backup og meta

เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethrophan)

ข้อบ่งใช้

ยา เดกซ์โทรเมทอร์แฟน ใช้สำหรับ

ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethrophan) ใช้ชั่วคราว เพื่อบรรเทาอาการไอที่ไม่มีเสมหะ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจบางอย่าง เช่น ไซนัสอักเสบ (Sinusitis) หรือโรคหวัด ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟนนั้น ไม่ควรใช้กับอาการไอเรื้อรัง เนื่องจากการสูบบุหรี่หรือปัญหาการหายใจระยะยาว เช่น โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง (chronic bronchitis) หรือโรคถุงลมโป่งพอง (emphysema) เว้นแต่แพทย์จะสั่ง ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟนนั้นมีส่วนประกอบของเดกซ์โทรเมทอร์แฟน เป็นยาระงับการไอที่ทำงานโดยการลดความรู้สึกว่าจำเป็นต้องไอ

ยาแก้ไอแก้หวัดนี้ ยังไม่แสดงให้เห็นถึงความปลอดภัย หรือประสิทธิภาพต่อเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี ดังนั้น จึงไม่ควรใช้ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 6 ปี เว้นแต่แพทย์จะสั่งให้โดยเฉพาะ ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้บางชนิด (เช่น ยาแบบออกฤทธิ์นานหรือยาแคปซูล) กับเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปี สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเพิ่มเติม เกี่ยวกับวิธีการใช้ยาอย่างปลอดภัย

ยานี้ไม่สามารถรักษา หรือทำให้หายจากโรคหวัดได้เร็วขึ้น และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงบางอย่าง เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง ควรทำตามแนวทางการใช้ยาอย่างเคร่งครัด อย่าใช้ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟนเพื่อให้เด็กรู้สึกง่วง อย่าให้ยาแก้ไอแก้หวัดที่อาจมีส่วนประกอบที่คล้ายกัน หรือเหมือนกัน (ดูเพิ่มเติมในส่วนปฏิกิริยาของยา) สอบถามแพทย์หรือเภสัชกร เกี่ยวกับวิธีอื่นที่จะช่วยบรรเทาอาการไอและโรคหวัด (เช่น ดื่มน้ำให้เพียงพอ ใช้เครื่องทำความชื้น หรือใช้น้ำเกลือแบบยาหยอดจมูกหรือสเปรย์พ่น)

วิธีการใช้ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน

  • รับประทานยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟนเท่าที่จำเป็น โดยปกติ คือ ทุกๆ 4 ถึง 12 ชั่วโมง หรือตามที่แพทย์กำหนด หากเกิดอาการท้องไส้ปั่นป่วน ควรรับประทานพร้อมกับอาหารหรือนม ควรใช้อุปกรณ์ตวงยามาตวงยาแบบน้ำ อย่าใช้ช้อนรับประทานอาหาร เนื่องจากอาจได้ขนาดยาที่ไม่ถูกต้อง หากคุณใช้ยาแขวนตะกอน ควรเขย่าขวดยาให้ดีก่อนตวงยา
  • ขนาดยาขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ที่คุณใช้ อายุ สภาวะทางการแพทย์ และการตอบสนองต่อการรักษา หากคุณใช้ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน เพื่อรักษาด้วยตนเอง (แพทย์ไม่ได้สั่งยา) ควรทำตามแนวทางการใช้ยาบนฉลากยา เพื่อทราบขนาดยาที่เหมาะสมกับอายุ
  • หากแพทย์สั่งให้คุณใช้ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟนทุกวัน ควรใช้ยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับประโยชน์สูงสุดจากยา เพื่อให้ง่ายต่อการจำควรใช้ยาในเวลาเดียวกันทุกวัน
  • การใช้ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟนอย่างไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดอันตราย (เช่น สมองเสียหาย ชัก หรือเสียชีวิต) อย่าเพิ่มขนาดยา ใช้บ่อยกว่า หรือใช้นานกว่าที่แพทย์สั่ง ควรหยุดใช้ยานี้อย่างเหมาะสมตามกำหนด
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากอาการของคุณไม่ยอมหายไป หรือแย่ลงหลังจากผ่านไปนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือหากคุณเป็นไข้ หนาวสั่น ปวดหัว หรือเกิดผดผื่น เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของอาการที่รุนแรง

การเก็บรักษายาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน

ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟนควรเก็บที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นแสงและความชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวยาเสื่อมสภาพ ไม่ควรเก็บยานี้ในห้องน้ำหรือช่องแช่แข็ง ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟนบางยี่ห้ออาจจะมีวิธีเก็บรักษาแตกต่างกัน จึงควรตรวจสอบคำแนะนำบนบรรจุภัณฑ์ หรือสอบถามเภสัชกรเสมอ เพื่อความปลอดภัย โปรดเก็บยาให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง 

ไม่ควรทิ้งยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟนลงในชักโครก หรือเทยาลงในท่อระบายน้ำ เว้นเสียแต่จะได้รับคำแนะนำให้ทำเช่นนั้น ควรกำจัดยาด้วยวิธีที่ถูกต้องเมื่อยาหมดอายุ หรือไม่มีความจำเป็นต้องใช้งาน โปรดสอบถามเภสัชกรเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาที่ถูกต้อง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน

ก่อนใช้ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน

  • แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบ หากคุณแพ้ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน แพ้ยาอื่นๆ หรือแพ้ต่อส่วนประกอบไม่ออกฤทธิ์ในยาที่คุณกำลังจะใช้ ควรตรวจสอบรายชื่อของส่วนประกอบที่ฉลากยา
  • อย่ารับประทานยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน หากคุณกำลังใช้ยายับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีนออกซิเดส (monoamine oxidase inhibitor) เช่นยาไอโซคาร์บอกซาซิด (isocarboxazid) อย่างมาร์แพลน (Marplan), ยาฟีเนลซีน (phenelzine) อย่างนาร์ดิล (Nardil), ยาเซเลกิลีน (selegiline) อย่างเอเดพริล (Eldepryl) หรือเอ็มแซม (Emsam) หรือเซลาพาร์ (Zelapar) และยาทรานิลซัยโปรมีน (tranylcypromine) อย่างพาร์เนต (Parnate) หรือหากคุณหยุดใช้ยายับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีนออกซิเดสภายใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา
  • แจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบ เกี่ยวกับยาที่คุณกำลังใช้ หรือตั้งใจจะใช้ ทั้งยาตามใบสั่งยา ยาที่หาซื้อเอง วิตามิน อาหารเสริม และสมุนไพร
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณสูบบุหรี่ หากคุณไอมีเสมหะในปริมาณมาก หรือหากคุณเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคถุงลมโป่งพอง หรือโรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณตั้งครรภ์ มีแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร หากคุณตั้งครรภ์ขณะใช้ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน ให้ติดต่อแพทย์ในทันที
  • หากคุณเป็นโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (phenylketonuria) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม ที่ต้องรับประทานอาหารชนิดพิเศษ เพื่อป้องกันภาวะปัญญาอ่อน คุณควรทราบว่ายาเดกซ์โทรเมทอร์แฟนแบบเคี้ยวบางยี่ห้อ อาจมีสารให้ความหวาน (aspartame) ซึ่งเป็นแหล่งของฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine)

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือเพียงพอ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อชั่งน้ำหนักประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้

ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน จัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด C จัดโดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่มีข้อมูลเพียงพอ

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน

รับการรักษาในทันที หากคุณมีสัญญาณของอาการแพ้ ได้แก่ ลมพิษ หายใจติดขัด บวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ หยุดใช้ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน และติดต่อแพทย์ในทันทีหากคุณมีผลข้างเคียงที่รุนแรงดังนี้

  • วิงเวียนอย่างรุนแรง วิตกกังวล รู้สึกกระสับกระส่าย หรือกังวลใจ
  • สับสน มองเห็นภาพหลอน
  • หายใจช้าและตื้น

ผลข้างเคียงที่รุนแรงน้อยกว่ามีดังนี้ เช่น ท้องไส้ปั่นป่วน

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ และอาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน อาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่า คุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่ม หยุด หรือเปลี่ยนขนาดยาโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ไม่แนะนำการใช้ยานี้ร่วมกับยาดังต่อไปนี้ แพทย์อาจพิจารณาไม่รักษาคุณด้วยยานี้ หรือเปลี่ยนยาบางอย่างที่คุณกำลังใช้

  • คลอร์กิลีน (Clorgyline), ไอโพรไนอาซิด (Iproniazid), ไอโซคาร์บอกซาซิด (Isocarboxazid), โมคลอเบไมด์ (Moclobemide), ไนอาลาไมด์ (Nialamide), พาร์กิลีน (Pargyline), ฟีเนลซีน (Phenelzine), โพรคาร์เบซีน (Procarbazine), ราซาจิลีน (Rasagiline), เซเลกิลีน (Selegiline), โทโลเซโทน (Toloxatone), ทรานิลซัยโปรมีน (Tranylcypromine)

โดยปกติจะไม่แนะนำการใช้ยานี้ร่วมกับยาดังต่อไปนี้ แต่อาจจำเป็นในบางกรณี หากคุณได้รับสั่งยาทั้งสองร่วมกัน แพทย์อาจต้องเปลี่ยนขนาดยาหรือความถี่ในการใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งสองยา

  • อัลมอทริปแทน (Almotriptan), อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline), อะม็อกซาปีน (Amoxapine), บูโพรพิออน (Bupropion), ไซตาโลแพรม (Citalopram), โคลมิพรามีน (Clomipramine), เดซิพรามีน (Desipramine), เดสเวนลาฟาซีน (Desvenlafaxine), โดลาซีตรอน (Dolasetron), ด็อกเซปิน (Doxepin), ดูล็อกซีทีน (Duloxetine), เอสซิตาโลแพรม (Escitalopram), เฟนทานิล (Fentanyl), ฟลูออกซิทีน (Fluoxetine), ฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine), แกรนิซีตรอน (Granisetron), ไฮดร็อกซีทริปโตเฟน (Hydroxytryptophan), อิมิพรามีน (Imipramine), เลโวมินาซิแพรน (Levomilnacipran), ลีเนโซลิด (Linezolid), ลอร์คาเซริน (Lorcaserin), เมเพอริดีน (Meperidine), มิลแนซิแพรน (Milnacipran), เมอร์เทซาปีน (Mirtazapine), นอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline), พาโลโนซีตรอน (Palonosetron), พาร็อกซีทีน (Paroxetine), โพรทริบทิลีน (Protriptyline), เซอร์ทราลีน (Sertraline), ไซบูทรามีน (Sibutramine), ทรามาดอล (Tramadol), ทราโซโดน (Trazodone), ไทรมิพรามีน (Trimipramine), เวนลาฟาซีน (Venlafaxine), วอร์ไทโอเซทีน (Vortioxetine)

การใช้ยานี้กับยาดังต่อไปนี้ อาจเพิ่มความเสี่ยงของผลข้างเคียงบางอย่าง แต่การใช้ยาทั้งสองร่วมกัน อาจเป็นการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ หากคุณได้รับสั่งยาทั้งสองร่วมกัน แพทย์อาจต้องเปลี่ยนขนาดยา หรือความถี่ในการใช้ยา ตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งสองชนิด

  • อะบิราเทอโรนแอซิเตด (Abiraterone Acetate), โคลบาแซม (Clobazam), ฮาโลเพอริดอล (Haloperidol), ควินิดีน (Quinidine), เวมูราเฟนิบ (Vemurafenib)

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟนอาจมีปฏิกิริยากับอาหาร หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน อาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ โดยเฉพาะ

  • โรคหอบหืด—เนื่องจากยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟนนั้น ลดอาการไอ ทำให้ยากต่อการจำกัดเสมหะที่สะสมอยู่ในปอด และทางเดินหายใจ ขณะเป็นหอบหืด
  • โรคเบาหวาน —ยาบางชนิดอาจมีส่วนประกอบของน้ำตาล และส่งผลกระทบต่อการควบคุมเฝ้าระวังระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด
  • โรคตับ—ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟนอาจสะสมภายในร่างกาย และทำให้เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์
  • โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง 
  • ไอมีเสมหะ—เนื่องจากยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟนนั้นจะลดอาการไอ ทำให้ยากที่จะกำจัดเสมหะที่สะสมอยู่ในปอด และทางเดินหายใจ เพราะโรคบางอย่าง
  • หายใจช้า—ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟนอาจลดอัตราการหายใจให้ยิ่งช้าลงไปมากกว่าเดิม

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟนสำหรับผู้ใหญ่

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่เพื่อรักษาอาการไอ

  • ยาแคปซูล ยาน้ำ ยาเม็ด ยาน้ำเชื่อม: 10 ถึง 30 มก. รับประทานทุกๆ 4 ถึง 8 ชั่วโมง
  • ยาอม: 3 เม็ด (เม็ดละ 10 มก.) รับประทานทุกๆ 6 ถึง 8 ชั่วโมง
  • ยาชนิดออกฤทธิ์อย่างต่อเนื่อง: 60 มก. รับประทานทุกๆ 12 ชั่วโมง
  • แผ่นฟิล์มแตกตัวในช่องปาก: 15 ถึง 30 มก. รับประทานทุกๆ 6 ถึง 8 ชั่วโมง
  • ขนาดยาสูงสุด: 120 มก./วัน

ขนาดยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟนสำหรับเด็ก

ขนาดยาสำหรับเด็กเพื่อรักษาอาการไอ

ยังไม่มีการพิสูจน์ขนาดยาสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 4 ปี

  • 1 ถึง 3 เดือน: 0.5 ถึง 1 มก. รับประทานทุกๆ 6 ถึง 8 ชั่วโมง
  • 4 ถึง 6 เดือน: 1 ถึง 2 มก. รับประทานทุกๆ 6 ถึง 8 ชั่วโมง
  • 7 เดือน ถึง 1 ปี: 2 ถึง 4 มก. รับประทานทุกๆ 6 ถึง 8 ชั่วโมง

2 ถึง 6 ปี

  • ยาน้ำ ยาอม ยาเม็ด ยาน้ำเชื่อม: 2.5 ถึง 7.5มก. รับประทานทุกๆ 4 ถึง 8 ชั่วโมง
  • 5 มก./ 5 มล. ยาน้ำสำหรับรับประทาน: 5 มล. รับประทานทุกๆ 4 ชั่วโมง ห้ามใช้เกิน 4 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง
  • ยาชนิดออกฤทธิ์อย่างต่อเนื่อง: 15 มก. รับประทานทุกๆ 12 ชั่วโมง
  • ขนาดยาสูงสุด: 30 มก./วัน

7 ถึง 12 ปี

  • แผ่นฟิล์มแตกตัวในช่องปาก: ละลายยา 2 แผ่นบนลิ้นทุกๆ 6 ถึง 8 ชั่วโมง
  • ยาน้ำ ยาอม ยาเม็ด ยาน้ำเชื่อม: 5 ถึง 10 มก. รับประทานทุกๆ 4 ชั่วโมง หรือ 15 มก. รับประทานทุกๆ 6 ถึง 8ชั่วโมง
  • 5 มก./ 5 มล. ยาน้ำสำหรับรับประทาน: 10 มล. รับประทานทุกๆ 4 ชั่วโมง ห้ามใช้เกิน 4 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง
  • ยาชนิดออกฤทธิ์อย่างต่อเนื่อง: 30 มก. รับประทานทุกๆ 12 ชั่วโมง
  • ขนาดยาสูงสุด: 60 มก./วัน

12 ปีขึ้นไป

  • ยาแคปซูล ยาน้ำ ยาอม ยาเม็ด ยาน้ำเชื่อม: 10 ถึง 30 มก. รับประทานทุกๆ 4 ถึง 8 ชั่วโมง
  • ยาชนิดออกฤทธิ์อย่างต่อเนื่อง: 60 มก. รับประทานทุกๆ 12 ชั่วโมง
  • แผ่นฟิล์มแตกตัวในช่องปาก: 15 ถึง 30 มก. รับประทานทุกๆ 6 ถึง 8 ชั่วโมง
  • ขนาดยาสูงสุด: 120 มก./วัน

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้

ยาแก้ไอบัคคลี (Buckleys Cough)

  • ยาน้ำสำหรับรับประทาน 12.5 มก./5 มล.

ครีโอมูลชั่น (Creomulsion)

  • ยาน้ำเชื่อมสำหรับรับประทาน 20 มก./15 มล.
  • ยาน้ำเชื่อมสำหรับรับประทาน 5 มก./5 มล.

ครีโอ-เทอร์พิน (Creo-Terpin)

  • ยาน้ำสำหรับรับประทาน 10 มก./5 มล.

เดลซิม (Delsym)

  • ยาน้ำสำหรับรับประทานแบบออกฤทธิ์นานเดกซ์โทรเมทอร์แฟนพอลิสเตอร์เรกซ์ (dextromethorphan polistirex) เทียบเท่ากับยาเดกซ์โทรเมทอร์ไฮโดรบรอไมด์ (dextromethorphan hydrobromide) 30 มก./5 มล.

ไดอาบีตี ซีเอฟ (Diabetes CF)

  • ยาน้ำเชื่อมสำหรับรับประทาน 10 มก./5 มล.

ElixSure Cough

  • ยาน้ำสำหรับรับประทาน 7.5 มก./5 มล.

ฟาเธอร์จอห์นเมดิซีน (Father John’s Medicine)

  • ยาน้ำเชื่อมสำหรับรับประทาน 10 มก./5 มล.

โฮลด์ ดีเอ็ม (Hold DM)

  • ยาอม 5 มก.

ลิทเติ้ลโคลด์ คอฟ ฟอมูล่า (Little Colds Cough Formula)

  • ยาน้ำสำหรับรับประทาน 7.5 มก./มล.

ยาแขวนตะกอนออกฤทธิ์นาน (Long-Acting Cough Suppressant)

  • ยาน้ำสำหรับรับประทาน15 มก./5 มล.

ยาออกฤทธิ์นานพีเดียแคร์ (Pediacare Children’s Long-Acting)

  • ยาน้ำสำหรับรับประทาน 7.5 มก./5 มล.

ยาแก้ไอโรบาเฟน (Robafen Cough)

  • ยาแคปซูลสำหรับรับประทาน 15 มก.

ยาแก้ไอโรบิททัสซินชิลเดรน แอลเอ (Robitussin Children’s Cough LA)

  • ยาน้ำเชื่อมสำหรับรับประทาน 7.5 มก./5 มล.

เจลแก้ไอโรบิททัสซิน (Robitussin Cough Gels)

  • ยาแคปซูลสำหรับรับประทาน 15 มก.

ยาโรบิททอสซิน ความแรงสูงสุด (Robitussin Maximum Strength)

  • ยาน้ำเชื่อมสำหรับรับประทาน 15 มก./5 มล.

ซิลป์เฟน ดีเอ็ม (Silphen DM)

  • ยาน้ำเชื่อม 10 มก./5 มล.

ซิมพลีคอฟ (Simply Cough)

  • ยาน้ำเชื่อมสำหรับรับประทาน 5 มก./5 มล.

ยาระงับไอเซนต์โจเซฟ (St. Joseph Cough Suppressant)

  • ยาน้ำ 7.5 มก./5 มล.

ซูเครท ดีเอ็ม (Sucrets DM)

  • ยาอม 10 มก.

ยาแก้ไอซูเครท ดีเอ็ม (Sucrets DM Cough)

  • ยาอม 10 มก.

ยาแก้ไอออกฤทธิ์นานไทรอามินิก (Triaminic Long Acting Cough)

  • ยาน้ำสำหรับรับประทาน 7.5 มก./5 มล.
  • แผ่นฟิล์มแตกตัวในช่องปาก 7.5 มก.

ยาโทรคอล (Trocal)

  • ยาอม 7.5 มก.

ยาแก้ไอทัสซิน (Tussin Cough)

  • ยาแคปซูลสำหรับรับประทาน 15 มก.
  • ยาน้ำเชื่อมสำหรับรับประทาน 15 มก./5 มล.

วิก เดย์คิว (Vick’s DayQuil)

  • ยาน้ำสำหรับรับประทาน 15 mg/15 mL

ยาบรรเทาอาการไอวิก ฟอมูร่า 44 (Vick’s Formula 44)

  • ยาน้ำสำหรับรับประทาน 30 มก./15 มล.

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

อาการของการใช้ยาเกินขนาดมีดังนี้

  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ง่วงซึม
  • วิงเวียน
  • ไม่มั่นคง
  • การมองเห็นเปลี่ยนแปลง
  • หายใจติดขัด
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • มองเห็นภาพหลอน (มองเห็นหรือได้ยินเสียงที่ไม่มีอยู่)
  • ชัก
  • โคม่า (หมดสติในช่วงระยะเวลาหนึ่ง)

กรณีลืมใช้ยา เดกซ์โทรเมทอร์แฟน

หากคุณลืมใช้ยาควรรีบใช้ในทันทีที่นึกได้ หรือถ้าหากใกล้ถึงเวลาใช้ยาครั้งต่อไป ให้ข้ามรอบไปใช้ยาตามตารางปกติได้เลย ไม่ควรเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Dextromethorphan http://www.webmd.com/drugs/2/drug-20744/dextromethorphan/details. Accessed July 16, 2016.

Dextromethorphan https://www.drugs.com/dextromethorphan.html. Accessed July 16, 2016.

Dextromethorphan http://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/dextromethorphan- oral-route/description/drg-20068661. Accessed July 16, 2016.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรพิมพ์จิต วัฒนชโนบล

อัปเดตโดย: Nattavara Pasathan


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาแก้ไอ รูปแบบ ไหนกันแน่ ที่จัดการกับอาการไอได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เสมหะ บอกอะไร เรียนรู้การถอดรหัสสุขภาพจากสีของเสมหะด้วยตนเอง


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรพิมพ์จิต วัฒนชโนบล


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา