backup og meta

โดบูทามีน (Dobutamine)

ข้อบ่งใช้

ยา โดบูทามีน ใช้สำหรับ

ยาโดบูทามีน (Dobutamine) เป็นยาเพิ่มแรงบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ (inotropic agent) ทำงานโดยการเพิ่มความแข็งแรงและแรงของการเต้นของหัวใจ ทำให้เลือดไหลเวียนในร่างกายได้มากขึ้น

ยาโดบูทามีนใช้เพื่อรักษาอาการหัวใจล้มเหลว ที่เกิดจากการผ่าตัดหรือเกิดจากโรคหัวใจ นอกจากนี้ยังอาจใช้เพื่อรักษาอาการอื่นๆ ได้อีกด้วย สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมโปรดสอบถามกับแพทย์

วิธีการใช้ยาโดบูทามีน

  • ใช้ยาโดบูทามีนตามที่แพทย์กำหนด สอบถามผู้ดูแลสุขภาพหากคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับการใช้ยาโดบูทามีน
  • ให้ยาโดบูทามีนได้ด้วยการฉีดยาที่ห้องทำงานของแพทย์ โรงพยาบาล หรือคลินิก
  • หากภายในบรรจุภัณฑ์ยาโดบูทามีนนั้นมีฝุ่นละอองหรือเปลี่ยนสี หรือขวดยามีรอยแตกหรือเสียหาย อย่าใช้ยานั้นและควรทิ้งยาไป
  • เก็บยานี้พร้อมทั้งเข็มฉีดยาให้ห่างไกลจากมือของเด็กและสัตว์เลี้ยง อย่าใช้เข็มฉีดยาหรืออุปกรณ์ฉีดยาอื่นๆ ซ้ำ กำจัดอุปกรณ์ให้ถูกต้องหลังการใช้ สอบถามแพทย์หรือเภสัชกรเกี่ยวกับวิธีการกำจัดยาในท้องถิ่นที่ถูกต้อง

การเก็บรักษายาโดบูทามีน

ยาโดบูทามีนโดยปกติผู้ดูแลสุขภาพ จะเป็นผู้จัดการและเก็บรักษายา หากคุณใช้ยาโดบูทามีนที่บ้าน ควรเก็บรักษาตามที่แพทย์กำหนด เก็บยาโดบูทามีนให้ห่างไกลจากมือของเด็กและสัตว์เลี้ยง

ข้อควรระวังและคำเตือน

ข้อควรรู้ก่อนใช้ยาโดบูทามีน

ก่อนใช้ยาโดบูทามีน แจ้งให้แพทย์ทราบ ในกรณีดังต่อไปนี้ ได้แก่

  • คุณแพ้ส่วนประกอบของยาโดบูทามีน
  • คุณตั้งครรภ์ มีแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร
  • คุณกำลังใช้ยาตามใบสั่ง ยาที่หาซื้อได้เอง สมุนไพร หรืออาหารเสริม
  • คุณแพ้ยา อาหาร หรือสารอื่นๆ
  • ยาโดบูทามีนอาจกลายเป็นสีชมพู หากสัมผัสกับแสง ซึ่งเป็นเรื่องปกติและไม่จำเป็นต้องกังวลใดๆ

ยาเหล่านี้บางชนิดอาจมีส่วนผสมของซัลไฟต์ (sulfites) ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ในผู้ป่วยบางราย (เช่น ผู้ป่วยโรคหอบหืด) หากคุณเคยมีอาการแพ้ต่อซัลไฟต์ โปรดติดต่อเภสัชกรเพื่อหาว่า ยาที่คุณกำลังใช้มีซัลไฟต์หรือไม่

ควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบว่า คุณกำลังใช้ยาโดบูทามีนก่อนการรักษาพยาบาลหรือทันตกรรม รับการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน หรือการผ่าตัด

อาจต้องมีการทำการตรวจสอบในห้องแล็บ รวมถึงการวัดระดับของโพแทสเซียมในเลือด ความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อเฝ้าสังเกตความคืบหน้าหรือเพื่อตรวจสอบผลข้างเคียง อย่าลืมมาตามนัดหมายของแพทย์และห้องแล็บ

ความปลอดภัยต่อการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร

ยังไม่มีงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เกี่ยวกับความเสี่ยงในสตรีที่ใช้ยานี้ในช่วงการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร โปรดปรึกษาแพทย์ เพื่อชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์และความเสี่ยงก่อนการใช้ยานี้ ยาโดบูทามีนจัดอยู่ในประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์ หมวด B โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA)

การจัดประเภทของยาที่มีความเสี่ยงต่อผู้ตั้งครรภ์โดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกามีดังนี้

  • A= ไม่มีความเสี่ยง
  • B= ไม่พบความเสี่ยงในการวิจัยบางชิ้น
  • C= อาจจะมีความเสี่ยง
  • D= มีหลักฐานแสดงถึงความเสี่ยง
  • X= ห้ามใช้
  • N= ไม่ทราบแน่ชัด

ผลข้างเคียง

ผลข้างเคียงของการใช้ยาโดบูทามีน

ติดต่อแพทย์หากคุณผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปเหล่านี้ไม่หายไปหรือรบกวนคุณ ได้แก่

  • ปวดหัว
  • คลื่นไส้

รับการรักษาพยาบาลในทันทีหากคุณมีผลข้างเคียงที่รุนแรงดังนี้ ได้แก่

  • ผดผื่น
  • ลมพิษ
  • หายใจติดขัด
  • แน่นหน้าอก
  • บวมที่ปาก ใบหน้า ริมฝีปาก หรือลิ้น
  • ปวดหน้าอก
  • หมดสติ มึนงง หรือวิงเวียน
  • หัวใจเต้นเร็วหรือผิดปกติ
  • มีอาการสะเทือนในอก
  • หายใจลำบาก

ไม่ใช่ทุกคนจะเจอกับผลข้างเคียงเหล่านี้ และอาจจะมีอาการอย่างอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกร

ปฏิกิริยาของยา

ปฏิกิริยากับยาอื่น

ยาโดบูทามีนอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นที่คุณกำลังใช้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น คุณควรจะบอกแพทย์หรือเภสัชกรของคุณว่าคุณกำลังใช้ยาอะไรอยู่บ้าง (ทั้งยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่ซื้อได้เอง และสมุนไพรต่างๆ) เพื่อความปลอดภัย โปรดอย่าเริ่มใช้ยา หยุดใช้ยา หรือเปลี่ยนขนาดยาโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากแพทย์

ยาที่อาจจะมีปฏิกิริยากับยานี้ได้แก่

  • ไซเมทิดีน (Cimetidine) หรือเมทิลโดปา (methyldopa) เนื่องจากผลข้างเคียงของยาโดบูทามีนอาจเพิ่มขึ้น
  • ตัวยับยั้งแคทิคอลโอเมทิลทรานสเฟอเรส (Catechol-O-methyltransferase inhibitors) เช่น เอนทาคาโปน (entacapone) หรือดรอกซีโดปา (droxidopa) เนื่องจากการทำงานและผลข้างเคียงของยาเหล่านี้อาจเพิ่มขึ้นเพราะยาโดบูทามีน

ปฏิกิริยากับอาหารหรือแอลกอฮอล์

ยาโดบูทามีนอาจมีปฏิกิริยากับอาหารหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา หรือเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดผลข้างเคียง โปรดปรึกษากับแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

ปฏิกิริยากับอาการโรคอื่น

ยาโดบูทามีนอาจส่งผลให้อาการโรคของคุณแย่ลง หรือส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยา โปรดแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงสภาวะโรคของคุณก่อนใช้ยาเสมอ

สภาวะต่างๆ มีดังนี้คือ

  • หัวใจเต้นผิดปกติ
  • ระดับปริมาณเลือดต่ำ
  • โรคเบาหวาน
  • ความดันโลหิตสูง
  • มีประวัติการมีปัญหากับลิ้นหัวใจ
  • มีเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต
  • หัวใจเต้นเร็วเกินไป (Tachyarrhythmia)
  • หัวใจห้องซ้ายล่างขยายตัวเนื่องจากหลอดเลือดแดงใหญ่แคบลง (aortic blood vessel) หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่างหนาผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ

ขนาดยา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษากับแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

ขนาดยาโดบูทามีนสำหรับผู้ใหญ่

โรคหัวใจที่มีอาการมากขึ้น (Cardiac Decompensation)

ขนาดยาที่แนะนำคือ 0.5-1 ไมโครกรัม/กก./นาที หยอดเข้าหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่องในตอนเริ่มต้น ตามด้วย 2-20 ไมโครกรัม/กก./นาที ไม่เกิน 40 ไมโครกรัม/กก./นาที

ภาวะการสูบฉีดเลือดออกจากหัวใจต่อนาทีต่ำ (Low Cardiac Output) (ไม่ใช่ข้อบ่งใช้ในฉลาก/off-label)

ขนาดยาที่แนะนำคือ 2-20 ไมโครกรัม/กก./นาที ฉีดเข้าหลอดเลือดดำหรือไขกระดูก (IO); ปรับขนาดยาให้ได้ผลที่ต้องการ ไม่เกิน 40 ไมโครกรัม/กก./นาที

ขนาดยาโดบูทามีนสำหรับเด็ก

โรคหัวใจที่มีอาการมากขึ้น (Cardiac Decompensation)

ขนาดยาที่แนะนำคือ 0.5-1 ไมโครกรัม/กก./นาที หยอดเข้าหลอดเลือดดำอย่างต่อเนื่องในตอนเริ่มต้น ตามด้วย 2-20 ไมโครกรัม/กก./นาที ไม่เกิน 40 ไมโครกรัม/กก./นาที

รูปแบบของยา

ความแรงและรูปแบบของยามีดังนี้คือ

ยาสารละลายโดบูทามีนสำหรับหลอดเข้าหลอดเลือดดำในน้ำเกลือเดกซ์โทรส 5% (D5W)

  • 100 มก./100 มล.
  • 200 มก./100 มล.
  • 400 มก./100 มล.

ยาสารละลายโดบูทามีนสำหรับฉีด

  • 5 มก./มล.

กรณีฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด

หากเกิดเหตุฉุกเฉินหรือใช้ยาเกินขนาด ควรแจ้งเหตุฉุกเฉิน หรือนำส่งห้องฉุกเฉินใกล้บ้านโดยทันที

กรณีลืมใช้ยา โดบูทามีน

หากคุณลืมใช้ยาโดบูทามีนโปรดติดต่อแพทย์ในทันที

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำทางการแพทย์ การวินิจฉัยโรคหรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

[embed-health-tool-bmi]

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Dobutamine. https://www.drugs.com/cdi/dobutamine.html. Accessed December 6, 2016.

Dobutamine (Rx). http://reference.medscape.com/drug/dobutamine-342434#0. Accessed December 6, 2016.

Dobutamine. https://www.drugbank.ca/drugs/DB00841. Accessed December 6, 2016.

เวอร์ชันปัจจุบัน

11/05/2020

เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

อัปเดตโดย: Nattavara Pasathan


บทความที่เกี่ยวข้อง

ยาแก้เจ็บคอ ควรใช้เมื่อไหร่ดี มีข้อควรระวังอย่างไร

สัญญาณหัวใจล้มเหลว อาการบอกเหตุที่คุณควรต้องรู้


ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

เภสัชกรวิสสุตา ชั้นประเสริฐ

ยาและอาหารเสริม · Hello Health Group


เขียนโดย พลอย วงษ์วิไล · แก้ไขล่าสุด 11/05/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา