backup og meta

ออกกำลังกายตอนโกรธ ได้ประโยชน์หรือโทษกันแน่

ออกกำลังกายตอนโกรธ ได้ประโยชน์หรือโทษกันแน่

เวลาที่เรารู้สึกโกรธ การได้ระบายอารมณ์ออกไปสามารถช่วยให้อารมณ์เดือดพล่านที่กำลังปะทุอยู่นั้นทุเลาและเบาบางลงได้ แต่การใช้แรงกายเพื่อระบายอารมณ์อาจไม่ได้เป็นผลดีเสมอไป เพราะอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อตนเองและบุคคลรอบข้าง แล้วถ้าเป็นการระบายความโกรธด้วยการออกกำลังกายล่ะ จะดีกว่ารึเปล่า? เพราะหลายคนอาจเคยได้ยินว่าการออกกำลังกายช่วยบรรเทาความโกรธได้ วันนี้ Hello คุณหมอ จะขอพาทุกท่านไปดูกันว่า ออกกำลังกายตอนโกรธ จะมีข้อดีและข้อเสียอย่างไรบ้าง

การออกกำลังกายกับความโกรธสัมพันธ์กันอย่างไร

ความโกรธและการออกกำลังกายนั้นมีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องกันในเรื่องทางสรีระวิทยาและจิตวิทยา กล่าวคือเมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกโกรธ กล้ามเนื้อ อารมณ์ ความรู้สึกก็จะทำงานสัมพันธ์กัน เราอาจต้องการที่จะแสดงออกทางกายด้วยอารมณ์โกรธที่กำลังพลุ่งพล่าน จนบางครั้งเราอาจแสดงออกไปในทางที่ค่อนข้างจะเป็นมุมลบหรือสร้างอันตรายทั้งต่อตนเองและกับผู้อื่น

การออกกำลังกายในขณะที่โกรธ จะเป็นช่วงเวลาที่เราได้ควบคุมอารมณ์รุนแรงเอาไว้ เพราะร่างกายและสมองจะได้ใช้พลังงานและขบคิดถึงต้นตอที่ทำให้รู้สึกไม่พอใจ ซึ่งอาจช่วยให้ความรู้สึกเหล่านั้นเบาบางลงเมื่อได้อยู่กับตนเองสักพัก 

ออกกำลังกายช่วยผ่อนคลายความโกรธได้หรือไม่

ความโกรธสามารถระงับได้หลายวิธี หนึ่งในนั้นคือการควบคุมความโกรธด้วยการออกกำลังกาย หรือที่เราอาจเคยได้ยินว่าเวลาที่โกรธให้ลองออกไปวิ่ง เพื่อที่จะได้คลายความเกรี้ยวกราดของอารมณ์ออกไปในขณะที่วิ่ง ทั้งนี้เนื่องจากเวลาที่เราออกแรงขณะที่โกรธร่างกายจะได้ใช้พลังงานไปกับการขบคิด และจดจ่อกับสิ่งที่ออกแรงทำ รวมถึงยังเป็นการกำจัดเอาพลังงานส่วนเกินออกไปขณะที่ร่างกายมีการเคลื่อนไหวด้วย จึงมีส่วนช่วยให้รู้สึกสงบลง และผ่อนคลายมากขึ้น โดยกิจกรรมที่เป็นทางเลือกสำหรับเวลาที่รู้สึกโกรธหากสถานที่และอุปกรณ์เอื้ออำนวย เช่น การวิ่ง การปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ เป็นต้น 

ออกกำลังกายตอนโกรธ มีผลเสียหรือไม่

การออกกำลังกายเป็นสิ่งที่ดีต่อสุขภาพ และมีส่วนช่วยลดความรู้สึกโกรธและความโมโหให้ลดลงได้จริง เพราะร่างกายได้มีการใช้พลังงานในการจดจ่อกับสิ่งที่ออกแรง สมองได้ใช้ความคิดเพื่อทบทวนหาสาเหตุ และค่อยๆ จัดการกับอารมณ์ของตนเองในที่สุด

อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายขณะที่กำลังโกรธอย่างรุนแรงนั้นก็มีข้อควรระวังที่ไม่ควรมองข้ามด้วยเช่นกัน นั่นคือ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจ เช่น โรคหัวใจ หัวใจวาย เนื่องจากในขณะที่กำลังโกรธนั้นอัตราการเต้นของหัวใจจะเร็วและแรง ลมหายใจจะสั้นและเร็ว กล้ามเนื้อจะเกร็งและตึง ซึ่งอาจมีผลต่ออาการทางสุขภาพเช่น อาการช็อค หัวใจวาย หายใจไม่ทัน เลือดสูบฉีดไม่พอ หรือเป็นลมได้

ดังนั้นเวลาที่โกรธและต้องการออกกำลังกายเพื่อระงับอารมณ์ร้อนของตนเอง ควรจะเป็นการออกกำลังกายหรือการออกแรงเพื่อทำกิจกรรมที่ไม่หักโหมเกินกว่าการออกกำลังกายปกติในชีวิตประจำวัน หรือควรมีการสงบสติอารมณ์ก่อนเริ่มการออกกำลังกาย อาจเป็นหนทางในการรับมือกับความโกรธที่ดีกว่าการออกกำลังกายอย่างหนักเพื่อบรรเทาความโมโห

ออกกำลังกายตอนโกรธ-ข้อควรระวัง

การจัดการกับอารมณ์โกรธ

การจัดการอารมณ์โกรธด้วยการออกกำลังกายนั้นก็จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆ ที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้เข้ามาร่วมด้วย เพื่อช่วยในการจัดการกับอารมณ์โกรธได้มากขึ้น ดังนี้

  • ให้ความสำคัญกับการกำหนดลมหายใจ

เวลาที่โกรธลมหายใจของเราจะสั้นและเร็ว วิธีที่จะทำให้รู้สึกสงบและผ่อนคลายมากขึ้นคือการหายใจให้ยาวขึ้น ช้าลง และหายใจเข้าออกได้ลึกขึ้น กิจกรรมเช่นการทำโยคะ การทำสมาธิ จะมีส่วนอย่างมากในการจัดการกับความโกรธด้วยการกำหนดลมหายใจ

  • ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ

เวลาที่โกรธกล้ามเนื้อจะมีการเกร็ง ตึง ซึ่งสามารถส่งผลให้เกิดความเครียดตามมาได้ การทำกิจกรรมที่มีส่วนช่วยในการคลายกล้ามเนื้อ โดยเริ่มตั้งแต่ศีรษะไปจนถึงปลายส้นเท้า เช่น การนวด การอาบน้ำ การว่ายน้ำ จะช่วยให้กล้ามเนื้อกลุ่มต่างๆ เริ่มผ่อนคลาย ไม่เกร็งหรือตึง

  • หาพื้นที่สงบเพื่อจัดการกับอารมณ์ของตนเอง

เวลาที่โกรธ หลายคนก็มักต้องการที่จะอยู่คนเดียวเพื่อจัดการกับความรู้สึกของตนเอง ดังนั้นหากรู้สึกไม่พอใจ หรือโมโห ลองหาสถานที่ที่มีความสงบ อากาศถ่ายเท หรือเป็นสถานที่ที่จะได้อยู่กับตัวเองเพื่อหลับตาและปลดปล่อยอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ก็สามารถช่วยผ่อนคลายอารมณ์ที่กำลังรุนแรงให้เบาลงได้ หรืออาจหาที่เงียบๆ อยู่คนเดียวเพื่อระบายความในใจทั้งหมดออกมา หรืออาจหลบไปออกกำลังกายอยู่คนเดียว เพื่อให้ร่างกายได้ใช้พลังงานและความคิดทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น

  • หาสาเหตุให้พบ

คนเราจะโกรธหรือไม่พอใจอะไรสักอย่างก็ต้องมีสาเหตุ เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกไม่พอใจ ควรปลีกตนเองเพื่อที่จะได้อยู่กับตนเองและมองหาสาเหตุของความโกรธ หากแก้ไขได้ก็จัดการให้เรียบร้อย และหากเกินกำลังก็ควรรู้จักที่จะปล่อยวาง หรือปลีกตัวไปออกกำลังกายเพื่ออยู่กับตัวเองสักพัก ใช้ความคิดนึกย้อนหาสาเหตุของความไม่พอใจนั้น

  • เงียบและฟัง

เวลาที่ไม่พอใจทุกคนก็ต้องการที่จะพูดในสิ่งที่ต้องการจะพูดเพื่อหวังว่าความโกรธนั้นจะหายไป แต่มันอาจสร้างปัญหาที่ยุ่งเหยิงตามมาได้ ดังนั้นเมื่อไหร่ที่โกรธให้เงียบเอาไว้ก่อน หากสิ่งที่พูดไปไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

Anger and Exercise. https://www.psychologytoday.com/us/blog/hidden-motives/201008/anger-and-exercise. Accessed on July 16, 2020.

Anger Management Exercises to Help You Stay Calm. https://www.healthline.com/health/anger-management-exercises. Accessed on July 16, 2020.

Why You Shouldn’t Do a Hard Workout When You’re Upset. https://www.livescience.com/56437-strenuous-exercise-emotional-heart-health.html. Accessed on July 16, 2020.

YOU ASKED: SHOULD I WORKOUT WHEN I’M ANGRY?. https://vitalrecord.tamhsc.edu/you-asked-should-i-workout-when-im-angry/. Accessed on July 16, 2020.

Working out while angry? Just don’t do it. https://www.health.harvard.edu/heart-health/working-out-while-angry-just-dont-do-it. Accessed on July 16, 2020.

เวอร์ชันปัจจุบัน

25/09/2020

เขียนโดย Khongrit Somchai

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย ทีม Hello คุณหมอ

อัปเดตโดย: Pattarapong Khuaphu


บทความที่เกี่ยวข้อง

พิลาทิส แนวการออกกำลังกายสุดฮิต ที่อาจทำให้หุ่นคุณฟิตแอนด์เฟิร์ม

ศาสตร์ในการ ควบคุมความโกรธ ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพกายและจิต


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

ทีม Hello คุณหมอ


เขียนโดย Khongrit Somchai · แก้ไขล่าสุด 25/09/2020

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา