backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

นม กับประโยชน์ต่อสุขภาพของเด็ก ๆ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์ · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

นม กับประโยชน์ต่อสุขภาพของเด็ก ๆ

นม อุดมไปด้วยวิตามิน เกลือแร่ และสารอาหาร อาทิ โปรตีน แคลเซียม วิตามินต่าง ๆ ที่ช่วยในเรื่องของการเจริญเติบโต ควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้ร่างกายและกระดูกแข็งแรง ทั้งยังอาจช่วยป้องกันภาวะขาดแคลเซียมได้ด้วย ดังนั้น วัยเด็กจึงเป็นช่วงอายุที่ควรได้รับการบำรุงด้วยการดื่มนมมากที่สุด

ปริมาณนมที่เด็กควรดื่มในแต่ละวัน

ปริมาณนมที่ควรให้เด็กดื่มขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ ความสูง และภาวะขาดเอนไซม์แลคเตสจนไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสได้  (Lactose Intolerance) ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เด็กควรดื่มนมในปริมาณดังนี้

  • เด็กอายุ 1-2 ขวบ เด็กอายุ 1 ขวบสามารถเริ่มดื่มนมวัวได้ โดยควรดื่มประมาณ 32 ออนซ์/วัน
  • เด็กอายุ 2-3 ปี ควรดื่มนมอย่างน้อย 2 แก้ว/วัน
  • เด็กอายุ 4-8 ปี ควรดื่มนม 2.5 แก้ว/วัน

ประโยชน์ของนมต่อสุขภาพเด็ก

ในน้ำนมอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ โดย นม 1 แก้ว (244 กรัม) ประกอบไปด้วย

  • พลังงาน 146 แคลอรี่
  • โปรตีน 8 กรัม
  • ไขมัน 8 กรัม
  • แคลเซียม 28% ของปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับต่อวัน
  • วิตามินดี 24% ของปริมาณวิตามินดีที่ควรได้รับต่อวัน
  • วิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน) 26% ของปริมาณวิตามินบี 2 ที่ควรได้รับต่อวัน
  • วิตามินบี 12 18% ของปริมาณวิตามินบี 12 ที่ควรได้รับต่อวัน
  • โพแทสเซียม 10% ของปริมาณโพแทสเซียมที่ควรได้รับต่อวัน
  • ฟอสฟอรัส 22% ของปริมาณฟอสฟอรัสที่ควรได้รับต่อวัน
  • ซีลีเนียม 13% ของปริมาณซีลีเนียมที่ควรได้รับต่อวัน

นอกจากนี้ นมยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพของเด็ก ๆ ดังต่อไปนี้

นมเป็นแหล่งโปรตีนชั้นดี

นม อุดมไปด้วยโปรตีน โดยนม 1 แก้วมีโปรตีน 8 กรัม ซึ่งโปรตีนเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของเด็ก รวมถึงการซ่อมแซมเซลล์และควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน

นอกจากนี้ นมยังประกอบไปด้วยกรดอะมิโนที่จำเป็นครบทั้ง 9 ชนิด เช่น ไลซีน (Lysine) ทรีโอนิน (Threonine) ทริปโตเฟน (Tryptophan) และชนิดของโปรตีนที่พบในนม มี 2 ชนิดเป็นหลัก ได้แก่ เคซีน (Casein) และเวย์โปรตีน ซึ่งทั้ง 2 ชนิดได้รับการพิจารณาว่าเป็นโปรตีนคุณภาพสูง โดยในนมวัวจะมีเคซีน 70-80% และเวย์โปรตีน 20% การให้เด็กดื่มนมจึงช่วยให้เด็กได้รับโปรตีนอย่างเพียงพอ เพื่อการเจริญเติบโตของร่างกาย

สุขภาพ ฟันแข็งแรง

นมอุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งสำคัญต่อสุขภาพฟันของเด็ก นอกจากนี้ นมยังมีเคซีน ที่เป็นโปรตีนที่สำคัญ ทำงานโดยการช่วยสร้างแผ่นฟิล์มบาง ๆ บนผิวเคลือบฟันของเด็ก และช่วยป้องกันการสูญเสียแคลเซียมและฟอสเฟต

ทันตแพทย์หลายคนแนะนำว่า เด็กควรดื่มนม และตามด้วยน้ำเปล่า เพื่อป้องกันฟันผุ เพราะนมบางชนิดอาจมีน้ำตาลสูง

กระดูกแข็งแรง

การดื่ม นมวัว ช่วยให้กระดูกแข็งแรง เนื่องจากนมอุดมไปด้วยสารอาหารมากมาย ได้แก่ แคลเซียม ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม และโปรตีน ซึ่งสารอาหารเหล่านี้ช่วยทำให้การดูกแข็งแรง นอกจากนี้ เด็กที่มีภาวะขาดแคลเซียม ยังเสี่ยงที่จะกระดูกหักเมื่อได้รับบาดเจ็บ การดื่มนมจึงช่วยทำให้กระดูกแข็งแรงและยังป้องกันภาวะขาดแคลเซียมในเด็กด้วย

ดื่มนมดีต่อสุขภาพหัวใจ และระดับความดันโลหิต

การดื่มนมอาจช่วยให้ระดับความดันโลหิตของเด็กเป็นปกติ เนื่องจาก มีงานวิจัยที่ชี้ว่า การดื่มนมและกินอาหารที่มีโซเดียมต่ำ อาจช่วยให้ระดับความดันโลหิตของเด็กอยู่ในระดับปกติ นอกจากนี้ การได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดในเด็กด้วย

หลับสนิท คลายเครียด ชะลอความแก่ด้วยการดื่มนม

ในน้ำนมมีสารธรรมชาติอย่าง เมลาโทนิน (Melotanin) ซึ่งมีส่วนช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย และอาจช่วยให้ผู้ดื่มรู้สึกผ่อนคลายจากความเครียด ส่งผลให้การนอนหลับมีคุณภาพยิ่งขึ้น ดังนั้น ผู้ดื่มนมจึงสามารถนอนหลับได้สนิทและสบายยิ่งขึ้น การดื่มนมก่อนนอนทุกวันจึงเหมาะเป็นอีกหนึ่งเครื่องดื่มทางเลือกสำหรับเด็ก ๆ หรือผู้มีปัญหาเรื่องของการนอน

กรณีเด็กแพ้นมวัว

มีหลายกรณีที่ผู้ปกครองเข้าใจว่าลูกแพ้โปรตีนจากนมวัว แต่ความจริงแล้วประมาณ 65% มีภาวะขาดเอนไซม์แลคเตสจนไม่สามารถย่อยน้ำตาลแลคโตสได้ แต่ถ้าเด็กได้รับการวินิจฉัยว่าแพ้นมวัวแล้ว ควรหยุดดื่มนมวัว และดื่มนมสำหรับรักษาชนิดที่คุณหมอสั่งจ่ายให้เท่านั้น นอกจากนี้ แต่ยังสามารถดื่มนมประเภทอื่นแทนได้ เช่น นมอัลมอนด์ นมถั่วเหลือง นมข้าว

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงสุสิตา หวังจิรนิรันดร์

พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา