backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

Stroke คือ อะไร อาการ สาเหตุและการรักษา

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/11/2022

Stroke คือ อะไร อาการ สาเหตุและการรักษา

Stroke คือ โรคหลอดเลือดสมองที่เกิดขึ้นเมื่อเลือดไม่สามารถไหลเวียนเพื่อส่งออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงสมองได้อย่างเป็นปกติ ส่งผลให้เซลล์สมองตายและอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้น โรคหลอดเลือดสมองจึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจส่งผลต่อชีวิตและความพิการในระยะยาว

คำจำกัดความ

Stroke คือ อะไร

Stroke คือ คือโรคที่เกิดขึ้นเมื่อเลือดไม่สามารถไหลไปเลี้ยงสมองได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากหลอดเลือดมีความผิดปกติที่ทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวกเท่าที่ควร ทำให้เนื้อเยื่อสมองไม่ได้รับออกซิเจนและสารอาหาร จนเซลล์สมองเริ่มตายลงภายในเวลาเพียงไม่กี่นาทีและอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

อาการ

อาการของ Stroke คือ

ควรสังเกตอาการต่อไปนี้ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคหลอดเลือดสมอง

  • มีปัญหาในการพูด อาจรู้สึกสับสน พูดไม่ชัด หรือมีปัญหาในการทำความเข้าใจคำพูด
  • เป็นอัมพาตหรือชาที่ใบหน้า แขนหรือขา ซึ่งเป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน มักส่งผลต่อร่างกายเพียงด้านเดียว
  • ปัญหาในการมองเห็นในตาข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง โดยอาจมีการมองเห็นที่พร่ามัวอย่างฉับพลัน
  • ปวดศีรษะ โดยอาการปวดศีรษะรุนแรงจะเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และอาจมีอาการอาเจียน วิงเวียนศีรษะ สับสน มึนงงร่วมด้วย
  • ปัญหาในการเดิน อาจรู้สึกสูญเสียการทรงตัว และอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะกะทันหันหรือสูญเสียการประสานงานของร่างกาย

นอกจากนี้ หากพบอาการต่อไปนี้ควรเข้าพบคุณหมอทันที

  • ใบหน้าไม่เท่ากัน โดยหากกำลังยิ้มแล้วใบหน้าข้างใดข้างหนึ่งหย่อนลง หรือตาปิดลงเองไม่สามารถควบคุมได้
  • หากยกแขนขึ้นทั้ง 2 ข้างแล้วแขนข้างใดข้างหนึ่งไม่สามารถยกขึ้นได้
  • ในขณะพูดไม่สามารถพูดเป็นประโยคได้ แต่พูดได้เพียงเป็นคำ ๆ หรือไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้

สาเหตุ

สาเหตุของ Stroke คือ

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองอาจมีด้วยกัน 2 สาเหตุ คือ ภาวะหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) และภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งสาเหตุที่พบได้น้อยซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในบางคน คือ ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient Ischemic Attack หรือ TIA) ดังนี้

ภาวะหลอดเลือดสมองแตก

ภาวะหลอดเลือดสมองแตกเกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดในสมองแตกหรือรั่ว จนทำให้เกิดเลือดออกในสมอง โดยอาจมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  • ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ
  • ความดันโลหิตสูงที่ไม่สามารถควบคุมได้
  • การรักษาด้วยยาต้านการแข็งตัวของเลือดที่มากเกินไป
  • ผนังหลอดเลือดโป่งพอง
  • การบาดเจ็บ เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ ล้มหัวฟาดพื้น
  • การสะสมของโปรตีนในผนังหลอดเลือดที่ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอลง

ภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน

ภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่อาจพบได้บ่อย เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ทำให้การไหลเวียนเลือดลดลงอย่างรุนแรง ส่งผลให้สมองขาดออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากการสะสมของไขมันและลิ้มเลือดภายในหลอดเลือด จนทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนได้อย่างสะดวก

ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว

ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวเป็นภาวะที่คล้ายกับโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งเกิดจากเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองบางส่วนลดลงชั่วคราว เนื่องจากการอุดตันของหลอดเลือด ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้นโดยอาจใช้ระยะเวลาประมาณ 5 นาที จากนั้นจะกลับมาเป็นปกติอีกครั้ง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยง Stroke คือ

ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง มีดังนี้

  • ผู้ที่มีประวัติส่วนตัวหรือครอบครัวเคยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หัวใจวาย หรือภาวะขาดเลือดชั่วคราว
  • ผู้ที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป อาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าผู้ที่มีอายุน้อย
  • ผู้ชายอาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน โดยผู้ชายอาจมีแนวโน้มในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิง
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
  • ผู้ที่ไม่ออกกำลังกาย
  • ผู้ที่สูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่มือสอง
  • ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก และผู้ที่ใช้ยาเสพติด
  • การใช้ยาคุมกำเนิดหรือการรักษาด้วยฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
  • ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง
  • โรคเบาหวาน
  • หยุดหายใจขณะหลับ
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ ภาวะหัวใจล้มเหลว หัวใจบกพร่อง การติดเชื้อที่หัวใจ จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ
  • การติดเชื้อโควิด 19

การวินิจฉัยและการรักษา

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัย Stroke คือ

คุณหมออาจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองได้ ดังนี้

  • การตรวจร่างกาย เช่น ฟังจังหวะการเต้นของหัวใจ ตรวจความดันโลหิต ตรวจทางระบบประสาท
  • การตรวจเลือด เพื่อดูการแข็งตัวของเลือด ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด และการติดเชื้อในกระแสเลือด
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อตรวจความผิดปกติของสมอง เช่น เลือดออกในสมอง โรคหลอดเลือดสมองตีบ เนื้องอก
  • การตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อตรวจหาเนื้อเยื่อสมองที่เสียหายจากโรคหลอดเลือดสมองตีบและเลือดออกในสมอง
  • อัลตราซาวนด์ เพื่อตรวจการสะสมของไขมันในหลอดเลือดและการไหลเวียนของเลือด
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อตรวจดูการอุดตันของหลอดเลือดในหัวใจที่อาจส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดจากหัวใจไปยังสมอง ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้

การรักษา Stroke คือ

การรักษาอาจขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง ดังนี้

ภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน

เป็นการรักษาเพื่อช่วยฟื้นฟูการไหลเวียนเลือดไปยังสมอง ดังนี้

  • ยาสลายลิ่มเลือดฉุกเฉิน เพื่อช่วยสลายลิ่มเลือดโดยคุณหมอจะต้องให้ยาภายใน 4 ชั่วโมงครึ่งนับจากที่เริ่มมีอาการ ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตและลดภาวะแทรกซ้อน
  • การใส่สายสวนหลอดเลือดฉุกเฉิน เป็นการรักษาโรคหลอดเลือดสมองภายในหลอดเลือดที่ตีบหรืออุดตันโดยตรง ซึ่งอาจช่วยลดความพิการในระยะยาวที่เกิดจากโรคหลอดเลือดสมองได้ โดยคุณหมอจะส่งยาไปตามสายสวนเพื่อส่งตรงไปยังสมอง จากนั้นจะใช้อุปกรณ์ที่ติดอยู่กับสายสวน เพื่อเอาก้อนเลือดที่อุดตันอยู่ในหลอดเลือดสมองออก

ภาวะหลอดเลือดสมองแตก

เป็นการรักษาเพื่อควบคุมภาวะเลือดออกในสมองและความดันในสมองที่เกิดจากของเหลวส่วนเกิน ดังนี้

  • การรักษาในกรณีฉุกเฉิน โดยคุณหมอจะพิจารณาอาการของผู้ป่วยและอาจพิจารณาให้ยาลดความดันในสมอง ลดความดันโลหิต ป้องกันการหดเกร็งของหลอดเลือด และป้องกันการชัก
  • การผ่าตัด หากเลือดออกมากคุณหมออาจทำการผ่าตัดเอาเลือดออกและลดความดันในสมอง ซึ่งการผ่าตัดอาจช่วยซ่อมแซมปัญหาหลอดเลือดที่เกี่ยวข้องกับโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดแดงโป่งพอง หลอดเลือดแดงผิดรูป หรือปัญหาหลอดเลือดประเภทอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองแตก
  • การผ่าตัดหยุดเลือด คุณหมอจะใช้ที่หนีบขนาดเล็กหนีบบริเวณฐานของหลอดเลือดที่โป่งพองเพื่อหยุดการไหลเวียนของเลือด รวมถึงป้องกันไม่ให้หลอดเลือดโป่งพองและแตก
  • การอุดหลอดเลือด เป็นการใช้สายสวนสอดเข้าไปในหลอดเลือดแดง จากนั้นใส่ขดลวดขนาดเล็กที่ถอดออกได้เข้าไปในหลอดเลือดโป่งพอง เพื่อช่วยขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไปยังหลอดเลือดโป่งพองและทำให้เลือดจับตัวเป็นก้อน
  • การผ่าตัดกำจัดเส้นเลือดที่มีปัญหา เพื่อกำจัดเส้นเลือดขนาดเล็กที่มีปัญหาออก ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงของการแตกและลดความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดสมอง
  • การผ่าตัดด้วยการฉายรังสี เป็นการรักษาขั้นสูงที่มีการบุกรุกเนื้อเยื่อสมองน้อยที่สุด ซึ่งใช้ในการซ่อมแซมความผิดปกติของหลอดเลือด

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อจัดการกับโรคหลอดเลือดสมอง

การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมเป็นวิธีที่อาจช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้ ดังนี้

  • การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ โดยควรเน้นรับประทานผักและผลไม้ที่มีเส้นใยสูงเพื่อช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลและไขมัน นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น ขนมขบเคี้ยว อาหารแปรรูป เนื้อสัตว์ติดมันและติดหนัง เพื่อป้องกันไขมันสะสมในหลอดเลือดที่อาจทำให้เกิดการอุดตัน
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยการออกกำลังกายความเข้มข้นปานกลาง เช่น วิ่ง เดินเร็ว ว่ายน้ำ เต้นแอโรบิก อย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์ หรือ 30 นาที/วัน เพื่อช่วยเผาผลาญงานส่วนเกินไปร่างกาย และลดการสะสมของไขมันที่อาจสะสมอยู่หลอดเลือด
  • ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยผู้ชายไม่ควรดื่มเกิน 2 แก้ว/วัน และผู้หญิงไม่ควรดื่มเกิน 1 แก้ว/วัน เนื่องจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปอาจส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดและความแข็งแรงของหลอดเลือดได้
  • งดสูบบุหรี่ เนื่องจากสารเคมีในควันบุหรี่อาจทำให้เนื้อเยื่ออักเสบและอาจส่งผลต่อความแข็งแรงของหลอดเลือดได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

สิฏฐิณิศา รัชตวโรทัย


เขียนโดย ทัตพร อิสสรโชติ · แก้ไขล่าสุด 28/11/2022

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา