backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก
สารบัญ

ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (Acute Sinusitis)

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์ · แก้ไขล่าสุด 17/06/2021

ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (Acute Sinusitis)

อาการคัดจมูกและความดันบริเวณโหนกแก้ม มักเป็นสัญญาณว่า คุณเป็น ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน การติดเชื้อหรืออักเสบระยะสั้นของเนื้อเยื่อที่อยู่ในโพรงจมูก

คำจำกัดความ

ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน คืออะไร

ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (acute sinusitis) เป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อหรืออักเสบอย่างกะทันหันภายในเยื่อบุโพรงจมูก ทำให้เกิดเป็นอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล แน่นจมูก และมีแรงดันในบริเวณโหนกแก้ม

โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน

โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน เป็นโรคที่สามารถพบได้ทั่วไป และอาจเกิดขึ้นกับคนทุกเพศทุกวัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของโรค ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

อาการทั่วไปของโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่

  • น้ำมูกข้น สีเหลืองหรืออมเขียวไหลจากจมูกหรือจากหลังคอ
  • เกิดการอุดตันที่จมูกหรือคัดจมูก ทำให้หายใจลำบาก
  • เจ็บ กดเจ็บ บวมหรือความดันรอบ ๆ ดวงตา แก้ม จมูกหรือหน้าผาก อาการเหล่านี้จะแย่ลงเมื่อก้มตัว
  • ความดันในหู
  • ปวดศีรษะ
  • เจ็บที่กรามบนและฟัน
  • ได้รับกลิ่นและรสลดลง
  • ไอ ซึ่งอาจเป็นมากขึ้นในเวลากลางคืน
  • มีกลิ่นปาก
  • เหนื่อยล้า
  • เป็นไข้

อาจมีอาการที่ไม่ได้ระบุข้างต้น หากคุณมีความกังวล หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

คุณควรปรึกษาแพทย์หากคุณมีอาการต่อไปนี้

  • อาการไม่ได้ดีขึ้นภายในไม่กี่วัน หรือมีอาการแย่ลง
  • เป็นไข้หลายวันติดต่อกัน
  • มีประวัติของการเป็นโรคไซนัสซ้ำหลายรอบ หรือเป็นโรคไซนัสเรื้อรัง

สาเหตุ

สาเหตุของโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน มักมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน เช่น โรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งอาจเป็นได้ตั้งการติดเชื้อไวรัสและการติดเชื้อแบคทีเรีย

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงที่ของโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

มีปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยที่ทำให้เป็น โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน เช่น

  • ไข้ละอองฟาง หรืออาการแพ้อื่น ๆ ที่ส่งผลต่อโพรงจมูก
  • ความผิดปกติที่ช่องจมูก เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด ริดสีดวงจมูกหรือเนื้องอกในจมูก
  • อาการโรคอย่างซิสติกไฟโบรซิส (cystic fibrosis) โรคทางพันธุกรรมที่ทำให้สารคัดหลั่งและเยื่อเมือกในร่างกายมีความข้นหนืด หรือความผิดปกติที่ระบบภูมิคุ้มกันอย่างการติดเชื้อเอชไอวีหรือเอดส์

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัย โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

แพทย์อาจใช้การกดที่จมูกหรือบนใบหน้า และอาจดูภายในโพรงจมูก หรืออาจมีการใช้วิธีการอื่นเพื่อวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน เพื่อคัดกรองโรคที่ไม่น่าจะเป็นออกไป อย่างเช่น

  • การใช้กล้องส่องตรวจในโพรงจมูก โดยใช้ท่อที่บางและยืดหยุ่นได้หรือกล้องส่องตรวจ (endoscope) พร้อมด้วยแสงจากเส้นใยนำแสง สอดเข้าไปทางรูจมูก เพื่อให้แพทย์สามารถตรวจสอบภายในโพรงจมูก
  • การตรวจร่างกายโดยเทคนิคการสร้างภาพ การใช้ซีทีสแกน (CT scan) และเอ็มอาร์ไอ (MRI) จะทำให้เห็นรายละเอียดบริเวณโพรงจมูกและจมูก วิธีนี้อาจช่วยให้เห็นความผิดปกติและโรคแทรกซ้อนที่อาจจะเป็นได้ แต่ไม่จำเป็นสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่ไม่ได้มีอาการแทรกซ้อน
  • การเพาะเชื้อในจมูกและโพรงจมูก โดยปกติแล้ว การตรวจทางห้องปฏิบัติการไม่ใช่เรื่องจำเป็นสำหรับการวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน อย่างไรก็ตาม เมื่ออาการไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรือแย่ลง การเพาะเนื้อเยื่ออาจช่วยให้ระบุสาเหตุได้ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การตรวจภูมิแพ้ หากแพทย์สงสัยว่าภูมิแพ้กระตุ้นให้คุณเป็นโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน แพทย์จะแนะนำให้ตรวจภูมิแพ้ทางผิวหนัง การตรวจทางผิวหนังปลอดภัยและทำได้เร็ว ทั้งยังช่วยชี้สารก่อภูมิแพ้ที่เป็นต้นเหตุให้จมูกอักเสบอีกด้วย
  • การรักษา โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

    โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันโดยส่วนมากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส และจะหายเป็นปกติได้เอง เทคนิคการดูแลตนเองเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อจะบรรเทาอาการ

    การรักษาเพื่อบรรเทาอาการ

    แพทย์อาจแนะนำการรักษาเพื่อช่วยบรรเทาอาการไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ได้แก่

    • น้ำเกลือสำหรับล้างจมูก ซึ่งคุณอาจใช้หลายครั้งต่อวัน เพื่อทำความสะอาดช่องจมูก
    • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์สำหรับพ่นจมูก (Nasal corticosteroids) ยาพ่นเหล่านี้จะช่วยป้องกันและรักษาการอักเสบ
    • ยาแก้ปวดที่ขายตามร้านขายยา เช่น ยาแอสไพริน ยาอะซีตามิโนเฟน (acetaminophen) 

    ยาปฏิชีวนะ

    ปกติแล้วไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ถึงแม้เชื้อไซนัสอักเสบเฉียบพลันจะเป็นแบคทีเรียก็ตาม เพราะเชื้อนี้อาจหายไปได้เองโดยไม่ต้องรักษา

    แพทย์อาจจะรอเพื่อดูว่าโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่เกิดจากแบคทีเรียของคุณแย่ลงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม อาการที่รุนแรง ลุกลาม หรือเป็นอย่างต่อเนื่อง อาจจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ หากแพทย์จ่ายยาปฏิชีวนะ ดูให้มั่นใจว่าคุณได้ใช้ยาทั้งหมดตามที่แพทย์สั่ง แม้ว่าอาการจะดีขึ้นก็ตาม หากคุณหยุดยาเร็วเกินไป คุณอาจกลับมามีอาการอีกครั้ง

    การบำบัดด้วยภูมิคุ้มกัน (Immunotherapy)

    หากอาการภูมิแพ้ทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบ อาจรักษาด้วยการฉีดยารักษาภูมิแพ้ ซึ่งช่วยลดการตอบสนองของร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้บางชนิด

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยจัดการกับโรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

    การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณรับมือกับ โรคไซนัสอักเสบเฉียบพลัน ได้

    • ดื่มน้ำมาก ๆ เช่น น้ำเปล่า น้ำผลไม้ เพื่อช่วยทำให้น้ำมูกใสขึ้น และขับน้ำมูกได้ง่ายขึ้น หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำ การดื่มแอลกอฮอล์ยังทำให้อาการบวมในเยื่อบุโพรงจมูกและจมูกแย่ลง
    • ทำให้โพรงจมูกชุ่มชื้น ด้วยการคลุมหัวด้วยผ้าขนหนู ก่อนเอาใบหน้าไออังเหนือถ้วยที่ใส่น้ำร้อน ให้ไอน้ำพุ่งเข้าสู่ใบหน้า จะช่วยทำให้โพรงจมูกชุ่มชื่น ลดอาการปวด และช่วยขับน้ำมูกได้
    • ประคบร้อนบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะรอบ ๆ จมูก แก้ม และดวงตา
    • ล้างจมูกด้วยชุดอุปกรณ์สำหรับล้างจมูก
    • หนุนหัวให้สูงขณะนอน สามารถช่วยให้โพรงจมูกระบายน้ำมูกได้สะดวก และลดการอุดตัน

    หากคุณมีคำถามเพิ่มเติม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย จิดาภา ติยะสิริทานนท์ · แก้ไขล่าสุด 17/06/2021

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา