backup og meta

ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment disorder)

คำจำกัดความอาการสาเหตุปัจจัยเสี่ยงการวินิจฉัยและการรักษาโรคการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

คำจำกัดความ

ภาวะการปรับตัวผิดปกติ คืออะไร

ภาวะการปรับตัวผิดปกติ (Adjustment disorder) หรือที่มักเรียกกันว่า โรคเครียด เป็นภาวะสุขภาพที่เกิดขึ้นหลังจากต้องเผชิญความกดดัน ทำให้เกิดความเครียดสะสมหรือเครียดจัด และไม่สามารถตอบสนอง หรือปรับตัวได้อย่างเหมาะสม จนส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงาน การเรียน ความสัมพันธ์ หรือการเข้าสังคม

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต เช่น คนที่คุณรักเสียชีวิต มีปัญหาด้านความรัก ถูกไล่ออกจากงาน มักทำให้เรารู้สึกเครียดจัด แต่โดยทั่วไปแล้ว คนเรามักปรับตัวได้ภายใน 2-3 เดือนหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ผู้ที่มีภาวะการปรับตัวผิดปกติ มักจะทำใจ ยอมรับ หรือปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้ ร่างกายและจิตใจตอบสนองต่อสถานการณ์นั้น ๆ ในแง่ลบ จนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม คุณไม่จำเป็นต้องเผชิญกับภาวะนี้เพียงลำพัง เพราะยังมีวิธีการรักษาที่ใช้เวลาไม่นาน ที่จะช่วยให้คุณสามารถกลับคืนสู่สภาวะปกติได้อีกครั้ง

ภาวะการปรับตัวผิดปกติ พบได้บ่อยแค่ไหน

ภาวะการปรับตัวผิดปกติ สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่อาจพบได้บ่อยในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต อย่างช่วงวัยรุ่น ช่วงวัยกลางคน ช่วงบั้นปลายชีวิต โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของ ภาวะการปรับตัวผิดปกติ

อาการของภาวะการปรับตัวผิดปกติขึ้นอยู่กับประเภทของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล โดยทั่วไปแล้วภาวะการปรับตัวผิดปกติจะส่งผลต่อความรู้สึกและความคิดที่คุณมีต่อตัวเองและสังคม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความคิด พฤติกรรม และการกระทำดังต่อไปนี้

  • รู้สึกเศร้า เสียใจ สิ้นหวัง ไม่สนุกกับสิ่งที่เคยชอบ
  • ร้องไห้บ่อย
  • วิตกกังวล ตื่นตระหนก กระวนกระวาย สับสน หรือเครียดจัด
  • มีปัญหาในการนอนหลับ
  • กล้ามเนื้อกระตุกหรือสั่น
  • เจ็บปวดตามร่างกาย
  • ไม่อยากอาหาร
  • ไม่มีสมาธิ
  • รู้สึกกดดัน จนเกินจะทนไหว
  • มีปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวัน
  • ปลีกตัวออกจากสังคม
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือกิจวัตรที่สำคัญ เช่น การไปทำงาน การจ่ายบิล
  • มีความคิด หรือพฤติกรรมฆ่าตัวตาย

ผู้ป่วยมักมีอาการของภาวะปรับตัวผิดปกติภายในเวลา 3 เดือนหลังเกิดเหตุการณ์หรือแรงกดดัน และปกติภาวะนี้จะหายไปเองภายในเวลา 6 เดือน แต่ในบางกรณี ผู้ป่วยก็อาจมีภาวะดังกล่าวยาวนานเกิน 6 เดือน ได้ โดยเฉพาะเมื่อปัจจัยที่เป็นสาเหตุของแรงกดดันยังคงอยู่ เช่น ปัญหาการว่างงาน

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

ส่วนใหญ่แล้ว สาเหตุของภาวะการปรับตัวผิดปกติมักเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแค่ชั่วคราว เมื่อปัจจัยที่เป็นสาเหตุหายไป อาการก็มักจะดีขึ้นหรือหายเป็นปกติได้ แต่บางครั้ง เหตุการณ์ที่ทำให้คุณเกิดภาวะการปรับตัวผิดปกติก็อาจจะคงอยู่เป็นเวลานาน หรือมีเรื่องเครียดๆ เรื่องใหม่เกิดขึ้น จนทำให้คุณมีอาการของภาวะการปรับตัวผิดปกติต่อไปไม่จบสิ้น

หากคุณรู้สึกว่าการเผชิญกับเหตุการณ์สำคัญบางอย่าง ทำให้คุณใช้ชีวิตประจำวันต่อไปได้ยากลำบาก ควรปรึกษาแพทย์ และเข้ารับการบำบัดรักษาทันที เพราะการรักษาจะช่วยให้คุณรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น และรู้สึกดีกับชีวิตมากขึ้นด้วย

ร่างกายของแต่ละบุคคลมีการตอบสนองแตกต่างกัน ทางที่ดีที่สุดให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของภาวะการปรับตัวผิดปกติ

ภาวการณ์ปรับตัวผิดปกติเกิดจากการเปลี่ยนแปลง หรือเหตุการณ์ตึงเครียดครั้งใหญ่ในชีวิต โดยสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะนี้ ได้แก่

ปัจจัยกระตุ้นในผู้ใหญ่ เช่น

  • การตายของสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อน
  • ปัญหาความรัก ความสัมพันธ์ หรือการหย่าร้าง
  • การเจ็บป่วย หรือปัญหาสุขภาพของตัวคุณเองหรือคนใกล้ชิด
  • การย้ายบ้าน หรือย้ายงาน
  • ภัยธรรมชาติ
  • ปัญหาด้านการเงิน

ปัจจัยกระตุ้นในเด็กและวัยรุ่น เช่น

  • ปัญหาครอบครัว พ่อแม่ทะเลาะกัน
  • ปัญหาในโรงเรียน
  • ความวิตกกังวลเกี่ยวกับเรื่องเพศ

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของภาวะการปรับตัวผิดปกติ

หากคุณมีปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ อาจทำให้คุณเสี่ยงเกิดภาวะการปรับตัวผิดปกติยิ่งขึ้น

สถานการณ์ตึงเครียดหรือกดดัน ทั้งสถานการณ์ที่ดีและไม่ดี เช่น

  • ปัญหาในการใช้ชีวิตคู่ หรือปัญหาการหย่าร้าง
  • ปัญหาความสัมพันธ์ หรือปัญหาความรัก
  • การเปลี่ยนแปลงในชีวิต เช่น การเกษียณอายุ การมีลูก การต้องแยกจากครอบครัวเพื่อไปเรียน หรือไปทำงาน
  • สถานการณ์เลวร้าย เช่น การตกงาน การสูญเสียคนที่รัก ปัญหาการเงิน
  • ปัญหาการเรียน หรือการทำงาน
  • ประสบการณ์เฉียดตาย เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ประสบภัยพิบัติ
  • ความเครียดที่ต้องเผชิญมายาวนาน เช่น ปัญหาสุขภาพ การอาศัยอยู่ในละแวกที่ไม่ปลอดภัย

ประสบการณ์ชีวิต เช่น

  • การต้องเผชิญเรื่องตึงเครียดในวัยเด็ก
  • ปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ
  • เกิดเรื่องเครียดหรือกดดันหลายเรื่องพร้อมกัน

การไม่มีปัจจัยเสี่ยงไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่มีโอกาสเป็นโรคนี้ ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เป็นเพียงข้อมูลอ้างอิงเท่านั้น โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งเพื่อรับทราบข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยภาวะการปรับตัวผิดปกติ

แพทย์จะวินิจฉัยอาการ โดยยึดตามเกณฑ์ในการวินิจฉัยภาวะการปรับตัวผิดปกติ ดังนี้

  • มีอาการที่เกี่ยวข้องกับสภาวะทางจิตใจหรือพฤติกรรม ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนหลังหลังเกิดเหตุการณ์ตึงเครียด หรือเผชิญกับปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเครียด
  • คุณเครียดมากเกิดปกติ ซึ่งอาจเป็นการตอบสนองต่อปัจจัยกระตุ้นความเครียดบางอย่าง หรือความเครียดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์ การเรียน หรือการทำงาน
  • มีอาการเกิน 6 เดือน แม้จะไม่มีปัจจัยกระตุ้นแล้วก็ตาม
  • อาการที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นผลจากภาวะโรคอื่น ๆ

การรักษาภาวะการปรับตัวผิดปกติ

หากแพทย์วินิจฉัยว่าคุณมีภาวะการปรับตัวผิดปกติ แพทย์อาจให้คุณเข้ารับการรักษา ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

การบำบัด

การบำบัด (Therapy) เป็นวิธีการรักษาหลักของภาวะการปรับตัวผิดปกติ โดยคุณอาจต้องเข้ารับการบำบัดกับจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา โดยวิธีบำบัดที่นิยมใช้ในการรักษาภาวะการปรับตัวผิดปกติ ได้แก่

การใช้ยา

แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาบรรเทาอาการของภาวะการปรับตัวผิดปกติ เช่น อาการนอนไม่หลับ อาการซึมเศร้า อาการวิตกกังวล โดยยาที่นิยมใช้ ได้แก่

  • ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
  • ยาคลายกังวลกลุ่มน็อนเบ็นโซไดอาเซพีน (Nonbenzodiazepine)
  • ยาต้านเศร้ากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ (Selective Serotonin Reuptake Inhibitor หรือ SSRI) และกลุ่มเอสเอ็นอาร์ไอ (Serotonin and norepinephrine reuptake inhibitor หรือ SNRI)

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองที่ช่วยรับมือกับภาวะการปรับตัวผิดปกติ

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการเยียวยาตนเองดังต่อไปนี้ อาจช่วยป้องกันและช่วยให้คุณรับมือกับภาวะการปรับตัวผิดปกติได้ดีขึ้น

  • มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่เสมอ
  • มองหาเรื่องดี ๆ เรื่องตลก หรือแง่บวกจากเหตุการณ์ยากลำบากได้ให้
  • ต้องรู้จักเห็นคุณค่าในตัวเอง หรือเรียนรู้ที่จะนับถือตัวเอง
  • ดูแลสุขภาพ และสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตให้ดี

หากคุณมีข้อสงสัย โปรดปรึกษาแพทย์เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นถึงวิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับคุณ

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Adjustment disorder. https://medlineplus.gov/ency/article/000932.htm#:~:text=Adjustment%20disorder%20is%20a%20group,type%20of%20event%20that%20occurred. Accessed September 14, 2020

Adjustment disorders. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/adjustment-disorders/symptoms-causes/syc-20355224. Accessed September 14, 2020

โรคเครียด หรือ ภาวการณ์ปรับตัวผิดปกติ. https://meded.psu.ac.th/binlaApp/class01/388-100/Basic_mental_health/index.html#:~:text=โรคเครียด%20หรือทางการแพทย์,ทางจิตเวชซึ่งสามารถหาย. Accessed September 14, 2020

Adjustment Disorders. https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/adjustment-disorders. Accessed September 14, 2020

Adjustment Disorder. https://www.healthline.com/health/adjustment-disorder. Accessed September 14, 2020

ภาวะการปรับตัวผิดปกติ Adjustment disorders. http://med.swu.ac.th/psychiatry/images/stories/Education/Adjustment.pdf. Accessed September 14, 2020

เวอร์ชันปัจจุบัน

23/09/2020

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

สุขภาพจิตดีขึ้นได้ เพียงออกกำลังกายด้วยการวิ่ง

อาหารบรรเทาความเครียด ที่กินแล้วช่วยให้หายเครียดได้


ตรวจสอบข้อมูลความถูกต้อง โดย ทีม Hello คุณหมอ · เขียน โดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไข 23/09/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา