backup og meta

โรคหัวใจอาการ และนิยามของโรคหัวใจ

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย นายแพทย์พีรธัช โรจนพันธุ์ · โรคหัวใจ · สถาบันโรคทรวงอก


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/08/2022

    โรคหัวใจอาการ และนิยามของโรคหัวใจ

    โรคหัวใจ คือ ปัญหาสุขภาพหรือความผิดปกติต่าง ๆ เกี่ยวกับหัวใจ ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจวาย โรคลิ้นหัวใจ หรือโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยทั่วไป เมื่อเป็น โรคหัวใจอาการ ที่เกิดขึ้น ได้แก่ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก เหนื่อยง่าย หน้ามืด และหมดสติ ทั้งนี้ โรคหัวใจอาจป้องกันได้ เช่น งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

    นิยามของ โรคหัวใจ

    โรคหัวใจ หมายถึง ปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย

    โรคหัวใจพบบ่อยในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ซึ่งเผยแพร่ในปี พ.ศ. 2563 ระบุว่า การเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ คิดเป็นร้อยละ 11.53 ของอัตราการเสียชีวิตทั้งหมดในประเทศไทย

    โรคหัวใจอาการ ที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

    โรคหัวใจที่พบบ่อยที่สุดในผู้สูงอายุคือ โรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเกิดจากสะสมหรืออุดตันของคอเลสเตอรอลหรือไขมันในหลอดเลือดหัวใจ จนเป็นเหตุให้ออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ ไม่สามารถลำเลียงผ่านหลอดเลือดเพื่อไปเลี้ยงหัวใจได้เพียงพอ ทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เกิดอาการแน่นหน้าอก เหนื่อง่าย และกล้ามเนื้อหัวใจตายได้

    โรคหัวใจที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ได้แก่

  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันหรือตีบแคบลงอย่างเฉียบพลัน ซึ่งเป็นเหตุให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่บีบตัว หัวใจเต้นผิดจังหวะ และหยุดเต้นเฉียบพลันได้ ทั้งนี้ หากผู้ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและไม่ได้รับการช่วยเหลือทันเวลา อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นโรคที่หัวใจเต้นช้าหรือเร็วกว่า 60-100 ครั้ง/นาที เนื่องจากคลื่นไฟฟ้าหัวใจถูกรบกวนซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคโควิด-19 ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ พันธุกรรม หรือความเครียด
  • โรคลิ้นหัวใจ หมายถึง การเปิดหรือปิดของลิ้นหัวใจที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดในร่างกายผิดปกติ หากปล่อยไว้โดยไม่รักษาอาจนำไปสู่การเสียชีวิตเพราะหัวใจล้มเหลวได้ ทั้งนี้ โรคลิ้นหัวใจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ความเสื่อมโทรมของร่างกายเมื่ออายุมากขึ้น การติดเชื้อ โรคหัวใจอื่น ๆ โดยโรคลิ้นหัวใจแบ่งได้เป็น โรคลิ้นหัวใจรั่ว และโรคลิ้นหัวใจตีบ
  • โรคหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจวาย เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ปัญหาเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ ภาวะเหล็กเกินในร่างกาย (Hemochromatosis) กรรมพันธุ์ การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือการใช้สารเสพติด ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตายหรือบีบตัวได้ไม่ดี ทำให้ประสิทธิภาพในการสูบฉีดเลือดลดลง หรือเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว ส่งผลให้มีภาวะน้ำท่วมปอดตามมาได้
  • โรคหัวใจอาการเป็นอย่างไร

    อาการของโรคหัวใจชนิดต่าง ๆ มีดังนี้

    • เจ็บหน้าอก
    • แน่นหน้าอก
    • หายใจลำบาก
    • หน้ามืด หมดสติ
    • รู้สึกอ่อนแรง
    • ใจสั่น
    • เท้าหรือหน้าแข้งบวม นอนราบไม่ได้ต้องนอนหัวสูง หรือลุกขึ้นมานั่งในเวลากลางคืน

    ทั้งนี้ เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หรือหน้ามืด ควรรีบไปพบคุณหมอทันที เพราะหากได้รับการรักษาช้าเกินไปอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

    โรคหัวใจ ป้องกันอย่างไรได้บ้าง

    โรคหัวใจ อาจป้องกันได้ หากปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

    • ควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปลอดภัย หรือประมาณ 120/80 มิลลิเมตรปรอท
    • ควบคุมค่าไขมันในเลือดหรือระดับคอลเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ให้อยู่ในระดับต่ำ หรือไม่เกิน 130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
    • นอนหลับให้เพียงพอ หรือประมาณ 7-9 ชั่วโมง/วัน เพราะหากร่างกายได้รับการพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้
    • ควบคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน เพราะระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไปอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้หลอดเลือดหัวใจอุดตันได้
    • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับคอเลสเตอรอล และระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย
    • งดสูบบุหรี่ เพราะสารนิโคตินและสารเคมีอื่น ๆ ในบุหรี่อาจก่อให้เกิดการสะสมหรืออุดตันของไขมันในหลอดเลือดได้
    • จัดการความเครียด เนื่องจากสารเคมีที่ร่างกายหลั่งออกมาเมื่อมีความเครียดมักออกฤทธิ์กระตุ้นให้หลอดเลือดตีบลง และความดันโลหิตพุ่งสูงขึ้น

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    นายแพทย์พีรธัช โรจนพันธุ์

    โรคหัวใจ · สถาบันโรคทรวงอก


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 31/08/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา