backup og meta

อัมพาต สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet


เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 31/07/2023

    อัมพาต สาเหตุ อาการ วิธีรักษา

    อัมพาต (Paralysis) คือการสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายบางส่วนหรือทั้งหมด เนื่องจากเส้นประสาทไม่สามารถส่งสัญญาณให้กล้ามเนื้อขยับได้ตามปกติ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) การเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะหรือไขสันหลัง การรักษาอัมพาตจะมุ่งเน้นไปที่การรักษาแบบประคับประคองเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวให้ได้มากที่สุดและการทำกายภาพบำบัด

    อัมพาต คืออะไร

    อัมพาต เป็นอาการที่เกิดจากปัญหาทางระบบประสาท ซึ่งเป็นระบบสั่งการและสื่อสารภายในร่างกายที่ทำหน้าที่ส่งสัญญาณจากสมองไปยังส่วนต่าง ๆ ทั่วทั้งร่างกาย เมื่อเส้นประสาทเกิดความเสียหายจะส่งผลให้ไม่สามารถส่งสัญญาณไปยังกล้ามเนื้อและบังคับให้กล้ามเนื้อในส่วนนั้นเคลื่อนไหวได้ ส่งผลให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายไม่สามารถขยับได้ตามปกติ

    อัมพาต เกิดจากอะไร

    โดยส่วนใหญ่ อัมพาตเกิดจากภาวะสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคหลอดเลือดสมองหรือสโตรก ที่มักมาจากหลอดเลือดแดงที่คอหรือสมองอุดตัน ทำให้สมองขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง หรืออาจเกิดได้จากการบาดเจ็บทางร่างกาย เช่น การบาดเจ็บที่ไขสันหลังหรือศีรษะจากอุบัติเหตุทางรถยนต์หรือการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา จนกระทบต่อการทำงานของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท

    นอกจากนี้ อัมพาตยังอาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น ๆ เช่น

    • ความผิดปกติของระบบประสาท เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อในส่วนนั้นของร่างกายถูกทำลายหรือเสื่อมสภาพลง
    • กลุ่มโรคที่เกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันของร่างกาย เช่น กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain Barre syndrome) ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของระบบประสาททำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลัน
    • โรคใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก (Bell’s palsy) เป็นอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้าซีกใดซีกหนึ่ง ทำให้ไม่ขยับใบหน้าซีกนั้นได้ตามปกติ โดยโรคนี้สามารถรักษาให้หายได้
    • ความพิการแต่กำเนิดบางประการ เช่น โรคสไปนา ไบฟิดา (Spina Bifida) ซึ่งเป็นความผิดปกติของกระดูกสันหลังตั้งแต่กำเนิดจนเกิดเป็นช่องว่างในกระดูกสันหลังที่นำไปสู่การเป็นอัมพาต

    อาการอัมพาต เป็นอย่างไร

    อัมพาตจะทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายบางส่วนหรือเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้เลย อาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหันหรือค่อยเป็นค่อยไป ในบางกรณีก็อาจเป็น ๆ หาย ๆ ซึ่งส่วนของร่างกายที่เป็นอัมพาตจะมีอาการดังนี้

  • มีอาการกระตุกของกล้ามเนื้อเป็นครั้งคราว
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง ควบคุมกล้ามเนื้อไม่ได้
  • มีอาการชา ปวด หรือเสียวแปลบ
  • พูดไม่ชัด หน้าเบี้ยว
  • สูญเสียการรับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ 
  • ประเภทของอัมพาต

    อัมพาตอาจแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

    • อัมพาตสมบูรณ์ ทำให้ไม่สามารถขยับหรือควบคุมกล้ามเนื้อส่วนที่เป็นอัมพาตได้เลย และจะสูญเสียประสาทรับความรู้สึกบริเวณนั้นโดยสิ้นเชิง
    • อัมพาตบางส่วน หรือที่เรียกว่าอัมพฤกษ์ ซึ่งจะยังคงมีความรู้สึกบางอย่างและควบคุมกล้ามเนื้อในส่วนนั้นได้บ้าง
    • อัมพาตเฉพาะที่ มีเพียงร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ไม่สามารถขยับเขยื้อนได้ตามปกติ เช่น ใบหน้า มือ เท้า เส้นเสียง

    นอกจากนี้ยังมีอัมพาตแบบทั่วร่างกาย (Generalized paralysis) ซึ่งเป็นกลุ่มอาการที่ส่งผลต่อส่วนต่างๆ ของร่างกายในวงกว้าง ที่อาจแบ่งได้ดังนี้

    • โมโนเพลเจีย เกิดที่แขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่ง
    • ดิพลีเจีย เกิดที่ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเท่ากันทั้งสองข้าง เช่น แขนทั้งสองข้าง ใบหน้าทั้งสองซีก
    • เฮมิพลีเจีย (อัมพาตครึ่งซีก) ที่เกิดขึ้นที่บริเวณร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง มักเกิดจากโรคหลอดเลือดสมองซึ่งทำลายสมองซีกเดียว
    • เตตราพลีเจีย หรือ ควอดริพลีเจีย แขนขาทั้งสี่ข้างเป็นอัมพาต มักเกิดจากอาการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง
    • พาราพลีเจีย เกิดที่ส่วนของร่างกายตั้งแต่เอวลงไป
  • กลุ่มอาการ LIS (Locked-in syndrome) เป็นอาการอัมพาตทั้งตัวที่พบได้ไม่บ่อยและรุนแรงที่สุด ทำให้สูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อทั้งหมดยกเว้นกล้ามเนื้อที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของดวงตา
  • อัมพฤกษ์ อัมพาต ต่างกันอย่างไร

    อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นกลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่แตกต่างกันตรงที่ผู้เป็นอัมพฤกษ์ยังสามารถขยับส่วนของร่างกายได้บ้างและยังพอใช้งานกล้ามเนื้อส่วนนั้นได้อยู่ ร่วมกับการมีอาการปวดหรือชา และอาจรักษาให้หายได้ ทั้งนี้ ความสามารถในการฟื้นตัวและระยะเวลาในการรักษาจะขึ้นอยู่กับสภาพร่างกาย ความรวดเร็วในการรักษา และความต่อเนื่องของการทำกายภาพบำบัด ในขณะที่อัมพาตจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถขยับเขยื้อนส่วนของร่างกายได้เลย ซึ่งมีความรุนแรงกว่าการเป็นอัมพฤกษ์

    แนวทางการรักษาอัมพาต

    อัมพาตเป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตผู้ป่วยและคนรอบข้างที่เป็นดูแล การรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยการดูแลจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอัมพาต แนวทางในการดูแลผู้ป่วยอัมพาต อาจมีดังนี้

    • อุปกรณ์ช่วยในการเคลื่อนที่ เช่น รถเข็น อุปกรณ์พยุงแขนหรือขา
    • กายภาพบำบัด เพื่อช่วยฟื้นฟูความเสื่อมสภาพของกล้ามเนื้อ คงสภาพกล้ามเนื้อไม่ให้อ่อนแรงหรือลีบ กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อป้องกันข้อต่อส่วนต่าง ๆ ยึดติด
    • กิจกรรมบำบัด นักกิจกรรมบำบัดจะช่วยให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพร่างกายได้ดีขึ้นและช่วยให้สามารถทำกิจวัตรประจำวันอย่างการทำอาหาร การแต่งตัว ได้ง่ายขึ้น
    • ยารักษา คุณหมอจะให้ยาบรรเทาอาการปวด กล้ามเนื้อแข็งตึง และกล้ามเนื้อกระตุก 

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    Duangkamon Junnet


    เขียนโดย ทีม Hello คุณหมอ · แก้ไขล่าสุด 31/07/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา