backup og meta

นมแม่ กับข้อสังเกตอื่น ๆ ที่คุณแม่มือใหม่ควรใส่ใจ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา · พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

    นมแม่ กับข้อสังเกตอื่น ๆ ที่คุณแม่มือใหม่ควรใส่ใจ

    นมแม่ คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกแรกเกิดช่วงขวบปีแรก เพราะอุดมไปด้วยคุณค่าสารอาหารที่เป็นประโยชน์ ย่อยง่าย และอ่อนโยนต่อระบบทางเดินอาหารของลูกน้อย นอกจากเรื่องประโยชน์ของนมแม่แล้ว ยังมีข้อสังเกตอื่น ๆ เกี่ยวกับนมแม่ที่คุณแม่มือใหม่ควรศึกษา เช่น ปริมาณน้ำนมที่ลูกควรได้รับ คุณภาพน้ำนมแม่ อาหารสำหรับหญิงให้นมบุตร เป็นต้น

    ประโยชน์นมแม่

    นมแม่เต็มไปด้วยคุณค่าสารอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก มีวิตามินครบเกือบทุกชนิด รวมทั้งโปรตีน ไขมัน เกลือแร่งต่าง ๆ และสารอาหารอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารก  มีภูมิคุ้มกันที่จะช่วยให้ร่างกายของทารกแข็งแรงต้านทานเชื้อโรคทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียต่าง ๆ ที่สำคัญย่อยง่ายและโอกาสเสี่ยงต่ำที่ทารกจะแพ้นมแม่ รวมทั้งมักมีน้ำหนักตามเกณฑ์ และลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคอ้วน เบาหวาน และป้องกันทารกจากโรคไหลตายในเด็ก หรือ SIDS อีกด้วย

    ปริมาณนมแม่ที่ลูกน้อยควรได้รับ

    โดยปกติแล้ววทารกช่วง 1-3 เดือนแรก มักดื่มนมทุก 3-4 ชั่วโมง ครั้งละประมาณ 3-4 ออนซ์ เฉลี่ย 8 ครั้งต่อวัน หรือเฉลี่ยวันละ 24-32 ออนซ์ (100-150 มิลลิลิตร/กิโลกรัม) ซึ่งปริมาณนมจะเพิ่มขึ้นตามน้ำหนักตัว กระทั่งอายุครบ 6 เดือนอาจเริ่มมีอาหารชนิดอื่นเข้ามาเสริม เป็นอาหารเสริมตามวัย ทำให้อาจลดปริมาณนมแม่ลง

    สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกน้อยได้นมแม่ไม่เพียงพอ

    เมื่อลูกน้อยได้กินนมแม่ทุก ๆ 2-3 ชั่วโมง โดยปกติแล้วถือว่าได้รับนมแม่เพียงพอ แต่หากคุณแม่ยังกังวลว่าลูกอาจได้รับน้ำนมไม่เพียงพอหรือไม่ อาจลองสังเกตสัญญาณเตือนเหล่านี้

    • ลูกดูดนมนานกว่า 45 นาที/ครั้ง ไม่ได้ยินเสียงกลืน
    • ลูกรู้สึกหิวหลังจากที่เพิ่งกินนมไป
    • ขณะที่ลูกดูดนมอยู่ ให้คุณแม่สังเกต ลองฟังเสียงกลืนนม หากไม่ได้ยินเสียงกลืนนม นั่นอาจหมายถึงลูกน้อยได้รับนมไม่เพียงพอ
    • คุณแม่รู้สึกว่านมยังคัดตึง เหมือนน้ำนมในเต้าไม่ลดลงแม้ว่าลูกน้อยจะกินนมแม่ไปแล้วก็ตาม
    • หลังจากกินนมแม่แล้วลูกน้อยไม่ค่อยฉี่ หรือฉี่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น (5-6 ครั้ง)
    • พัฒนาการด้านน้ำหนักตัวของลูกน้อยไม่ค่อยเพิ่ม หรือเพิ่มขึ้นน้อยมาก ไม่เพิ่มตามเกณฑ์

    ปัจจัยที่ส่งผลต่อปริมาณนมแม่  

    มีปัจจัยหลายข้อที่อาจส่งผลต่อปริมาณนมแม่ เช่น ความเครียด ความเห นื่อยล้า ประจำเดือน ยาคุมกำเนิด คาเฟอีน การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การผ่อนไม่เพียงพอ การดื่มน้ำน้อย และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่คุณแม่อาจเป็นอยู่แล้ว หากคุณแม่สังเกตได้ว่าปริมาณน้ำนมที่ออกมามีปริมาณน้อย ไม่เพียงพอให้ลูกดื่ม คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อหาสาเหตุและแก้ไขต่อไป

    อาหารกับคุณภาพนมแม่

    อาหารแทบทุกอย่างล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการผลิตนมแม่ โดยไม่ว่าคุณแม่เลือกรับประทานอาหารชนิดใด นมแม่ยังคงมีคุณค่าสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อลูกน้อยครบถ้วน  อย่างไรก็ตาม การที่คุณแม่ให้นมลูกนั้นต้องใช้พลังงานอย่างมาก หากคุณแม่กินเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายนอกจากจะนำมาใช้เป็นพลังงานในการให้นมลูกแล้ว ยังมีประโยชน์ต่อร่างกายของคุณแม่เองอีกด้วย ควรเลือกกินอาหารหลากหลายและครบถ้วนให้ครบ 5 หมู่ใน 1 วัน ทั้งเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ และธัญพืช โดยสารอาหารที่ควรได้รับ ได้แก่ ธาตุเหล็ก แคลเซียม และโปรตีน ที่สำคัญไม่ควรอดอาหารเด็ดขาด นอกจากอาหารแล้ว คุณแม่ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 3 ลิตร/วัน และพักผ่อนให้เพียงพอ

    ปัญหาและวิธีแก้หากลูกไม่ดื่มนมแม่

    คุณแม่อาจประสบปัญหาลูกน้อยไม่ยอมดื่มนมแม่ ทั้งนี้อาจเกิดจากหลายสาเหตุซึ่งอาจใช้วิธีดังต่อไปนี้เพื่อให้ลูกดื่มนนมแม่

  • หากคุณแม่ให้ลูกน้อยกินนมผงเพราะกลัวว่าลูกจะได้รับนมแม่ไม่เพียงพอ ลูกน้อยอาจชินกับนมผง หรือขณะที่อยู่โรงพยาบาลลูกน้อยได้รับนมผงจากขวดเพราะคุณแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้ อาจเป็นสาเหตุให้ลูกดื่มนมจากเต้าได้ยากขึ้น เมื่อลูกน้อยไม่ดื่มนมจากเต้า อาจค่อยๆ ปรับสลับการให้ดูดนมจากเต้ากับการให้ดูดนมจากขวด โดยคุณแม่เลือกปั๊มนมเก็บไว้ ปั๊มนมอย่างสม่ำเสมอ
  • หากนมแม่ไหลน้อยในช่วงแรก ในช่วง 4-6 สัปดาห์แรกคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการให้ลูกน้อยดื่มนมจากขวดหรือการใช้จุกนมปลอม ควรให้ลูกดื่มนมแม่จากเต้าเพื่อช่วยเปิดท่อน้ำนม เมื่อลูกน้อยกินนมจากเต้าจะทำให้น้ำนมแม่ออกมากขึ้นเรื่อย ๆ
  • ถ้าน้ำนมไม่มาจริง ๆ และไม่พอต่อทารกควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อได้รับยากระตุ้นน้ำนม หรือพบผู้เชี่ยวชาญในการกู้น้ำนม
  • อาจมีปัญหาในเรื่องของท่าในการเข้าเต้าเพื่อดูดนมแม่ ควรปรึกษาคลินิกนมแม่ในโรงพยาบาลใกล้บ้าน
  • นมแม่ เป็นสิ่งหนึ่งที่สำคัญต่อลูกน้อย แต่คุณแม่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าในความเป็นจริงแล้วก็ยังมีเรื่องเกี่ยวกับ น้ำนมแม่ อาหารบำรุงน้ำนม อีกมากมายที่ยังไม่เคยรู้มาก่อน

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงหทัยทิพย์ ชัยประภา

    พ่อแม่เลี้ยงลูก · โรงพยาบาลเด็กสมิติเวช (ศรีนครินทร์)


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 20/04/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา