นอกจากนี้ แบคทีเรียชนิดดีที่อยู่ในโยเกิร์ตยังอาจช่วยทำให้ระบบการย่อยอาหารกลับมาทำงานได้ปกติ อย่างไรก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตอาการของลูกในเบื้องต้นว่า ลูกแพ้นมวัวหรือแลคโตสในโยเกิร์ตหรือไม่ หากลูกมีอาการแพ้ควรให้ลูกหยุดกินทันที และรีบพาไปพบคุณหมอ

    2. ให้ลูกกินอาหารรสอ่อน

    หากลูกยังมีความอยากอาหาร แม้จะมีอาการปวดท้องร่วมด้วย การให้ลูกกินอาหารรสอ่อนจำนวนเล็กน้อย เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ข้าวโอ๊ตบด โยเกิร์ต อาจช่วยบรรเทาอาการอยากอาหารได้ อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงซอสและ เครื่องปรุงรสต่าง ๆ เช่น ซอสปรุงรส น้ำตาล

    การให้ลูกน้อยกินอาหารรสอ่อนหรือรสจืดอาจทำให้กระเพาะอาหารระคายเคืองน้อยลง และอาหารรสอ่อนยังอาจย่อยได้ง่ายกว่าอาหารรสเผ็ด นอกจากนี้ อาหารเหล่านี้อาจทำให้อาการอาเจียนลดลง และอาจช่วยให้ระบบทางเดินอาหารกลับเข้าสู่การทำงานปกติได้เร็วขึ้น

    3. ดื่มน้ำขิง

    ขิงอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดปฏิกิริยาออกซิเดชันที่เกิดจากสารอนุมูลอิสระ รวมถึงยังอาจช่วยลดอาการคลื่นไส้และไม่สบาย นอกจากนี้ ขิงยังมีคุณสมบัติในการต้านการอักเสบ ช่วยเพิ่มน้ำย่อย และช่วยทำให้กรดในกระเพาะอาหารเป็นกลางได้

    4. ดื่มชาสะระแหน่ (Peppermint)

    ชาสะระแหน่นอกจากจะทำให้รู้สึกสดชื่นแล้ว ยังอาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง เนื่องจาก สะระแหน่อาจช่วยปรับปรุงการไหลเวียนของน้ำดี ซึ่งร่างกายใช้สำหรับการย่อยอาหาร อย่างไรก็ตาม หากลูกปฏิเสธที่จะดื่มชาสะระแหน่ ก็ไม่ควรบังคับให้ดื่ม เพราะอาจทำให้ลูกสำลัก ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากในเด็กเล็ก

    5. ดื่มชาคาโมมายล์

    ชาคาโมมายล์อาจมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ และมีการออกฤทธิ์คล้ายยาระงับประสาท ซึ่งอาจช่วยลดอาการไม่สบายท้องและอาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้ นอกจากนี้ ยังอาจช่วยในการผ่อนคลายกล้ามเนื้อของระบบทางเดินอาหารส่วนบน และลดการหดตัวเมื่อมีอาหารผ่านกระเพาะอาหารและลำไส้เล็ก

    6. วางขวดน้ำร้อนหรือแผ่นความร้อนบนท้อง

    การวางขวดน้ำร้อนหรือแผ่นความร้อนลงบนท้องของลูก อาจช่วยบรรเทาอาการปวดท้องได้ เนื่องจากความร้อนอาจไปเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังผิว ซึ่งอาจช่วยลดการรับรู้ของความเจ็บปวดที่มาจากในช่องท้องได้

    7. นวดบริเวณฝ่าเท้า

    คนเรามีเส้นประสาทหลายพันเส้นอยู่ที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า ซึ่งเส้นประสาทที่อยู่บริเวณตรงกลางของเท้าซ้ายอาจสอดคล้องกับบริเวณท้อง การนวดบริเวณฝ่าเท้าซ้ายของลูกด้วยนิ้วโป้งอาจช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายจากอาการปวดท้องได้

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    พลอย วงษ์วิไล


    เขียนโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย · แก้ไขล่าสุด 16/08/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา