หลั่งน้ำอสุจิน้อย เป็นอาการหลั่งน้ำอสุจิในปริมาณที่ลดน้อยลง ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ อาการบวมของเส้นเลือดบริเวณอัณฑะ ผลข้างเคียงของการผ่าตัด การใช้ยาบางชนิด ซึ่งการหลั่งอสุจิน้อยลงอาจทำให้ผู้ชายเสียความมั่นใจ ดังนั้น การเข้าพบคุณหมออาาจช่วยแก้ปัญหาการหล่งน้ำอสุจิน้อยลงได้
[embed-health-tool-heart-rate]
หลั่งน้ำอสุจิน้อย เกิดจากสาเหตุใด
ปัญหาการหลั่งน้ำอสุจิน้อย คือ อาการหลั่งน้ำอสุจิหรือสเปิร์มในปริมาณที่ลดน้อยลง ซึ่งอาจเกิดมาจากสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
-
การติดเชื้อ
การติดเชื้อบางอย่าง เช่น การอักเสบของท่อนำอสุจิ การอักเสบของอัณฑะ การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อย่างหนองใน หรือเอชไอวี (HIV) อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตอสุจิ และปิดกั้นทางเดินน้ำอสุจิ ส่งผลให้หลั่งน้ำอสุจิน้อยลง รวมถึงยังอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อสุขภาพทางเพศได้อย่างถาวร หากไม่ได้รับรักษาจากคุณหมออย่างทันท่วงที
-
อาการบวมของเส้นเลือดบริเวณอัณฑะ
ปัญหาอาการบวมของเส้นเลือดในบริเวณอัณฑะ อาจเป็นสาเหตุหลักของภาวะมีบุตรยากในผู้ชาย ถึงแม้จะยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดเกี่ยวกับการลดลงของจำนวนอสุจิ แต่ก็อาจมีความเกี่ยวข้องกับการควบคุมระบบการผลิตอสุจิ ส่งผลให้การผลิตอสุจิมีปริมาณลดลง และหลั่งน้ำอสุจิน้อย
-
ผลข้างเคียงของการผ่าตัด
ปัญหาการหลั่งน้ำอสุจิน้อย อาจเกิดขึ้นได้จากการเข้ารับการผ่าตัดในบริเวณใกล้เคียงกับอวัยวะทางเพศ เช่น การผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบ การผ่าตัดต่อมลูกหมาก การผ่าตัดช่องท้องขนาดใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตอสุจิ หรือปิดกั้นท่อนำส่งอสุจิ
-
การใช้ยาบางชนิด
การใช้ยาบางชนิด ไม่ว่าจะเป็นยาปฏิชีวนะ ยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร ยาคลายกล้ามเนื้อ ยารักษาโรคทางจิตเภท ยากล่อมประสาท อาจส่งผลข้างเคียงทำให้การผลิตอสุจิลดลง และลดภาวะเจริญพันธุ์ได้ในอนาคต ดังนั้น ก่อนการใช้ยาใด ๆ ควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับผลข้างเคียงของยาในระยะยาวเสียก่อน เพื่อให้คุณหมอจ่ายยาที่เหมาะสม และได้รับผลกระทบน้อยที่สุดมาให้
นอกเหนือจากสาเหตุข้างต้นเหล่านี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาหลั่งน้ำอสุจิน้อย หากอยากทราบสาเหตุให้แน่ชัด หรือสังเกตพบว่าตัวเองกำลังมีปัญหาหลั่งน้ำอสุจิน้อย หรือมีเลือดปนมาในน้ำอสุจิ ควรเข้ารับการตรวจจากคุณหมอ เพื่อหาสาเหตุให้แน่ชัดอีกที
หลั่งน้ำอสุจิน้อย รักษาได้อย่างไร
ในการรักษาปัญหาหลั่งน้อยลง ผู้ป่วยอาจต้องรับการตรวจน้ำเชื้ออสุจิ ตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้ออัณฑะ และตรวจฮอร์โมนในร่างกายให้เรียบร้อยเสียก่อน เนื่องจากปัญหาการหลั่งน้อยนี้อาจมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป การตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด จะทำให้สามารถรับการรักษาได้อย่างเหมาะสม
สำหรับวิธีการรักษาปัญหาหลั่งน้ำอสุจิน้อย อาจมีดังนี้
- การผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาในกรณีที่ผู้ชายมีการอุดตันบริเวณท่อนำอสุจิ เนื่องจากการติดเชื้อ หรือผู้ที่มีภาวะมีบุตรยาก
- การใช้ยา คุณหมออาจแนะนำการรับประทานยาบางชนิด เช่น บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) เอฟิดรีน (Ephedrine) อิมิพรามีน (Imipramine) ไซโปรเฮปทาดีน (Cyproheptadine)
เคล็ดลับการเพิ่มจำนวนสเปิร์มในผู้ชาย
โดยปกติแล้ว ปริมาณของอสุจิมักจะอยู่ที่ราว ๆ 15-200 ล้านตัว/มิลลิลิตร ถ้าคุณหมอตรวจสอบแล้วพบว่าจำนวนของอสุจิมีน้อยกว่า 15 ล้านตัว/มิลลิลิตร อาจจำเป็นที่ต้องเข้ารับการรักษาปัญหาหลั่งน้ำอสุจิน้อย ตามวิธีการรักษาที่กล่าวมาข้างต้น นอกจากนี้ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันบางอย่าง ยังอาจช่วยเพิ่มการผลิตอสุจิได้ ดังนี้
- พักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง
- ออกกำลังกายให้พอดี แต่ไม่ควรออกกำลังกายหนักจนเกินไป
- งดการสูบบุหรี่
- รับประทานวิตามินซี หรืออาหารที่เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ
- รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ และพยายามหลีกเลี่ยงไขมันทรานส์