น้ำนมแม่ ได้ชื่อว่าเป็นอาหารที่เหมาะสมกับทารกแรกเกิดมากที่สุด เพราะมีสารอาหารสำคัญหลายชนิดที่ดีต่อพัฒนาของทารก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พัฒนาการของระบบภูมิคุ้มกัน แต่ ประโยชน์ของการให้นมลูก อาจมีมากกว่าประโยชน์ต่อสุขภาพของลูกน้อย เพราะการให้นมลูกอาจส่งผลดีต่อสุขภาพของคุณแม่ด้วยเช่นกัน
10 ประโยชน์ของการให้นมลูก ที่คุณแม่จะได้รับ
1. ลดความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ
สถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกาให้ข้อมูลว่า คุณแม่ที่ให้นมลูกนานกว่า 1 ปี จะลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ 10% เนื่องจากการให้นมลูกจะช่วยทำให้ความดันโลหิตลดลง และช่วยลดคอเลสเตอรอลด้วย ซึ่งทั้งความดันและคลอเรสเตอรอลต่างก็เป็นสาเหตุของโรคหัวใจ ส่วนสาเหตุที่ทำให้การให้นมลูกมีผลต่อโรคหัวใจ ก็เป็นเพราะเวลาที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คุณแม่จะกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ช่วยป้องกันการเป็นโรคหัวใจ
2. ภาวะเลือดออกหลังคลอด
ร่างกายของผู้หญิงจะมีการสร้างเลือดมากขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ เพื่อการเลี้ยงดูทารกในครรภ์ และหลังจากให้กำเนิดทารกแล้ว เลือดนี้จะถูกขับออกมาจากร่างกายเหมือนกับประจำเดือน และมันจะค่อยๆ น้อยลงหลังจากผ่านไปราวหนึ่งสัปดาห์หรือราวๆ นั้น แต่ก็อาจจะใช้เวลาหลายสัปดาห์ก็ได้กว่าจะหยุดโดยสิ้นเชิง (เราเรียกเลือดนี้กันว่า “น้ำคาวปลา”) ถึงแม้เรื่องนี้จะเป็นเรื่องปกติ แต่เราก็สามารถช่วยร่างกายในการกำจัดเลือดนี้ให้หมดไปไวขึ้นได้ และการให้นมลูกก็เป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผลดีในการทำให้น้ำคาวปลาหมดไวขึ้น
และเมื่อคุณแม่มีเลือดออกลดลง ผลดีอีกอย่างที่ได้ก็คือ จะทำให้ระดับพลังงานของคุณแม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเสียเลือดมักทำให้เรารู้สึกอ่อนเพลีย และความอ่อนเพลียก็เป็นเรื่องไม่ดีต่อคุณแม่ เพราะอาจทำให้เกิดอาการซึมเศร้าหลังคลอดลูกได้ การให้นมลูกที่ช่วยลดปริมาณและระยะเวลาของการมีเลือดออก (ในน้ำคาวปลา) จึงถือว่าช่วยให้คุณแม่ไม่อ่อนเพลีย และมีความเสี่ยงต่อปัญหาอื่นๆ ต่ำลงด้วย
3. เบาใจเรื่องโรคเบาหวาน
ประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน เมื่อลูกโตขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้คุณแม่ ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 อีกด้วย เนื่องจากเวลาให้นมลูก คุณแม่จะต้องควบคุมอาหาร ไม่กินน้ำตาลมากจนเกินไป ทำให้ฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายทำงานเป็นปกติ ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน
4. ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านม
การศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงที่ให้นมบุตร มีความเสี่ยงลดลงในการเป็นมะเร็งเต้านม ในช่วงก่อนและหลังหมดประจำเดือน และการให้นมบุตรที่นานกว่าหกเดือน ก็ให้การปกป้องเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่อาจทำให้ผู้หญิงเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งช่วงที่คุณแม่ให้นมลูกนั้น การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน จะทำให้การมีประจำเดือนล่าช้าออกไป จึงลดโอกาสในการเผชิญกับฮอร์โมนเอสโตรเจนของผู้หญิง
นอกเหนือไปจากนี้ ในระหว่างการตั้งครรภ์และให้นมบุตร คุณจะมีการผลัดเซลล์เนื้อเยื่อเต้านม ซึ่งอาจสามารถช่วยขจัดเซลล์ที่มีความเสียหายทางดีเอ็นเออกไป จึงช่วยลดโอกาสในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ด้วยเช่นกัน
5. ลดความเสี่ยงการเป็นโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของกระดูก ผู้หญิงบางคนเป็นโรคกระดูกพรุน เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมและวิตามินดีได้ ส่วนเหตุผลที่การให้นมบุตรทำให้ช่วยลดความเสี่ยงของผู้หญิง เนื่องมาจากตอนที่ให้นมลูกนั้น ผู้หญิงจะได้รับแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอ เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารเวลากินนม จึงส่งผลทำให้สุขภาพกระดูกดีขึ้น และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุนไปด้วยในตัว
6. ลดความเสี่ยงในการเป็นโรครูมาตอยด์
โรครูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) เป็นโรคไขข้อประเภทหนึ่ง ที่สร้างความเจ็บปวดให้ผู้ป่วยอย่างมาก ข้อต่อของผู้ป่วยจะบวมและแข็ง ทำให้ใช้ข้อต่อส่วนนั้นใช้งานไม่ได้ และโรครูมาตอยด์ไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับแขนหรือเข่า แต่สามารถเกิดขึ้นได้ทั่วร่างกาย ซึ่งสร้างความทรมานให้กับผู้ป่วยในการใช้ชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่โรคนี้จะเป็นในผู้หญิง และมีงานวิจัยในประเทศจีน ซึ่งศึกษาผู้หญิงจำนวน 7,000 คน ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ผู้หญิงที่ให้นมลูก มีโอกาสน้อยกว่า 50% ที่จะเป็นโรคเกี่ยวกับข้อต่อเมื่อสูงวัย
7. มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น
แน่นอนว่า หลังจากที่คลอดทารกออกมาแล้ว มดลูกของผู้หญิงก็จะต้องกลับคืนสู่สภาพเดิมก่อนการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะมีการให้นมบุตรหรือไม่ก็ตาม แต่การให้นมบุตรนั้นจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนอ็อกซีโทซิน ที่ช่วยให้มดลูกหดตัวสู่สภาพเดิม หรือที่ชอบเรียกกันว่า “มดลูกเข้าอู่” ได้เร็วขึ้น ส่วนประโยชน์ของการหดตัวของมดลูกอย่างแรกก็คือ ทำให้อวัยวะภายใน อย่างเช่น ลำไส้ กลับไปอยู่ในจุดเดิม ส่งผลให้คุณแม่ไม่มีอาการอาหารไม่ย่อย หรือกรดไหลย้อน เหมือนที่อาจเกิดขึ้นได้ช่วงตั้งครรภ์
8. รูปร่างกลับมาเหมือนเดิมเร็วขึ้น
การหดตัวของมดลูกเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่จะช่วยทำให้รูปร่างกลับมาเหมือนเดิม นอกจากนี้ในขณะให้นมลูก ร่างกายจะเผาผลาญแคลอรี่มาก เพื่อเปลี่ยนสารอาหารให้เป็นสิ่งที่ลูกน้อยสามารถกินและย่อยได้ หมายความว่าอัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกายจะสูงขึ้น แต่นี่ก็อาจทำให้คุณแม่หิวมากกว่าปกติ ซึ่งคุณแม่ควรระวังในสิ่งที่จะกินเข้าไปด้วยในช่วงนี้ด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าลูกน้อยจะได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์ โดยไม่เพิ่มแคลอรี่ให้คุณแม่มากจนเกินไป
9. การให้นมลูกไม่เสียค่าใช้จ่าย
การให้นมลูกนั้นไม่มีค่าใช้จ่าย เว้นแต่คุณแม่จะเตรียมการปั๊มนมเก็บไว้ให้ลูกกิน เมื่อต้องกลับไปทำงาน ก็อาจต้องมีค่าใช้จ่ายในเรื่องอุปกรณ์การปั๊มนม แต่ก็เป็นค่าใช้จ่ายเพียงครั้งเดียว ขณะที่การให้ลูกกินนมผง เป็นค่าใช้จ่ายในระยะยาว การให้ลูกกินนมแม่จึงเป็นหนทางที่จะช่วยคุณแม่ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากที่สุดอย่างแน่นอน
10. การให้นมลูกดีต่อสุขภาพของคุณแม่ในระยะยาว
ผลต่อสุขภาพของการให้นมลูกที่มีต่อคุณแม่นั้น ไม่ได้หยุดอยู่แค่ช่วงเวลาที่ให้นมลูกเท่านั้น แต่ยังอยู่ต่อเนื่องในระยะยาวอีกด้วย นี่เป็นผลจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลนา ในสหรัฐฯ ซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Maternal & Child Nutrition นักวิจัยพบว่าแม่ที่ให้นมลูกเป็นระยะเวลาหกเดือน และยังคงให้นมลูกต่อเนื่องไปจนถึงหนึ่งปีนั้น ทั้งคุณแม่และคุณลูกต่างก็จะมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและการเป็นโรคต่างๆ ต่ำลง โดยประโยชน์ต่อสุขภาพของคุณแม่ในระยะยาว คือการให้นมลูกจะช่วยป้องกันการเป็นโรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งก่อนวัยหมดประจำเดือน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และหัวใจวาย
[embed-health-tool-vaccination-tool]