โพรงสมองคั่งน้ำ หรือน้ำคั่งในโพรงสมอง เป็นการที่มีในสมองมีของเหลวส่วนเกิน ที่เพิ่มขนาดของโพรงสมอง และมีแรงกดลงบนสมอง ทำให้ผู้ป่วยมีขนาดหัวโตขึ้น บางทีก็เรียก โรคหัวบาตร
คำจำกัดความ
โพรงสมองคั่งน้ำคืออะไร
โพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus) หรือ น้ำคั่งในโพรงสมอง หรือน้ำท่วมสมอง เป็นการก่อตัวของของเหลวในโพรงสมอง ของเหลวส่วนเกินเพิ่มขนาดของโพรงสมองและมีแรงกดลงบนสมอง
น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid) ไหลผ่านโพรงสมอง และหล่อเลี้ยงสมองและกระดูกสันหลัง แต่แรงดันของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังที่มากเกินไปที่สัมพันธ์กับภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ สามารถสร้างความเสียหายแก่เนื้อเยื่อสมอง และทำให้เกิดระดับความเสียหายอย่างหนักต่อการทำงานของสมอง
โพรงสมองคั่งน้ำพบได้บ่อยเพียงใด
ถึงแม้ว่าภาวะโพรงสมองคั่งน้ำสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ แต่พบได้มากกว่าในทารกและผู้สูงอายุ สถาบัน The National Institute of Neurological Disorders and Stroke (NINDS) ในสหรัฐฯ ประมาณการไว้ว่า จำนวน 1 ถึง 2 รายจากทารกทุกๆ 1,000 ราย เกิดมาโดยมีภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
อาการ
อาการของโพรงสมองคั่งน้ำคืออะไร
สิ่งบ่งชี้และอาการของภาวะโพรงสมองคั่งน้ำโดยทั่วไปมีความหลากหลายตามช่วงอายุที่มีอาการ
ทารก
สิ่งบ่งชี้และอาการของภาวะโพรงสมองคั่งน้ำที่พบได้ทั่วไปในทารก ได้แก่
- ความเปลี่ยนแปลงในศีรษะ
- ศีรษะใหญ่ผิดปกติ
- ขนาดศีรษะใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว
- จุดอ่อน (ขม่อม) บนศีรษะนูนหรือแข็ง
- อาการทางร่างกาย
- อาเจียน
- ง่วงนอน
- หงุดหงิด
- ไม่มีความอยากอาหาร
- มีอาการชัก
- ตาตก
- กล้ามเนื้อขาดความตึงตัวและความแข็งแรง การตอบสนองต่อการสัมผัส และการเจริญเติบโตตามความเหมาะสม
เด็กวัยหัดเดินและเด็กโต
ในเด็กวัยหัดเดินและเด็กโต สิ่งบ่งชี้และอาการ ได้แก่
- อาการทางร่างกาย
- ปวดศีรษะ
- การมองเห็นไม่ชัดหรือเกิดภาพซ้อน
- สิ่งบ่งชี้ทางร่างกาย
- การขยายตัวที่ผิดปกติของศีรษะของเด็กวัยหัดเดิน
- อาการง่วงนอน
- มีปัญหาในการตื่นตัวหรือตื่นนอน
- คลื่นไส้หรืออาเจียน
- สมดุลร่างกายไม่คงที่
- การประสานกันของอวัยวะร่างกายไม่ดี
- ขาดความอยากอาหาร
- มีอาการชัก
- การเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมและการรับรู้
- อาการหงุดหงิด
- บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง
- สมาธิสั้น
- ความสามารถในการเรียนลดลง
- มีทักษะที่เรียนรู้มาช้าลงหรือมีปัญหา เช่น การเดินหรือการพูด
วัยหนุ่มสาวและวัยกลางคน
สิ่งบ่งชี้และอาการที่พบได้ในกลุ่มวัยนี้ ได้แก่
- ปวดศีรษะ
- มีปัญหาในการตื่นตัวหรือตื่นนอน
- สูญเสียการประสานงานกันหรือสมดุลของร่างกาย
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือปวดปัสสาวะบ่อย
- มีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็น
- ความจำ สมาธิ และทักษะด้านการคิดอื่นๆ ลดลง ที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการทำงาน
ผู้สูงอายุ
ในผู้สูงอายุที่อายุ 60 ปีหรือมากกว่า สิ่งบ่งชี้และอาการของภาวะโพรงสมองคั่งน้ำที่พบได้ทั่วไป ได้แก่
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือปวดปัสสาวะบ่อย
- สูญเสียความจำ
- สูญเสียทักษะด้านการคิดหรือด้านเหตุผลอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
- เดินลำบาก มักอธิบายได้ว่าเป็นท่าเดินลากเท้าหรือความรู้สึกเหมือนว่าเท้าถูกติดอยู่
- สูญเสียการประสานงานกันหรือสมดุลของร่างกาย
- โดยทั่วไปมีการเคลื่อนไหวช้างลงกว่าปกติ
อาจมีบางอาการที่ไม่ได้ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อกังวลเกี่ยวกับอาการใด โปรดปรึกษาแพทย์
ควรไปพบหมอเมื่อใด
ให้เข้ารับการรักษาฉุกเฉินสำหรับเด็กทารก หรือเด็กวัยหัดเดิน ที่มีสิ่งบ่งชี้และอาการดังต่อไปนี้
- ร้องไห้เสียงแหลม
- มีปัญหาในการดูดนมหรือการรับประทาน
- มีอาการอาเจียนซ้ำซึ่งไม่ทราบสาเหตุ
- ไม่สามารถก้มหรือเคลื่อนไหวคอหรือศีรษะได้
- มีปัญหาในการหายใจ
- มีอาการชัก
ให้เข้ารับการรักษาทันทีหากมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการอื่นๆ ในกลุ่มอายุใดๆ ก็ตาม
เนื่องจากภาวะมากกว่าหนึ่งอย่างสามารถส่งผลให้เกิดปัญหาที่สัมพันธ์กับภาวะโพรงสมองคั่งน้ำได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเข้ารับการวินิจฉัยที่ทันเวลาและการรักษาที่เหมาะสม
สาเหตุ
สาเหตุของโพรงสมองคั่งน้ำ
ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำเกิดจากความไม่สมดุล ระหว่างปริมาณน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังที่สังเคราะห์ขึ้น และที่ดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด
น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังสังเคราะห์จากเนื้อเยื่อในโพรงสมอง น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังไหลผ่านโพรงสมองผ่านช่องทางที่เชื่อมต่อกัน แล้วไหลเข้าไปในช่องว่างรอบสมองและกระดูกสันหลัง น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังส่วนใหญ่ ดูดซึมเข้าสู่เส้นเลือดในเนื้อเยื่อใกล้ฐานสมอง
น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังมีบทบาทสำคัญในการทำงานของสมอง โดยการ
- รักษาให้เนื้อสมองลอยตัว ซึ่งทำให้เนื้อสมองที่หนักลอยอยู่ในกะโหลกได้
- รองรับเนื้อสมองเพื่อป้องกันการบาดเจ็บ
- กำจัดของเสียจากกระบวนการเผาผลาญพลังงานของสมอง
- ไหลกลับไปกลับมาระหว่างโพรงสมองและกระดูกสันหลัง เพื่อรักษาความดันให้คงที่ภายในสมอง เป็นการชดเชยความดันเลือดที่เปลี่ยนแปลงภายในสมอง
น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังปริมาณมากเกินไปในโพรงสมอง เกิดขึ้นจากสาเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
- สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือ การอุดกั้นบางส่วนของการไหลของน้ำหล่อสมองไขสันหลังตามปกติ ทั้งจากโพรงสมองหนึ่งไปยังอีกโพรงสมองหนึ่ง หรือจากโพรงสมองไปยังช่องว่างอื่นๆ ภายในสมอง
- การดูดซึมที่ไม่ดี สาเหตุที่พบได้น้อยกว่าคือ ปัญหาเกี่ยวกับกลไกที่หลอดเลือดดูดซึมน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง มักเกิดขึ้นสัมพันธ์กับการอักเสบของเนื้อเยื่อสมองจากการเกิดโรคหรือการบาดเจ็บ
- ที่พบได้น้อยมากคือ กลไกการสังเคราะห์น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง สังเคราะห์น้ำหล่อสมองไขสันหลังมากผิดปกติ และเร็วเกินกว่าที่จะถูกดูดซึมได้
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงของโพรงสมองคั่งน้ำ
มีปัจจัยเสี่ยงสำหรับภาวะโพรงสมองคั่งน้ำมีหลายประการ เช่น
- การเจริญเติบโตที่ผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลาง ที่สามารถอุดกั้นการไหลของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังได้
- ภาวะเลือดออกภายในโพรงสมอง ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เป็นไปได้ของการคลอดก่อนกำหนด
- การติดเชื้อในมดลูกในระหว่างการตั้งครรภ์ เช่น หัดเยอรมัน หรือซิฟิลิส ที่ก่อให้เกิดการอักเสบที่เนื้อเยื่อสมองของทารกในครรภ์ได้
- มีรอยโรคหรือเนื้องอกที่สมองหรือไขสันหลัง
- การติดเชื้อที่ระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบจากแบคทีเรีย หรือคางทูม
- ภาวะเลือดออกในสมองจากโรคหลอดเลือดสมองหรือการบาดเจ็บที่ศีรษะ
- อาการบาดเจ็บอื่นๆ ที่สมอง
การวินิจฉัยและการรักษาโรค
ข้อมูลที่นำเสนอมิได้ใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ ให้ปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยโพรงสมองคั่งน้ำ
หากคุณสงสัยว่า คุณหรือลูกของคุณมีภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ แพทย์จะทำการตรวจร่างกายเพื่อตรวจหาสิ่งบ่งชี้หรืออาการ ในเด็กนั้น แพทย์จะตรวจดวงตาที่โบ๋ลึก ปฏิกิริยาตอบสนองช้า ขม่อมนูน และขนาดศีรษะที่ใหญ่กว่าปกติสำหรับช่วงอายุนี้
นอกจากนี้แพทย์อาจยังใช้การอัลตราซาวนด์เพื่อตรวจสมองอย่างใกล้ชิดมากขึ้น การตรวจวิธีนี้ใช้คลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อสร้างภาพถ่ายของสมอง การตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ประเภทนี้ สามารถใช้ได้กับเด็กทารกที่มีขม่อมเปิดอยู่เท่านั้น
การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ใช้เพื่อตรวจหาอาการบ่งชี้ของภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังมากเกินไป วิธีการตรวจแบบ MRI ใช้สนามแม่เหล็กและคลื่นวิทยุเพื่อสร้างภาพถ่ายของสมองตามแนวขวาง
การตรวจหน้าอกด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ยังสามารถช่วยวินิจฉัยภาวะโพรงสมองคั่งน้ำได้ในเด็กและผู้ใหญ่ การตรวจด้วยวิธี CT scan ใช้คลื่นเอกซเรย์ต่างๆ เพื่อสร้างภาพถ่ายของสมองตามแนวขวาง การตรวจด้วยวิธีนี้สามารถแสดงให้เห็นถึงโพรงสมองที่ขยายตัว ที่เกิดจาก ภาวะน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังมากเกินไป
การรักษาโพรงสมองคั่งน้ำ
ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หากไม่ได้รับการรักษา การรักษาอาจไม่ทำให้ความเสียหายที่สมองที่เกิดขึ้นแล้วหายได้ เป้าหมายการรักษาก็คือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่สมองเพิ่มขึ้น การรักษาทำได้โดยการฟื้นฟูการไหลน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังให้อยู่ในระดับปกติ แพทย์อาจใช้ทางเลือกในการรักษาด้วยการผ่าตัดวิธีใดวิธีหนึ่งดังต่อไปนี้
การใส่ทางลัดโพรงสมอง (Shunt insertion)
ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ จะมีการผ่าตัดใส่ทางลัดโพรงสมอง ทางลัดโพรงสมองเป็นระบบการระบายของเหลว ที่ประกอบด้วยหลอดยาวและวาล์ว โดยวาล์วช่วยให้น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังมีการไหลในอัตราปกติและอยู่ในทิศทางที่ถูกต้อง แพทย์จะใส่ปลายหลอดข้างหนึ่งภายในสมองและใส่ปลายหลอดอีกข้างหนึ่งเข้าไปในอกหรือช่องท้อง แล้วน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังจะถูกระบายจากสมอง ออกทางปลายหลอดข้างหนึ่ง ซึ่งเป็นบริเวณที่สามารถดูดซึมได้ง่ายขึ้น การใส่ทางลัดโพรงสมองมักทำอย่างถาวร และต้องมีการเฝ้าระวังอย่างสม่ำเสมอ
การระบายน้ำไขสันหลังจากโพรงสมอง (Ventriculostomy)
วิธีการรักษาที่เรียกว่าการระบายน้ำไขสันหลังจากโพรงสมอง เป็นทางเลือกในการใส่ทางลัดโพรงสมอง เป็นการสร้างรูในบริเวณโพรงสมองส่วนล่างหรือระหว่างโพรงสมอง ทำให้น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลังระบายออกจากสมองได้
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง
การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยจัดการภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ
ด้วยการรักษาแบบฟื้นฟูและการศึกษาวิจัย ผู้ป่วยจำนวนมากที่มีภาวะโพรงสมองคั่งน้ำสามารถมีชีวิตอยู่ได้ โดยมีข้อจำกัดบางประการ
เด็กที่มีภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ หรือเรียกว่า โรคหัวบาตร หรือโรคหัวแตงโม อาจต้องได้รับการรักษาที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ให้ตรวจสอบสวัสดิการทางสังคมของประเทศของคุณ
โรงพยาบาลและองค์กรอาสาต่างๆ ที่ให้บริการประชาชนที่ขาดโอกาสเป็นแหล่งให้ความช่วยเหลือทางด้านจิตใจ และการรักษาที่ดี ให้ขอความช่วยเหลือจากแหล่งให้ความช่วยเหลือเหล่านี้
หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ
Hello Health Group ไม่ได้ให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค และการรักษาโรคแต่อย่างใด
[embed-health-tool-bmi]