backup og meta

Pseudoephedrine คือ อะไร ข้อบ่งใช้ และผลข้างเคียง

Pseudoephedrine คือ อะไร ข้อบ่งใช้ และผลข้างเคียง

Pseudoephedrine คือ ซูโดอีเฟดรีน ใช้สำหรับการรักษาอาการคัดจมูก และอาการปวดหรืออักเสบจากการติดเชื้อ เช่น อาการหวัด ไข้ทั่วไป หรืออาการเจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ เช่น ไข้ ภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบ

[embed-health-tool-bmi]

ข้อบ่งใช้

Pseudoephedrine ใช้สำหรับ

Pseudoephedrine คือ ยารักษาอาการคัดจมูก และอาการปวดหรืออักเสบจากการติดเชื้อ เช่น อาการหวัด ไข้ทั่วไป หรืออาการเจ็บป่วยจากโรคระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น ไข้ ภูมิแพ้ หลอดลมอักเสบ ยาซูโดอีเฟดรีนเป็นยาแก้คัดจมูก ออกฤทธิ์โดยการทำให้เส้นเลือดหดตัว เพื่อลดอาการบวมและอาการคัดจมูก

ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันว่ายารักษาอาการไอและหวัดนั้นปลอดภัย หรือใช้ได้ผลกับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ดังนั้น ห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี เว้นแต่แพทย์สั่ง ไม่แนะนำให้ใช้ยาเม็ดหรือแคปซูลชนิดออกฤทธิ์นานกับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรสำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ยาอย่างปลอดภัย

ยานี้ไม่ได้ใช้รักษา หรือทำให้ระยะเวลาที่มีอาการหวัดสั้นลง และอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้ เพื่อลดความเสี่ยงสำหรับผลข้างเคียงที่รุนแรง ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำในการใช้ยาอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้ยานี้เพื่อทำให้เด็กง่วงนอน ห้ามใช้ยารักษาอาการไอและหวัดชนิดอื่น ๆ ที่อาจมีส่วนผสมของยาแก้คัดจมูกตัวเดียวกันหรือคล้ายกัน (ดูที่ปฏิกิริยาของยา) โปรดปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับวิธีอื่น ๆ ในการบรรเทาอาการไอและหวัด เช่น ดื่มน้ำให้เพียงพอ ใช้ยาพ่นจมูก ใช้หยอด หรือสเปรย์น้ำเกลือสำหรับล้างจมูก เป็นต้น

การใช้อื่น ๆ

ส่วนนี้กล่าวถึงวิธีการใช้ยานี้ที่ไม่ได้ระบุไว้ในฉลากยาที่ได้รับการอนุมัติ แต่คุณหมออาจสั่งให้ใช้ยานี้สำหรับอาการที่ระบุไว้ในส่วนนี้ โปรดใช้ยาตามที่ได้รับคำแนะนำจากคุณหมอเท่านั้น

คุณหมออาจสั่งให้ใช้ยาซูโดอีเฟดรีนเพื่อบรรเทาอาการปวดและบวมภายในหู หรือช่วย “เปิด” ช่องหู เมื่อประสบกับภาวะความกดอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ในระหว่างโดยสารเครื่องบิน การดำน้ำ เป็นต้น โปรดปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างระมัดระวัง

วิธีใช้ยา ซูโดเอฟีดรีน

หากกำลังรักษาด้วยยานี้ สิ่งสำคัญคือ ต้องอ่านคำแนะนำการใช้ที่ระบุไว้ที่บรรจุภัณฑ์ของผู้ผลิตอย่างระมัดระวัง เพื่อจะได้ทราบว่า ต้องปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรเมื่อใด (ดูที่คำเตือน) และหากมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกร หากคุณหมอสั่งให้ใช้ยานี้ ให้ใช้ตามที่คุณหมอสั่ง

รับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือแยกต่างหากก็ได้ โดยปกติแล้วคือ รับประทานยาทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง ตามที่ระบุไว้ในบรรจุภัณฑ์หรือตามที่แพทย์สั่ง ห้ามใช้ยาเกินกว่า 4 ครั้งต่อวัน ขนาดยาขึ้นอยู่กับอายุ อาการ และการตอบสนองต่อการรักษา ห้ามเพิ่มขนาดยา หรือใช้ยาเกินจำนวนครั้งที่แพทย์สั่ง และห้ามใช้ยาเกินกว่าอายุที่แนะนำ

หากใช้ยาเม็ดแบบเคี้ยว ต้องเคี้ยวยาให้ละเอียดแล้วค่อยกลืน หากใช้ยาชนิดน้ำ ให้ตวงยาอย่างระมัดระวังโดยใช้เครื่องมือ หรือถ้วยตวงเฉพาะ ห้ามตวงยาด้วยช้อนชาหรือช้อนโต๊ะ เพราะอาจได้ขนาดยาที่ไม่ถูกต้อง

ยาซูโดเอฟีดรีนมีหลากยี่ห้อ และหลายรูปแบบ ยาเม็ดควรรับประทานพร้อมดื่มน้ำในปริมาณมาก ให้ตรวจสอบที่บรรจุภัณฑ์สำหรับคำแนะนำเฉพาะในการใช้ยา และอ่านคำแนะนำเกี่ยวกับขนาดยาอย่างระมัดระวัง เนื่องจากปริมาณการใช้ยาอาจแตกต่างกันในแต่ละยี่ห้อ และห้ามใช้ยาเกินกว่าที่แนะนำ

คาเฟอีนสามารถเพิ่มอาการข้างเคียงของยานี้ได้ โปรดหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม รวมถึงช็อกโกแลตในปริมาณมาก และหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ซื้อมาใช้เอง ที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน

หลังใช้ยา 7 วัน หากอาการไม่ดีขึ้น อาการแย่ลง กลับมาเป็นซ้ำ หรือมีอาการไข้ ผื่นแดง หรือปวดศีรษะเรื้อรัง หรือคิดว่าอาจมีอาการร้ายแรง ให้ไปพบคุณหมอทันที

การเก็บรักษายา ซูโดเอฟีดรีน

ยา ซูโดเอฟีดรีน ควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นแสงและความชื้น เพื่อป้องกันตัวยาเสื่อมสภาพ ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยา ซูโดอีเฟดรีน บางยี่ห้ออาจมีวิธีเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรอ่านคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์หรือสอบถามเภสัชกรเสมอ และโปรดเก็บยาให้พ้นจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยงเพื่อความปลอดภัย

ไม่ควรทิ้งซูโดอีเฟดรีนลงในชักโครก หรือเทยาลงในท่อระบายน้ำ เว้นแต่จะได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น หากยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยา ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้อง โดยสามารถสอบถามข้อมูลวิธีกำจัดยาที่ถูกต้องได้จากเภสัชกร

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาซูโดอีเฟดรีน

ในการตัดสินใจใช้ยาซูโดอีเฟดรีน ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงในการใช้ยา โดยพิจารณาภาวะดังต่อไปนี้

อาการแพ้ยา

แจ้งให้คุณหมอทราบหากเคยมีอาการผิดปกติ หรืออาการแพ้ยานี้ หรือยาอื่น ๆ รวมถึงหากเคยมีอาการแพ้ประเภทอื่นๆ เช่น แพ้อาหาร แพ้สีผสมอาหาร สารถนอมอาหาร ขนสัตว์ เป็นต้น สำหรับยาที่คุณหมอไม่ได้สั่ง ให้อ่านฉลากยาหรือส่วนประกอบที่ระบุในบรรจุภัณฑ์อย่างระมัดระวัง

โรคในเด็ก

ยาซูโดอีเฟดรีนอาจมีความเป็นไปได้ ที่จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงในทารก โดยเฉพาะทารกเกิดใหม่ และทารกคลอดก่อนกำหนด ได้มากกว่าในเด็กโตกว่าและในผู้ใหญ่

ห้ามใช้ยาแก้ไอและหวัดที่ซื้อได้เองจากร้านขายยยา กับทารกหรือเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี การใช้ยาดังกล่าวกับเด็กอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรง หรืออาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

โรคในผู้สูงอายุ

ยังไม่มีข้อมูลจำเพาะที่เปรียบเทียบการใช้ยาซูโดอีเฟดรีนในผู้สูงอายุ กับผู้ป่วยในกลุ่มอายุอื่น ๆ ดังนั้น จึงไม่ทราบว่ายาจะให้ผลเช่นเดียวกันกับในผู้ที่อายุน้อยกว่าหรือไม่ หรือยาก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรืออาการที่แตกต่างกันในผู้สูงอายุหรือไม่

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินประโยชน์และความเสี่ยงก่อนใช้ยานี้

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาซูโดอีเฟดรีน

เข้ารับการรักษาในทันที หากมีสัญญาณของอาการแพ้ ได้แก่ ลมพิษ หายใจติดขัด บวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ

หยุดใช้ยาซูโดอีเฟดรีน และแจ้งแพทย์ทันที หากมีอาการข้างเคียงที่รุนแรงใด ๆ เหล่านี้

  • หัวใจเต้นเร็ว แรง และไม่เป็นจังหวะ
  • เวียนศีรษะรุนแรง หรือรู้สึกความวิตกกังวล
  • เป็นแผลหรือเลือดออกง่าย
  • อ่อนเพลียผิดปกติ มีไข้ หนาวสั่น ปวดเนื้อตัว มีอาการไข้
  • ความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง ซึ่งสามารถสังเกตได้จากอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง มองเห็นไม่ชัด ได้ยินเสียงในหู กังวล งุนงง เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ มีอาการชัก

อาการข้างเคียงที่รุนแรงน้อยกว่า ได้แก่

  • เบื่ออาหาร
  • เหน็บชา หรือรอยแดงใต้ผิวหนัง
  • รู้สึกกระสับกระส่ายหรือตื่นเต้น (โดยเฉพาะในเด็ก)
  • นอนไม่หลับ
  • มีผื่นหรืออาการคันที่ผิวหนัง

ผลข้างเคียงที่กล่าวมาข้างต้น อาจไม่ได้เกิดกับทุกคน หรือบางคนอาจมีอาการอื่นนอกเหนือจากนี้ หากมีข้อสงสัย เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น ๆ

ยาซูโดอีเฟดรีนอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่กำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ควรแจ้งคุณหมอหรือเภสัชกรด้วยว่า กำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง สมุนไพร เป็นต้น และเพื่อความปลอดภัย ไม่ควรเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาเองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากคุณหมอ

ไม่แนะนำให้ใช้ยาซูโดอีเฟดรีนกับยาอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ คุณหมออาจจะตัดสินใจไม่รักษาด้วยยานี้ หรือเปลี่ยนยาบางตัวที่กำลังใช้อยู่

  • ยาคลอกิลีน (Clorgyline)
  • ยาไดไฮโดรเออโกตามีน (Dihydroergotamine)
  • ยาฟูราโซลิโดน (Furazolidone)
  • ยาไอโพรนิอาซิด (Iproniazid)
  • ยาไอโซคาร์บอกซาซิด (Isocarboxazid)
  • ยาลิเนโซลิด (Linezolid)
  • ยาโมโคลเบไมด์ (Moclobemide)
  • ยานีอาลาไมด์ (Nialamide)
  • ยาพาร์กิลีน (Pargyline)
  • ยาเฟเนลซีน (Phenelzine)
  • ยาโพรคาร์บาซีน (Procarbazine)
  • ยาราซากิลีน (Rasagiline)
  • ยาเซเลกิลีน (Selegiline)
  • ยาโทล็อกซาโตน (Toloxatone)
  • ยาทรานิลไซโพรมีน (Tranylcypromine)

โดยปกติแล้ว ไม่แนะนำให้ใช้ยาซูโดอีเฟดรีนกับยาดังต่อไปนี้ แต่อาจจำเป็นในบางกรณี หากได้รับใบสั่งยาทั้งคู่ร่วมกัน คุณหมออาจต้องเปลี่ยนขนาดยา หรือความถี่ในการใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งคู่

  • ยากัวนีทิดีน (Guanethidine)
  • ยาไอโอเบนเกวน ไอ-วัน-ทเวนตี้ทรี (Iobenguane I 123)
  • ยาเมทิลโดพา (Methyldopa)
  • ยามิโดดรีน (Midodrine)

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาซูโดเอฟีดรีนอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น ๆ

ยาซูโดเอฟีดรีนอาจส่งผลให้อาการโรคแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้คุณหมอหรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะโรคดังต่อไปนี้

  • โรคเบาหวานชนิดที่ 2 การใช้ยาซูโดเอฟีดรีนอาจส่งผลให้เกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง
  • ต่อมลูกหมากโต (Enlarged prostate)
  • โรคต้อหิน หรือมีความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อหิน
  • โรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ความดันโลหิตสูง การใช้ยาซูโดเอฟีดรีนอาจส่งผลให้อาการแย่ลง
  • ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน การใช้ยาซูโดเอฟีดรีนอาจส่งผลให้อาการแย่ลง

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาซูโดเอฟีดรีนสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาอาการคัดจมูก

  • ยาชนิดออกฤทธิ์ทันที : 30 ถึง 60 มก. รับประทานทุก 4 ถึง 6 ชั่วโมง เท่าที่จำเป็น
  • ยาชนิดออกฤทธิ์นาน : 120 มก. รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เท่าที่จำเป็น
  • ยาน้ำแขวนตะกอนออกฤทธิ์นาน : 45 ถึง 100 มก. รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เท่าที่จำเป็น
  • ขนาดยาประจำวันสูงสุด : 240 มก./วัน

ขนาดยาซูโดเอฟีดรีนสำหรับเด็ก

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาอาการคัดจมูก

อายุ 2 ปี ถึง 5 ปี

  • ยาชนิดออกฤทธิ์ทันที : 15 มก. ทุก 6 ชั่วโมง
  • ยาน้ำแขวนตะกอนออกฤทธิ์นาน : 12.5 ถึง 25 มก. รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เท่าที่จำเป็น
  • ขนาดใช้ยาประจำวันสูงสุด : 60 มก./วัน
  • ขนาดยาทางเลือก : 1 มก./กก./ขนาดใช้ยา ทุก 6 ชั่วโมง โดยขนาดใช้ยาสูงสุด คือ 15 มก.

อายุ 6 ปี ถึง 12 ปี

  • ยาชนิดออกฤทธิ์ทันที : 30 มก. ทุก 6 ชั่วโมง
  • ยาน้ำแขวนตะกอนออกฤทธิ์นาน : 25 ถึง 50 มก. รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เท่าที่จำเป็น
  • ขนาดใช้ยาประจำวันสูงสุด : 120 มก./วัน

อายุมากกว่า 12 ปี

  • ยาชนิดออกฤทธิ์ทันที : 30 ถึง 60 มก. รับประทานทุก 4 ถึง 6 ชั่วโมง เท่าที่จำเป็น
  • ยาชนิดออกฤทธิ์นาน : 120 มก. รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เท่าที่จำเป็น
  • ยาน้ำแขวนตะกอนออกฤทธิ์นาน : 50 ถึง 100 มก. รับประทานทุก 12 ชั่วโมง เท่าที่จำเป็น
  • ขนาดใช้ยาประจำวันสูงสุด : 240 มก./วัน

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

  • แคปซูล 120 มก.
  • ยาน้ำ สำหรับรับประทาน 30 มก./5 มล.

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา

หากลืมใช้ยาควรรีบใช้ทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยา

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Pseudoephedrine. https://www.drugs.com/pseudoephedrine.html. Accessed July 17, 2023.

Pseudoephedrine. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a682619.html. Accessed July 17, 2023.

Pseudoephedrine. http://www.webmd.com/drugs/2/drug-4908-821/pseudoephedrine-oral/pseudoephedrinesustained-release-oral/details. Accessed July 17, 2023.

ซูโดเอฟีดรีน (pseudoephedrine) พระเอกหรือผู้ร้าย? https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/94/ซูโดเอฟีดรีน-pseudoephedrine-พระเอกหรือผู้ร้าย/. Accessed September 26, 2023.

ซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine). https://mnfda.fda.moph.go.th/narcotic/?p=6041. Accessed September 26, 2023.

เวอร์ชันปัจจุบัน

26/09/2023

เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผลข้างเคียง ที่ควรรู้

ไข้หวัดใหญ่ กี่วันหาย และการดูแลตัวเอง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรอาชานนท์ สมศักดิ์

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 26/09/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา