backup og meta

ปวดกราม สาเหตุ อาการ และการรักษา

ปวดกราม สาเหตุ อาการ และการรักษา

ปวดกราม หรือปวดขากรรไกร เป็นอาการที่อาจเกิดขึ้นจากการบาดเจ็บที่บริเวณข้อต่อขากรรไกร ไซนัสอักเสบ  ทำให้เกิดอาการต่าง ๆ เช่น อาการปวดที่บริเวณกรามและขากรรไกร ขยับขากรรไกรลำบาก หูอื้อ ปวดหู ปวดฟัน หน้ามืด มีไข้ อาการปวดกรามสามารถรักษาได้ด้วยการจัดการกับสาเหตุ เช่น ใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อ ใช้ยาแก้อักเสบเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดเสบ ใช้ยาแก้ปวดเพื่อลดอาการปวด นอกจากนี้ ในช่วงที่มีอาการปวดกรามก็ควรหลีกเลี่ยงการเคี้ยวอาหารแข็ง ๆ หรืออาหารที่มีคาเฟอีน เพราะอาจทำให้อาการปวดกรามรุนแรงขึ้นได้

[embed-health-tool-heart-rate]

คำจำกัดความ

ปวดกรามคืออะไร

ปวดกราม หรือ ปวดขากรรไกร เป็นภาวะสุขภาพที่พบได้บ่อย และในบางกรณี นอกจากผู้ป่วยจะรู้สึกปวดบริเวณกรามหรือขากรรไกรแล้ว อาการปวดยังอาจลามไปยังบริเวณอื่นบนใบหน้าได้ด้วย เช่น ปวดกรามข้างซ้าย ปวดกรามข้างขวา ภาวะปวดกรามหรือปวดขากรรไกรนี้สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อที่ไซนัส การปวดฟัน ปัญหาที่หลอดเลือดหรือเส้นประสาท ส่วนใหญ่แล้วไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาฉุกเฉิน แต่ในบางกรณี ก็อาจเป็นอาการบ่งชี้ถึงภาวะสุขภาพรุนแรงได้เช่นกัน

ปวดกรามพบได้บ่อยแค่ไหน

อาการปวดกรามหรือปวดขากรรไกร เป็นภาวะที่พบได้ทั่วไปในคนทุกเพศทุกวัย โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

อาการ

อาการของปวดกราม

อาการของปวดกรามค่อนข้างหลากหลาย ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้ปวด อาการที่พบอาจมี ดังต่อไปนี้

  • ปวดบริเวณใบหน้า และอาการยิ่งแย่ลงเมื่อขยับขากรรไกร
  • มีอาการกดเจ็บที่ข้อต่อและกล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกร
  • ขยับขากรรไกรลำบาก
  • มีเสียง “กึก” เมื่ออ้าปากหรือหุบปาก
  • มีเสียงอื้อในหู หูอื้อ
  • ปวดหู
  • ปวดศีรษะ (อาจมีอาการปวดหูและมีแรงกดทับที่หลังหูร่วมด้วย)
  • วิงเวียน
  • ขากรรไกรค้าง
  • ปวดฟัน
  • ปวดเส้นประสาท
  • มีไข้
  • หน้าบวม

สำหรับผู้ป่วยบางราย อาจมีสิ่งบ่งชี้หรืออาการนอกเหนือจากที่ระบุไว้ข้างต้น หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ โปรดปรึกษาแพทย์

ควรไปพบคุณหมอเมื่อใด

หากมีสัญญาณหรืออาการตามรายละเอียดด้านบนหรือมีคำถาม โปรดปรึกษาคุณหมอ เนื่องจากร่างกายคนแต่ละคนแสดงอาการแตกต่างกัน จึงควรปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับวิธีรักษาที่ดีที่สุดตามสถานการณ์ของคุณ

สาเหตุ

สาเหตุของอาการปวดกราม

อาการปวดกรามมักเกิดจากความผิดปกติหรือการบาดเจ็บบริเวณข้อต่อขากรรไกร โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย ได้แก่

โรคความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร

โรคความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular Joint Disorders หรือ TMD) อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

  • อาการเจ็บปวดที่กล้ามเนื้อซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของขากรรไกร
  • ข้อต่อขากรรไกรได้รับบาดเจ็บ
  • ข้อต่อขากรรไกรขยับมากเกินไป
  • หมอนรองกระดูกขากรรไกรเคลื่อนที่

ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจมาจากการนอนกัดฟัน การขบกรามเวลาโมโห เครียด หรือตื่นเต้น การได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อต่อขากรรไกรจากการเล่นกีฬา เป็นต้น

โรคปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์

โรคปวดศีรษะแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headaches) หรือโรคปวดศีรษะแบบชุด ๆ มักทำให้เกิดอาการปวดบริเวณหลังตาและเบ้าตา ซึ่งบางครั้ง อาการปวดอาจลามมาที่บริเวณกรามหรือขากรรไกรได้เช่นกัน

อาการปวดฟัน

บางครั้ง อาการติดเชื้อที่ฟันอย่างรุนแรง ที่เรียกว่าฝีหนองที่รากฟัน ก็อาจทำให้มีอาการปวดลามไปถึงบริเวณขากรรไกรได้เช่นกัน

โรคไซนัสอักเสบ

ไซนัส (Sinus) คือช่องว่างหรือโพรงอากาศที่อยู่ในกะโหลกศีรษะใกล้ข้อต่อขากรรไกร หากไซนัสติดเชื้อโรค เช่น ไวรัส แบคทีเรีย จนเกิดการอักเสบ ก็อาจทำให้มีน้ำมูกมากขึ้นจนไปเพิ่มแรงกดทับที่บริเวณข้อต่อขากรรไกร และทำให้ปวดกราม หรือปวดขากรรไกรได้

ภาวะหัวใจวาย

ภาวะหัวใจวายอาจทำให้เกิดอาการปวดที่บริเวณอื่นนอกเหนือจากทรวงอกได้ เช่น ที่หลัง ที่แขน ที่คอ รวมถึงที่ขากรรไกรด้วย ภาวะหัวใจวายถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ควรได้รับการช่วยเหลือทางการแพทย์ทันทีที่เกิดอาการ ฉะนั้น หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบเรียกรถฉุกเฉินโดยด่วน

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงของอาการปวดกราม

ปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอาการปวดกราม อาจมีดังนี้

  • การเคี้ยวของแข็ง เช่น น้ำแข็ง ถั่ว อาจทำให้ฟันแตก และเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อในช่องปากได้
  • การไม่ดูแลรักษาสุขภาพฟัน เช่น ไม่ยอมแปรงฟัน ไม่ใช้ไหมขัดฟัน อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อที่กราม ทำให้เกิดอาการปวดกราม
  • การมีน้ำหนักเกิน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดหัวใจวาย ที่อาจทำให้เกิดอาการปวดกรามได้

การวินิจฉัยและการรักษาโรค

ข้อมูลที่นำเสนอไม่สามารถใช้แทนข้อแนะนำทางการแพทย์ได้ โปรดปรึกษาแพทย์สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การวินิจฉัยอาการปวดกราม

คุณหมอจะซักประวัติและสอบถามเกี่ยวกับความรู้สึก อาการ บริเวณที่เกิดอาการ รวมถึงสาเหตุที่ทำให้ปวดกราม หรือปวดขากรรไกร และคุณหมออาจต้องใช้การทดสอบอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การตรวจเลือด การเอกซเรย์ ในบางกรณี คุณหมออาจให้เข้ารับการตรวจวินิจฉัยทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ โปรดปรึกษาคุณหมอสำหรับข้อมูลเพิ่มเติม

การรักษาอาการปวดกราม

การรักษาอาการปวดกราม ขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการปวด โดยคุณหมออาจใช้ยาดังต่อไปนี้

  • ยาปฏิชีวนะ (หากพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย)
  • ยาคลายกล้ามเนื้อ
  • ยาบรรเทาปวด ในรูปแบบยารับประทาน สเปรย์ ยาทา
  • ยาฉีดสเตียรอยด์ เพื่อลดอาการอักเสบและอาการบวม
  • ยาต้านไวรัส

ในบางกรณี อาจต้องมีการผ่าตัดเพื่อเอากระดูกที่ถูกทำลายออก หรือผ่าตัดเพื่อแก้ไขขากรรไกร

นอกจากยาและการผ่าตัดแล้ว อาจมีการรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ เหล่านี้ด้วย

  • อุปกรณ์กันฟันกระแทก เช่น สนับฟัน ฟันยาง
  • กายภาพบำบัด
  • การยืดเหยียดกล้ามเนื้อ
  • ปรับเปลี่ยนท่าทาง เพื่อป้องกันอาการปวดตึงบริเวณหลังและลำคอ

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองที่ช่วยรับมือกับอาการปวดกราม

การเปลี่ยนไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเหล่านี้ อาจช่วยรับมือกับอาการปวดกรามได้

  • ผ่อนคลายความเครียด ด้วยการเล่นโยคะ เขียนไดอารี นั่งสมาธิ เป็นต้น เพื่อลดความเสี่ยงในการกัดฟัน หรือขบกรามเวลาเครียด หรือวิตกกังวล
  • หลีกเลี่ยงอาหารเคี้ยวยาก อาหารแข็ง เหนียวหรือกรอบเกินไป เช่น แอปเปิ้ล น้ำแข็ง หมากฝรั่ง เพราะอาจทำให้ข้อต่อขากรรไกรตึงและนำไปสู่อาการปวดได้
  • งดคาเฟอีน เพราะอาจทำให้เกิดอาการปวดตึงบริเวณกล้ามเนื้อ ซึ่งนำไปสู่ภาวะปวดกราม หรือปวดกล้ามเนื้อได้

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

What could cause my sudden jaw pain?. https://www.health.harvard.edu/pain/what-could-cause-my-sudden-jaw-pain. Accessed July 17, 2020

Jaw Pain: It’s Not Just Stress. https://www.winchesterhospital.org/health-library/article?id=14128. Accessed July 17, 2020

Temporomandibular disorder and headache in university professors. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6428655/. Accessed October 27, 2021.

Prevalence of TMJD and its Signs and Symptoms. https://www.nidcr.nih.gov/research/data-statistics/facial-pain/prevalence. Accessed October 27, 2021.

TMJ disorders. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/tmj/symptoms-causes/syc-20350941. Accessed October 27, 2021.

Jaw Pain. https://www.mouthhealthy.org/en/az-topics/j/jaw-pain. Accessed October 27, 2021.

เวอร์ชันปัจจุบัน

20/09/2023

เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย พลอย วงษ์วิไล

อัปเดตโดย: พลอย วงษ์วิไล


บทความที่เกี่ยวข้อง

ปวดในช่องปาก..อาจเป็นสัญญาณบอกเหตุของ ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร

ปวดเฉียบพลัน VS ปวดเรื้อรัง ความแตกต่างในความเหมือน


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

พลอย วงษ์วิไล


เขียนโดย เนตรนภา ปะวะคัง · แก้ไขล่าสุด 20/09/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา