backup og meta

จิตหมกมุ่น จมกับ ความเสียใจ รับมืออย่างไรไม่ให้ทำร้ายสุขภาพ

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 26/06/2020

    จิตหมกมุ่น จมกับ ความเสียใจ รับมืออย่างไรไม่ให้ทำร้ายสุขภาพ

    ทุกคนย่อมเคยมีช่วงเวลาหนึ่ง ที่ตัวเองเอาแต่จมอยู่กับความผิดหวัง หรือมัวแต่นั่งเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ไม่ยอมปล่อยวาง ซึ่งงานวิจัยหลายชิ้นเผยว่า ความเจ็บปวดและความเสียใจ คือตัวการหนึ่งที่ทำให้สุขภาพกายและสุขภาพใจย่ำแย่ลง Hello คุณหมอ จึงอยากชวนคุณมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ความเสียใจ และวิธีรับมือที่ทำได้ไม่ยาก เพื่อชีวิตที่มีความสุขขึ้น

    ความเสียใจ เป็นเรื่องปกติ

    ก่อนอื่นคุณต้องเข้าใจก่อนว่า ความเสียใจเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าใครก็ต้องเคยเผชิญกับความเสียใจมาแล้วทั้งสิ้น แต่ก็ใช่ว่า เราจะต้องจมปลักอยู่กับอดีต และปล่อยให้ความเสียใจทำลายความสุขในปัจจุบันที่ควรมี เราต้องรับมือกับความเสียใจของตัวเองให้ได้ และควรรีบทำให้ตัวเองหลุดจากวังวนของความโศกเศร้าโดยเร็ว ชีวิตจะได้มีความสุขมากขึ้น

    คนเรามีความสามารถในการรับมือกับปัญหาและสิ่งที่เข้ามากระทบจิตใจต่างกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนอาจต้องใช้เวลาในการขจัดความเศร้าโศกเสียใจนานกว่าคนอื่น ฉะนั้น หากคุณยังไม่รู้ว่าจะรับมือกับความเสียใจอย่างไร ก็อย่าเพิ่งหมดหวังหรือท้อแท้ เพราะทุกคนมีศักยภาพมากพอที่จะทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากความโศกเศร้า ขอเพียงแค่คุณกล้าเผชิญหน้ากับสิ่งเคยทำ และยอมรับความผิดพลาดที่ซ่อนไว้ใต้ความเสียใจนั้นให้ได้โดยเร็วที่สุด

    ยอมรับความเจ็บปวดที่เกิดจาก ความเสียใจ

    ไม่ว่าคุณจะเสียใจและเจ็บปวดเพราะได้ทำ หรือไม่ได้ทำสิ่งใดในอดีต คุณก็ต้องรีบยอมรับมันให้ได้ เพราะไม่ว่าใครต่างก็เคยทำผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น ทุกคนต่างก็มีข้อเสีย ไม่ได้สมบูรณ์แบบไปทุกอย่าง บางครั้งคุณอาจใช้อารมณ์อยู่เหนือเหตุผล จนทำให้กระทำการใดลงไปแล้วมาเสียใจภายหลัง แต่แม้ความผิดพลาดนั้นจะทำให้คุณเสียใจและเจ็บปวด จนไม่กล้าเผชิญความจริงแค่ไหน คุณก็ต้องเผชิญความจริงและยอมรับความผิดพลาดของตัวเองให้ได้ เพราะนั่นเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณหายจากความเจ็บปวดและความเสียใจได้เร็วขึ้น

    เสียใจไม่ว่า แต่ต้องรับตัวเองให้ได้ 

    บางคนให้อภัยคนอื่นได้ แต่ให้อภัยตัวเองไม่ได้ คุณต้องหัดยอมรับตัวเอง เหมือนที่ยอมรับคนอื่น อย่าใส่ใจกับเรื่องความไม่สมบูรณ์แบบ คุณควรเข้าใจว่า ความผิดพลาดไม่ใช่ตราบาปของชีวิต และไม่ได้หมายความว่าชีวิตคุณล้มเหลว แต่เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าคุณคือมนุษย์คนหนึ่งต่างหาก

    เสียใจวนเวียน รับมือยังไงดี

    การรับมือกับความเสียใจไม่ได้หมายความว่า คุณจะต้องรู้สึกโล่งใจตลอดเวลา หรือลืมเรื่องที่ทำให้เสียใจไปโดยสิ้นเชิง คุณอาจยังอารมณ์เสีย รู้สึกเศร้า หรือยังรู้สึกผิดกับสิ่งที่เคยทำลงไปได้ แต่เมื่อไรก็ตามที่ความรู้สึกเหล่านี้เข้ามารบกวนจิตใจ ให้ลองรับมือด้วยการทำตามขั้นตอนง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

  • รับรู้อารมณ์ในขณะนั้น ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ และหาวิธีปลอบใจตัวเองที่ช่วยให้อารมณ์สงบลงได้ เช่น เดินเล่น แช่น้ำอุ่น ฟังเพลง
  • ระบายความรู้สึกนั้นด้วยการพูดคุยกับคนในครอบครัว หรือเพื่อนฝูง
  • หากความเสียใจของคุณเกิดจากการทำให้ผู้อื่นเสียใจ ควรขอโทษคน ๆ นั้นโดยเร็ว เพื่อไม่ให้คุณเองรู้สึกติดค้าง
  • ไม่ว่าคุณจะเสียใจแค่ไหน ก็ควรรีบทำให้สภาพจิตใจของตัวเองดีขึ้นโดยเร็ว เพราะความเสียใจ ไม่ได้ส่งผลเสียกับสภาพจิตเท่านั้น แต่ยังอาจฉุดให้สุขภาพกายของคุณย่ำแย่ไปด้วยได้

    แต่หากคุณไม่สามารถขจัดความเสียใจ หรือให้อภัยตัวเองได้จริง ๆ ควรตัดสินใจปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือจิตแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำในการรับมือและขจัดความเสียใจที่ทำให้สุขภาพของคุณย่ำแย่ออกไปโดยเร็ว พร้อมเรียนรู้ที่จะเริ่มต้นใหม่และใช้ชีวิตในรูปแบบที่ส่งเสริมสุขภาพให้ดีกว่าเดิม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

    ทีม Hello คุณหมอ


    เขียนโดย ออมสิน แสนล้อม · แก้ไขล่าสุด 26/06/2020

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา