backup og meta

อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) หรือการบำบัดด้วยกลิ่นหอม ดีต่อสุขภาพยังไงบ้าง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 26/10/2020

    อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) หรือการบำบัดด้วยกลิ่นหอม ดีต่อสุขภาพยังไงบ้าง

    เวลามีปัญหาสุขภาพ หรือเจ็บป่วย หลายคนน่าจะนึกถึงวิธีการบำบัดรักษาโรคด้วยการใช้ยา แต่คุณรู้ไหมว่า ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยบำบัดรักษา หรือบรรเทาปัญหาสุขภาพบางประการได้ เช่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน เครียดจัด วิธีนั้นก็คือ อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) หรือการบำบัดด้วยกลิ่นหอม นั่นเอง หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังสนใจวิธีบำบัดรักษาโรควิธีนี้ แนะนำให้อ่านบทความนี้ของ Hello คุณหมอ โดยด่วน คุณจะได้รู้ว่า อโรมาเธอราพีคืออะไร และมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง

    อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) คืออะไร

    อโรมาเธอราพี (Aromatherapy) หรือสุคนธบำบัด หมายถึงการบำบัดด้วยกลิ่นหอม หรือกลิ่นบำบัด จัดเป็นวิธีบำบัดรักษาโรคแบบองค์รวมรูปแบบหนึ่งที่ใช้สารสกัดจากพืชธรรมชาติมาช่วยส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะทั้งทางกายและทางใจ นั่นคือ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้สุขภาพกายใจแข็งแรง แต่ยังช่วยให้เราดำรงชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขด้วย

    อโรมาเธอราพี บางครั้งเรียกว่า การบำบัดด้วยน้ำมันหอมระเหย เพราะมักจะใช้น้ำมันหอมระเหยที่มีสรรพคุณเป็นยามาพัฒนาสุขภาพกาย และสุขภาพใจให้แข็งแรงขึ้น และคนส่วนหนึ่งยังเชื่อว่า อโรมาเธอราพีนั้นส่งผลดีต่อวิญญาณ (Spirit) ของเราด้วย

    มนุษย์เราใช้อโรมาเธอราพีเพื่อผลประโยชน์ทางการแพทย์และทางความเชื่อมากว่าพันปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัฒนธรรมอินเดีย จีน และอียิปต์ แต่คำว่า “Aromatherapy”  ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในหนังสือของนักเคมีและนักปรุงน้ำหอมชาวฝรั่งเศสชื่อว่า เรเน่-มัวริส กาเตฟอเซ่ (René-Maurice Gattefossé) ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1937 เขาค้นพบว่า ลาเวนเดอร์มีคุณสมบัติในการรักษาแผลไฟไหม้ ซึ่งในหนังสือมีการอธิบายเกี่ยวกับการใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ

    อโรมาเธอราพีทำงานอย่างไร

    ในปัจจุบัน ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่า อโรมาเธอราพี หรือสุคนธบำบัดทำงานต่อระบบในร่างกายอย่างไร ถึงช่วยบรรเทาปัญหาสุขภาพบางประการได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนเชื่อว่า กลิ่นที่ใช้ในการทำอโรมาเธอราพีจะไปกระตุ้นเซลล์ประสาทรับกลิ่นที่อยู่บริเวณเพดานภายในช่องจมูก จากนั้นเซลล์รับกลิ่นจะส่งกระแสประสาทผ่านเส้นประสาทไปยังสมอง เพื่อให้สมองแปลสัญญาณกลิ่นที่ได้รับ

    จากนั้นกลิ่นอาจไปกระตุ้นบางส่วนของสมอง เช่น ระบบลิมบิก (Limbic system) ซึ่งมีหน้าที่ในการแสดงอารมณ์ และอาจส่งผลต่อสมองส่วนไฮโพทาลามัส (Hypothalamus) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการเต้นของหัวใจ อุณหภูมิร่างกาย ความดันโลหิต ความต้องการพื้นฐาน รวมถึงการสร้างฮอร์โมนหลายชนิด สมองจึงหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) หรือที่เรียกว่าสารแห่งความสุขออกมามากขึ้น

    นอกจากนี้ ก็ยังมีผู้เชี่ยวชาญอีกส่วนที่เชื่อว่า เมื่อคุณหยดน้ำมันหอมระเหยลงบนผิว จะทำให้เกิดปฏิกิริยาตตอบสนองทั้งที่ผิวหนัง และอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น ข้อต่อ ซึ่งส่งผลดีต่อสุขภาพ

    กลิ่นบำบัดมาในรูปแบบใดบ้าง

    กลิ่นบำบัด หรืออโรมาเธอราพี มักใช้น้ำมันหอมระเหยในการบำบัดรักษาโรค หรือส่งเสริมสุขภาพ น้ำมันหอมระเหยส่วนใหญ่เป็นสารที่สกัดมาจากส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น ดอก ใบ ผล เปลือก โดยใช้กระบวนการ เช่น การสกัดร้อน การสกัดเย็น บางครั้งอาจต้องใช้พืชหลายกิโลกรัมเพื่อสกัดออกมาเป็นน้ำมันหอมระเหยขวดเล็ก ๆ เพียงขวดเดียว นั่นทำให้น้ำมันหอมระเหยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะน้ำมันหอมระเหยบริสุทธิ์ หรือที่สกัดจากพืชธรรมชาติ 100% มีราคาแพงมาก

    น้ำมันหอมระเหยมีเกือบร้อยชนิด ที่คนนิยมใช้ เช่น น้ำมันหอมระเหยดอกลาเวนเดอร์ น้ำมันหอมระเหยจากเปลือกส้ม น้ำมันหอมระเหยยูคาลิปตัส น้ำมันหอมระเหยทีทรี น้ำมันหอมระเหยตะไคร้หอม

    โดยปกติแล้ว อโรมาเธอราพีหรือกลิ่นบำบัดจะทำงานผ่านประสาทรับรู้กลิ่น หรือการดูดซึมทางผิวหนัง วิธีการใช้น้ำมันหอมระเหยในการอโรมาเธอราพี นอกจากคุณจะหยดน้ำมันลงบนผิวหนังบริเวณที่ต้องการแล้ว คุณยังสามารถทำอโรมาเธอราพีด้วยน้ำมันหอมระเหยได้ โดยใช้อุปกรณ์ เช่น

    • อุปกรณ์กระจายกลิ่นหอม (Diffuser)
    • สเปรย์อโรมา
    • เกลืออาบน้ำขัดผิวผสมน้ำมันหอมระเหย
    • น้ำมัน ครีม หรือโลชั่นสำหรับนวดหรือทาผิวกายที่ผสมน้ำมันหอมระเหย
    • เครื่องอบไอน้ำผิวหน้า
    • ที่ประคบร้อนหรือประคบเย็นที่ผสมน้ำมันหอมระเหย
    • โคลนหมักหน้าที่มีน้ำมันหอมระเหยเป็นส่วนผสม

    เวลาเลือกน้ำมันหอมระเหยมาใช้ในการอโรมาเธอราพี ควรเลือกน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติ 100% หลีกเลี่ยงน้ำมันหอมระเหยที่มีส่วนผสมของสารเคมี หรือทำจากสารเคมี 100% เพราะอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่าผลดี

    ประโยชน์ของอโรมาเธอราพี

    ผลการศึกษาวิจัยชี้ว่า อโรมาเธอราพี หรือการบำบัดด้วยกลิ่นหอม มีประโยชน์ต่อสุขภาพดังต่อไปนี้

  • ช่วยคลายเครียด คลายความวิตกกังวล และบรรเทาอาการซึมเศร้า
  • ช่วยกระตุ้นให้คุณรู้สึกดี รู้สึกผ่อนคลาย
  • ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
  • ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ภาวะสมองเสื่อม
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดบางชนิด เช่น ปวดศีรษะ ปวดไมเกรน อาการปวดจากนิ่วในไต อาการปวดจากโรคข้อเข่าอักเสบ
  • ช่วยต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรีย เมื่อหยดลงบนผิวหนัง
  • ช่วยลดผลข้างเคียงบางประการจากการรักษามะเร็ง เช่น อาการคลื่นไส้ อาการปวด
  • ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร
  • ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
  • อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญก็แนะนำว่า อโรมาเธอราพีไม่สามารถทดแทนการรักษาด้วยยารักษาโรคได้ ฉะนั้น หากคุณต้องการใช้วิธีอโรมาเธอราพีในการบำบัดรักษา หรือบรรเทาปัญหาสุขภาพใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญก่อนเสมอ

    ผลข้างเคียงของอโรมาเธอราพี

    อโรมาเธอราพีถือเป็นวิธีบำบัดรักษาโรค และส่งเสริมสุขภาพที่ปลอดภัยสำหรับคนทั่วไป แต่น้ำมันหอมระเหยก็อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางประการได้ เช่น

    • ระคายเคืองตา ผิวหนัง หรือเยื่อบุในจมูก
    • ปวดศีรษะ
    • คลื่นไส้ อาเจียน
    • โรคหอบหืด
    • ปฏิกิริยาภูมิแพ้ระดับอ่อน

    น้ำมันหอมระเหยบางชนิดอาจส่งผลเสียต่อตับ หรือไตได้ด้วย หากคุณเผลอกลืนเข้าไป

    หากคุณเป็นโรคลมชัก โรคความดันโลหิตสูง โรคผิวหนังอักเสบ โรคสะเก็ดเงิน โรคหอบหืด โรคไข้ละอองฟาง ก็ควรใช้น้ำมันหอมระเหยในการทำอโรมาเธอราพีอย่างระมัดระวัง หรือควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจใช้

    ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า คุณไม่ควรหยดน้ำมันหอมระเหยลงบนผิวหนังโดยตรง แต่ควรผสมน้ำมันหอมระเหยกับน้ำมันตัวพา (Carrier oil) เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันอัลมอนด์ ก่อนทาลงบนผิวหนัง และทางที่ดีควรทดสอบอาการแพ้ก่อนตัดสินใจใช้จริงด้วย

    นอกจากนี้ น้ำมันหอมระเหยบางชนิด เช่น น้ำมันหอมระเหยเลมอน น้ำมันหอมระเหยมะนาว ก็อาจทำให้ผิวหนังของคุณไวต่อแสงแดดมากขึ้นด้วย ฉะนั้น หากคุณทาน้ำมันหอมระเหยดังกล่าว ก็ควรทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน และควรหลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดดจัดด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 26/10/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา