โดยปกติแล้ว การทำงานติดต่อกันเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า (Depression) แต่มีงานวิจัยที่ชี้ว่า ผู้หญิงทำงานหนัก มากกว่า 11 ชั่วโมงต่อวัน อาจเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า ทาง Hello คุณหมอ ขอเตือนคุณผู้หญิงหลายๆ ท่าน หากคุณกำลังทำงานหนักเกิน 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แถมยิงยาวไปถึงวันเสาร์อาทิตย์ ระวังเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัว
งานวิจัยชี้ว่า ผู้หญิงที่ทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า
งานวิจัยที่เผยแพร่ในวารสาร the Journal of Epidemiology & Community Health ให้ข้อมูลว่า ผู้หญิงที่ทำงาน 55 ชั่วโมงหรือมากกว่า ต่อสัปดาห์ และผู้หญิงที่ทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ดังนั้น ผู้หญิงทำงานหนัก มากกว่า 11 ชั่วโมงต่อวัน อาจเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้ค่อนข้างง่าย
งานวิจัยนี้ได้ศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพนักงานผู้ชาย 11,215 คน และผู้หญิง 12,188 คน โดยให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถาม นอกจากผลการศึกษาจะพบว่า ผู้หญิงทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีแนวโน้มจะเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว ผลการวิจัยยังพบอีกว่า สำหรับผู้ชายแล้ว ไม่มีความแตกต่างของอาการซึมเศร้า ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายที่ทำงานน้อยกว่าหรือมากกว่า ชั่วโมงทำงานปกติ หรือในผู้ชายที่ทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่อย่างไรก็ตาม การทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ ยังเชื่อมโยงกับอาการของโรคซึมเศร้าในผู้ชาย ที่มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ทำไมผู้หญิงจึงเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า มากกว่าผู้ชาย
ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีส่วนที่ทำให้ ‘เวลาส่วนตัว’ ของเราน้อยลง สมาร์ทโฟนสร้างความคาดหวังให้กับผู้อื่น ว่าคุณจะต้องว่างอยู่ตลอดเวลา เช่น คุณสามารถตอบอีเมลได้ ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ หรือถ้าหัวหน้าไลน์มาในวันหยุด คุณก็ต้องตอบข้อความ ทั้งที่ความจริงแล้วนั่นเป็นเวลาส่วนตัวของคุณ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น โดยผู้วิจัยชี้ไปที่ภาระที่ผู้หญิงต้องรับผิดชอบ ที่อาจมากกว่า 2 เท่า กล่าวคือนอกจากผู้หญิงจะต้องทำงานแล้ว ยังต้องรับภาระในการทำงานบ้านอีกด้วย เช่น ต้องทำความสะอาดบ้าน หรือดูแลคนในครอบครัว ในขณะที่ผู้ชายอาจกังวลแค่เรื่องงานเพียงอย่างเดียว
มากไปกว่านั้น จากข้อมูลการศึกษาพบว่า ผู้หญิงมีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า มากกว่าผู้ชาย 2-3 เท่า ซึ่งข้อมูลนี้รวบรวมจากหลายประเทศ ในบริบทที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม งานวิจัยยังคงต้องการการศึกษาเพิ่มเติมถึงสาเหตุ ว่าทำไมผู้หญิงจึงเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย
ป้องกันโรคซึมเศร้าได้อย่างไรบ้าง
- จัดการชีวิตให้สมดุล ชีวิตไม่ควรมีเรื่องงานแค่เรื่องเดียว คุณควรจัดเวลาให้ตัวเองได้พักผ่อนด้วย
- ขอความช่วยเหลือ หากไม่สามารถทำงานบ้านได้ หรือไม่มีเวลาดูแลครอบครัว ควรขอความช่วยเหลือจากคนในครอบครัว และทำความเข้าใจร่วมกัน
- รู้จักปฏิเสธ รู้จักพูดคำว่า ‘ไม่’ ให้กับสิ่งที่รบกวนเวลาส่วนตัวของคุณ
- นอนหลับอย่างมีคุณภาพ การนอนหลับอย่างเพียงพอ นอกจากช่วยบรรเทาความเครียดแล้ว ยังทำให้สุขภาพดีขึ้นด้วย
เมื่อไหร่ที่ควรไปพบคุณหมอ
ควรทำความเข้าใจว่า ถ้าคุณรู้สึกเศร้า อาจไม่ได้หมายความว่าคุณเป็นโรคซึมเศร้า เนื่องจากอาการของโรคซึมเศร้าอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีปัญหาการนอนหลับ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มีปัญหาในการจดจ่อหรือมีสมาธิ นอกจากนี้ หากอาการซึมเศร้า ส่งผลต่อชีวิตประจำวันของคุณ หรือคุณเริ่มมีความคิดฆ่าตัวตาย ควรปรึกษาแพทย์