backup og meta

บ้างาน เสพติดการทำงาน เช็กด่วน! คุณกำลังมีอาการแบบนี้อยู่รึเปล่า

บ้างาน เสพติดการทำงาน เช็กด่วน! คุณกำลังมีอาการแบบนี้อยู่รึเปล่า

งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข แต่ทำงานหนักมากไป อาจกลายเป็นคน บ้างาน หรือ เสพติดการทำงาน ได้ ซึ่งการเสพติดงานนั้น ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ในระยะยาวอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ แต่…เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังบ้างาน  วันนี้ Hello คุณหมอ มีสัญญาณของการบ้างานมาฝากค่ะ

บ้างาน คืออะไร

มีอยู่หลายคำจำกัดความทีเดียวที่ใช้เพื่ออธิบายถึงขอบเขตและความหมายของคำว่าบ้างาน หรือ เสพติดการทำงาน (Workaholic) ซึ่งก็มักจะหนีไม่พ้นคำอธิบายที่ว่า การบ้างาน คือสภาวะของบุคคลผู้ซึ่งหมกหมุ่นอยู่กับการทำงานตลอดเวลา ทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างหนักหน่วงในการทำงาน แม้จะเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์หรือวันหยุดยาว ก็ยังคงใช้เวลาจดจ่ออยู่กับภาระงาน จนเรียกได้ว่าเป็นการเสพติดงาน

อาการ เสพติดงาน นี้ ก็คล้ายกับอาการเสพติดชนิดอื่นๆ คือไม่สามารถที่จะหยุดได้จนกว่าจะประสบความสำเร็จหรือบรรลุผล เป้าหมายของผู้ที่ทุ่มเทในการทำงานอาจเป็นตำแหน่งที่สูงขึ้น เงินเดือนที่มากขึ้น โบนัสที่เพิ่มขึ้น หรือเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น

ช่างฟังดูเป็นตัวอย่างของความตั้งใจทำงาน และสร้างแรงผลักดันในการบรรลุเป้าหมายเสียจริงๆ แต่ทว่า อาการเสพติดก็มักจะมีผลกระทบที่ไม่ต่างกันสักเท่าไรไม่ว่าจะเป็นการเสพติดการกินหวาน เสพติดยา หรือเสพติดงาน สิ่งที่จะเข้ามาหยุดอาการเสพติดเหล่านี้ได้ ก็คือปัญหาทางสุขภาพ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ร่างกายเริ่มเจ็บป่วยหรือทรุดโทรมลง ผู้ที่ เสพติดการทำงาน ก็จะรู้สึกตัวได้ว่าถึงเวลาแล้วล่ะที่จะต้องหยุดหรือพักงานลงบ้าง

สัญญาณที่บอกว่ากำลัง บ้างาน

นักวิจัยภาควิชาจิตวิทยาสังคมศาสตร์ (The Department of Psychosocial Science) แห่งมหาวิทยาลัยเบอร์เกน (University of Bergen) ประเทศนอร์เวย์ ได้สร้างแบบสอบถามเพื่อสำรวจว่าคุณกำลังมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า เสพติดการทำงาน หรือไม่ ดังนี้

  • ต้องการที่จะเพิ่มเวลาในการทำงานให้มากขึ้นหรือไม่
  • เวลาที่ใช้ในการทำงานจริงๆ มากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่
  • ทำงานตามคำสั่งเพื่อลดความรู้สึกผิด ลดความวิตกกังวล ลดความรู้สึกไร้ค่าในตัวเองหรือไม่
  • มีคนบอกให้เพลาๆ เรื่องงานลงบ้าง แต่คุณก็ไม่สนใจฟังหรือไม่
  • รู้สึกเครียดหากไม่ได้ทำงาน หรือมีคนมาสั่งห้ามไม่ให้ทำงานหรือไม่
  • ไม่มีเวลาไปทำงานอดิเรก พักผ่อนในวันหยุด หรือออกกำลังกาย เพราะใช้เวลาทั้งหมดไปกับการทำงานหรือไม่
  • มีอาการทางสุขภาพเนื่องจากการทำงานหนักหรือไม่

จากคำถามทั้ง 7 ข้อนี้ หากคุณตอบว่า “ใช่” “มีบ้าง” หรือ “ทุกครั้ง” ตั้งแต่ 4 ข้อขึ้นไปล่ะก็ นั่นเป็นสัญญาณว่าคุณเริ่มมีอาการ เสพติดการทำงาน เข้าแล้ว

หรือคุณอาจสังเกตตนเองว่ามีพฤติกรรมดังต่อไปนี้เป็นประจำหรือไม่ ถ้าหากใช่มากกว่า 4 ข้อขึ้นไปล่ะก็ ถือว่าคุณมีอาการ เสพติดการทำงาน แล้วเช่นกัน

  • ยังคงทำงานอยู่แม้ว่าจะเลยเวลาทำงานไปแล้วก็ตาม
  • นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอเพราะต้องใช้เวลาไปกับการทำงานให้เสร็จเรียบร้อย
  • หมกหมุ่นอยู่กับการสร้างความสำเร็จจากการทำงาน
  • กลัวว่างานจะล้มเหลวหรือไม่เป็นดังที่คาดหวัง
  • วิตกกังวลหากประสิทธิภาพในการทำงานของตนเองลดน้อยลง
  • มีปัญหาในเรื่องความสัมพันธ์กับชีวิตคู่ คนรัก เพื่อน ครอบครัว เพราะทำงาน
  • ใช้เรื่องงานเป็นเหตุผลในการไม่เข้าสังคมกับผู้อื่น
  • มีเวลาให้กับครอบครัว คนรัก เพื่อน น้อยลง

ผลกระทบต่อสุขภาพ

ความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการ เสพติดการทำงาน ที่มักจะพบได้บ่อยๆ ก็คือความเครียดสะสม ซึ่งเกิดจากจากการหมกหมุ่นและแก้ไขปัญหาในการทำงาน ระยะยาวอาจนำมาซึ่งภาวะซึมเศร้า ออฟฟิศซินโดรม การกดทับที่เส้นประสาทหรือหมอนรองกระดูกคอ เป็นต้น

นอกจากนี้ อาการเสพติดงานยังส่งผลให้มีการนอนหลับและพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ซึ่งเมื่อสะสมไปนานๆ เข้า ก็เสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาหารทางสุขภาพเรื้อรังด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะความดันโลหิตสูง หรือบางรายที่มักจะสูบบุหรี่ในเวลาทำงาน ก็อาจมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโรคปอดหรือระบบทางเดินหายใจด้วยเช่นกัน

ทำอย่างไรเมื่อกลายเป็นคนบ้างาน

หากคุณเป็นคนที่ เสพติดการทำงาน และเริ่มที่จะสัมผัสถึงอาการทางสุขภาพที่เกิดขึ้นแล้ว นั่นแปลว่าถึงเวลาแล้วที่คุณจะต้องเริ่มปรับเปลี่ยนชีวิตการทำงานให้เข้าสู่รูปแบบชีวิตการทำงานที่สมดุล หรือ Work life balance ดังนี้

  • ปรับตารางการทำงานเสียใหม่ เพิ่มเวลาพักผ่อนเข้ามาในตารางงานบ้าง
  • ปรับเวลาการเข้านอนให้เหมาะสม เลิกเข้านอนดึกโดยไม่จำเป็น
  • หาเวลาพักให้กับตัวเอง ไปเที่ยว ไปดูหนัง หรือไปพักร้อนบ้าง
  • พยายามหลีกเลี่ยงการนำงานกลับมาทำที่บ้าน
  • ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างบ้าง 
  • ปรับวิธีคิดในการทำงาน เน้นการทำงานที่ควบคู่ไปกับความสุข มากกว่าที่จะต้องเครียดอยู่ตลอดเวลา
  • เชื่อใจเพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมทีมในการทำงาน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องแบกรับงานมาทำเพียงคนเดียว
  • หากเป็นไปได้ พยายามเลือกทำงานกับบริษัทที่มีวัฒนธรรมองค์กรแบบ Work life balance เพื่อที่จะได้เปลี่ยนบรรยากาศในการทำงานให้ดูผ่อนคลายมากขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

How to Tell If You Are Addicted to Work. https://www.verywellmind.com/could-you-be-addicted-to-work-4129047. Accessed on September 24, 2020.

Are You A Workaholic?. https://health.clevelandclinic.org/are-you-a-workaholic/. Accessed on September 24, 2020.

Work Addiction. https://www.healthline.com/health/addiction/work. Accessed on September 24, 2020.

7 Signs You May Be A Workaholic. https://www.psychologytoday.com/us/blog/what-mentally-strong-people-dont-do/201504/7-signs-you-may-be-workaholic. Accessed on September 24, 2020.

Workaholic Symptoms and Signs. https://www.healthyplace.com/addictions/work-addiction/workaholic-symptoms-and-signs. Accessed on September 24, 2020.

8 Signs You’re an Extreme Workaholic. https://www.lifehack.org/articles/work/8-signs-youre-extreme-workaholic.html. Accessed on September 24, 2020.

เวอร์ชันปัจจุบัน

29/09/2020

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

Toxic relationship หรือความสัมพันธ์เป็นพิษ แก้อย่างไร

แพนิคคือ อะไร อาการเป็นแบบไหน รักษายังไง


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 29/09/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา