backup og meta

ลูกไม่ยอมกินอะไรเลย คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร

ลูกไม่ยอมกินอะไรเลย คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร

ลูกไม่ยอมกินอะไรเลย อาจเป็นปัญหาที่ควรรีบแก้ไข และศึกษาวิธีที่ทำให้ลูกสามารถกินได้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบถึงสุขภาพและพัฒนาการของลูกน้อย โดยอาจลองหาวิธีต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้ลูกต้องการกินอาหาร เช่น ให้ลูกกินอาหารตรงเวลาทุกมื้อ ลองทำเมนูใหม่ ๆ ปรับปริมาณอาหารให้เหมาะสม เป็นต้น อาจจะสามารถช่วยให้ลูกกลับมากินอาหารได้มากขึ้น

[embed-health-tool-vaccination-tool]

ลูกไม่ยอมกินอะไรเลย เกิดจากอะไร

ปัญหาลูกไม่ยอมกินอาหาร อาจเกิดมาจากสาเหตุต่อไปนี้

  • บังคับให้ลูกกินอาหารมากเกินไป เมื่อเห็นว่าลูกกินอาหารได้น้อยลงกว่าที่เคยเป็น คุณพ่อคุณแม่อาจจะใช้วิธีแก้ไขปัญหาที่ผิด เช่น ดุว่า ลงโทษ หรือบังคับให้ลูกกินให้หมดจาน โดยไม่รู้ว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้ลูกไม่กินในขณะนั้น เช่น ปริมาณที่ลูกกินได้ในหนึ่งมื้ออาจมากเกินไป หรือลูกยังอิ่มขนมอยู่ การว่ากล่าวอาจทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีที่จะกินอาหารจนลูกเกิดอาการต่อต้านและไม่ยอมกินอะไรเลย
  • กินน้ำตาลมากเกินไป การกินขนมขบเคี้ยวหรือขนมหวานเป็นประจำอาจทำให้ลูกติดน้ำตาล และเลือกที่จะขอกินอาหารหวาน ๆ แทนที่จะกินอาหารปกติ เช่น กินเพียงคุกกี้ในระหว่างวัน หรือต้องการกินแค่ของหวานในมื้อเย็น คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกขนมหรืออาหารว่างแบบที่มีน้ำตาลน้อยให้ลูก เช่น โยเกิร์ตไม่มีน้ำตาล ผลไม้อย่างกล้วย แอปเปิ้ลหั่นเป็นชิ้น เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน และไม่ติดหวาน ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงในการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน เมื่อโตขึ้น
  • มีสิ่งรบกวนที่ทำให้ไม่สนใจอาหาร ลูกอาจห่วงเล่นจนไม่อยากกินอาหารเมื่อถึงเวลาที่ต้องกิน เช่น ต้องการเล่นของเล่นจนไม่อยากทำอย่างอื่น หรือติดดูการ์ตูนโทรทัศน์จนไม่ยอมกินอะไรเลย เพราะความสนใจทั้งหมดอยู่ที่การ์ตูนจนทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้
  • ลูกต้องการความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ หากลูกเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่มีท่าทีวิตกกังวลในเรื่องปริมาณการกินอาหารของลูก ก็อาจทำให้ลูกไม่ยอมกินอะไรเลยไปเรื่อย ๆ เนื่องจากสามารถเรียกความสนใจของคณพ่อคุณแม่ได้
  • ลูกแพ้อาหารบางชนิด เด็กอาจแพ้ นม ถั่ว ไข่ไก่ ข้าวสาลี ซึ่งจะทำให้เกิดภาวะที่ไม่สามารถย่อยอาหาร อาจจะมีอาการท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะ ปวดท้อง หรือท้องร่วง ทำให้ลูกไม่อยากกินอาหารชนิดนั้น ๆ

วิธีแก้ไขปัญหาลูกไม่ยอมกินอะไรเลย

ให้ลูกกินอาหารตรงเวลาทุกมื้อ กำหนดเวลาบนโต๊ะอาหารของลูกให้แน่นอน และเป็นเวลาเดียวกันทุกวัน ที่ตำแหน่งเดิมในทุกวัน ฝึกให้กินอาหารให้เป็นเวลา ทั้งมื้ออาหารหลักและมื้ออาหารว่าง จะทำให้ลูกรู้ว่าเป็นเวลาที่ต้องกินอาหาร  นอกจากนี้ ไม่ควรให้ลูกนั่งอยู่บนโต๊ะอาหารนานเกินไป ควรใช้เวลาเพียง 20-30 นาทีแม้ว่าลูกจะยังไม่ยอมกินก็ควรเก็บจาน อาจจะงดอาหารว่างไปก่อน เพื่อให้ทำให้ลูกหิวง่ายขึ้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องกินมื้อต่อไป

เริ่มจากปริมาณน้อย ๆ ลองให้ลูกกินอาหารในปริมาณน้อย ๆ และให้ลูกได้มีโอกาสที่จะขออาหารเพิ่มหากกินไม่อิ่ม ซึ่งจะช่วยควบคุมปริมาณอาหารที่ลูกกินได้

ลดการดื่มนมหรือน้ำผลไม้ระหว่างวัน ไม่ควรให้ลูกดื่มน้ำ นม หรือน้ำผลไม้เยอะก่อนถึงเวลาอาหาร เพราะลูกอาจอิ่มเกินจะกินอาหารมื้อหลักที่สำคัญ เด็กอายุ 1-6 ควรดื่มนมเพียง  480-600 มิลลิลิตร/วัน และดื่มน้ำผลไม้เพียง 120-180 มิลลิลิตร/วัน

ใช้เวลาร่วมกับลูกบนโต๊ะอาหาร ทำบรรยากาศบนโต๊ะอาหารให้ผ่อนคลาย และควรตั้งใจใช้เวลาร่วมกับลูก ทำให้ลูกรู้สึกอุ่นใจเมื่อมีคุณพ่อคุณแม่อยู่ด้วยในระหว่างกินอาหาร อาจทำท่ากินให้ลูกดูว่ากินแล้วอร่อย ช่วยกระตุ้นให้ลูกอยากกินอาหารมากขึ้น

เสนอเมนูใหม่ให้ลูก ลูกอาจเบื่ออาหารที่เคยกินเป็นประจำทุกวัน ควรลองเปลี่ยนเมนูใหม่ ๆ แต่งจานให้ดูน่าสนใจ หากลูกไม่กินอาหารใหม่ อาจจะรอสัก 2-3 วันแล้วให้ลูกลองกินอีกครั้ง ลูกอาจจะไม่ยอมรับเมนูใหม่ในทันทีแต่อาจจะชอบและยอมกินในภายหลัง

ให้ลองรสชาติที่หลากหลายขึ้น ลูกอาจจะสนใจอาหารมากขึ้นเมื่อได้ลองอาหารที่มีรสชาติแปลกใหม่ ลองเปลี่ยนชนิดอาหารและเนื้อสัมผัสของอาหารที่ต้องการให้ลูกลอง เช่น ลองให้ลูกกินมันบดที่นุ่มเคี้ยวง่ายแล้วให้ลองกินผลไม้หั่นบาง ที่จะช่วยพัฒนาทักษะการเคี้ยวและการหยิบจับของลูกไปด้วย ควรหั่นอาหารเป็นชิ้นเล็ก ๆ ที่เหมาะสมกับลูก เพื่อป้องกันอาหารติดคอ

ไม่บังคับฝืนใจลูก หากลูกยังไม่รู้สึกหิว ไม่ควรฝืนใจลูกด้วยการพยายามป้อนให้ลูกกินเข้าไปให้ได้ การบังคับจะทำให้ลูกรู้สึกต่อต้านและไม่อยากกินมากขึ้นไปอีก ลูกอาจจะกลัวช่วงเวลาที่ต้องมานั่งกินและไม่ยอมกินแม้จะรู้สึกหิว และไม่ควรติดสินบนลูกว่าจะได้รางวัลหากกินอาหารหมด เพราะจะแก้ปัญหาได้ในระยะสั้นเท่านั้น

ใช้วิธีที่นุ่มนวลให้ลูกกินอาหาร คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ ควรชักจูงและโน้มน้าวให้ลูกกินอาหารอย่างใจเย็น ไม่ทำเสียงดังหรือดุให้ลูกรู้สึกไม่ดี ซึ่งอาจจะทำให้กินยากมากกว่าเดิม

ไม่ดูโทรทัศน์หรือเล่นของเล่นระหว่างกินอาหาร หลีกเลี่ยงไม่ให้มีสิ่งรบกวนรอบข้าง ควรปิดโทรทัศน์และไม่นำของเล่นมาวางไว้บนโต๊ะอาหาร ซึ่งจะทำให้ลูกกินข้าวได้ช้า และอิ่มเร็วเกินไป และหันไปทำอย่างอื่นมากกว่า เช่น ต่อตัวต่อหรือดูโฆษณาโทรทัศน์

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Slideshow: Quick Tips for Feeding a Picky Eater https://www.webmd.com/parenting/ss/slideshow-picky-eaters Accessed February 22, 2022.

Children’s Nutrition: Tips for Picky Eaters https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/childrens-health/in-depth/childrens-health/art-20044948?p=1. Accessed February 22, 2022.

Why Won’t Baby Eat?. https://www.webmd.com/parenting/baby/why-wont-baby-eat Accessed February 22, 2022.

เมื่อลูกน้อยไม่กินข้าว https://www.si.mahidol.ac.th/siriraj_online/thai_version/Health_detail.asp?id=723 Accessed February 22, 2022.

When Your Toddler Doesn’t Want to Eat https://familydoctor.org/when-your-toddler-doesnt-want-to-eat/ Accessed February 22, 2022.

Is Your Baby a Picky Eater? https://www.webmd.com/parenting/baby/picky-eater Accessed February 22, 2022.

Tips to Help Your Picky Eater. https://www.cdc.gov/nccdphp/dnpao/features/picky-eaters/index.html  Accessed February 22, 2022.

เวอร์ชันปัจจุบัน

09/11/2022

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

อัปเดตโดย: สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


บทความที่เกี่ยวข้อง

ลูกกินขนมมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้

คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไรให้ เด็ก กินผัก


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงจิตรลดา ชินสุวรรณ

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 09/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา