ปัญหาหนึ่งของผู้ที่ใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลทั้งคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานหรือตลอดทั้งวัน นั่นก็คืออาจส่งผลให้เกิด อาการตาล้าจากสื่อดิจิทัล แต่อาการตาล้าประเภทนี้เป็นอย่างไร และจะมี วิธีป้องกันอาการตาล้าจากสื่อดิจิทัล ได้อย่างไรบ้าง มาติดตามเคล็ดลับสุขภาพดีๆ กันได้ กับบทความนี้จาก Hello คุณหมอ
อาการตาล้าโดยทั่วไปกับอาการตาล้าจากสื่อดิจิทัล แตกต่างกันอย่างไร
อาการตาล้า และ อาการตาล้าจากสื่อดิจิทัล นั้น มีความเหมือนกันในเรื่องของลักษณะอาการ ทั้งความรู้สึกเมื่อยล้าที่ดวงตา มองเห็นภาพเบลอหรือภาพซ้อน มีอาการตาแห้ง ไปจนถึงอาการปวดศีรษะ เป็นต้น แต่จะมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยตรงที่สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการตาล้านั้นเกิดจากปัจจัยที่แตกต่างกัน
อาการตาล้าโดยทั่วไป สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็น
- การจ้องอยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์และสื่อดิจิทัลเป็นเวลานานๆ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการตาล้า และ อาการตาล้าจากสื่อดิจิทัล
- การอ่านหนังสือโดยที่ไม่มีการหยุดพักสายตา
- การเพ่งใช้สายตากับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากจนเกินไป
- การขับรถในระยะทางที่ไกลและมีระยะเวลาที่ยาวนาน เนื่องจากต้องเพ่งสายตาไปที่ข้างหน้าตลอดการขับรถ
- ดวงตาสัมผัสกับแสงสว่างที่มากจนเกินไป
- การอ่านหนังสือ หรือมองจอคอมพิวเตอร์และสื่อดิจิทัลในที่มืดหรือที่มีแสงสว่างน้อย
- มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพดวงตาอยู่แต่เดิมแล้ว เช่น ปัญหาตาแห้ง
- การที่ดวงตาสัมผัสกับลักษณะอากาศแห้ง ทั้งที่มาจากพัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ
- เกิดความเครียด
- เกิดความรู้สึกอ่อนเพลีย เมื่อยล้า
แต่สำหรับ อาการตาล้าจากสื่อดิจิทัล (Digital Eye Strain) นั้น มีสาเหตุหลักเพียงอย่างเดียวนั่นก็คือ การใช้สายตาอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์และสื่อดิจิทัลเช่น สมาร์ทโฟน มากจนเกินไป หรือใช้สายตาอยู่ที่หน้าจอของอุปกรณ์ดิจิทัลเหล่านั้นเป็นระยะเวลานานๆ หรือทั้งวันโดยที่ไม่ได้หยุดพักการใช้สายตา
วิธีป้องกันอาการตาล้าจากสื่อดิจิทัล มีอะไรบ้าง
-
สวมแว่นตาที่มีคุณสมบัติป้องกันแสง
ไม่ว่าคุณจะสวมใส่แว่นตามานานเท่าไหร่แล้ว หรือไม่เคยต้องสวมแว่นตาเลยเนื่องจากไม่มีปัญหาด้านสุขภาพดวงตา อย่างไรก็ตาม หากต้องทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือใช้สื่อดิจิทัลเป็นประจำหรือทั้งวัน ควรพิจารณาการสวมแว่นที่มีคุณสมบัติช่วยในการกรองแสง เพื่อลดการสะท้อนของแสงจากหน้าจอของอุปกรณ์ดิจิทัล ก็จะช่วยป้องกัน อาการตาล้าจากสื่อดิจิทัล ไม่ให้ดวงตารู้สึกเมื่อยล้า หรือรู้สึกปวดที่ดวงตาเมื่อต้องเพ่งมองจอเป็นเวลานานๆ
-
จัดระยะห่างระหว่างอุปกรณ์ดิจิทัลและดวงตาให้เหมาะสม
หลายคนเวลาที่ใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลทั้ง คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน และมักจะใช้งานในลักษณะที่ใบหน้าอยู่ใกล้กับหน้าจอของอุปกรณ์มากจนเกินไป ซึ่งนั่นถือว่าเป็นช่วงระยะที่ไม่ดีต่อสุขภาพของดวงตา ดังนั้นเพื่อป้องกัน อาการตาล้าจากสื่อดิจิทัล ในเวลาใช้งานควรจะต้องให้อุปกรณ์ดิจิทัลอยู่ห่างจากใบหน้าอย่างน้อย 25 นิ้ว หรือมีระยะห่างเท่ากับช่วงแขน และหน้าจอควรอยู่ต่ำกว่าระดับสายตาเล็กน้อย ประมาณ 10-15 องศา
-
ปรับความสว่างของหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
แสงสว่างจากหน้าจอก็เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นหน้าจอโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ คุณควรปรับความสว่างให้มีความพอดี ไม่ให้แสงสว่างจ้าจนเกินไปเพราะจะทำให้แสบตา และก็ไม่ควรมืดจนเกินไป เพราะจะทำให้ต้องเพ่งสายตามากขึ้นกว่าเดิม
-
พกยาหยอดตาหรือน้ำตาเทียมไว้บ้าง
การใช้งานที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรืออยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟนตลอดทั้งวัน นอกจากจะทำให้เกิด อาการตาล้าจากสื่อดิจิทัล แล้ว ก็อาจมีผลทำให้เกิดอาการตาแห้ง สามารถบรรเทาอาการตาแห้งได้ด้วยการใช้น้ำยาหยอดตาหรือน้ำตาเทียมที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตา
-
กะพริบตาบ่อยๆ
ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่า การใช้งานที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรืออยู่กับหน้าจอสมาร์ทโฟนตลอดทั้งวัน อาจมีผลทำให้เกิดอาการตาแห้ง การกะพริบตาเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ดวงตา โดยใน 1 นาที ควรจะกะพริบตาให้ได้อย่างน้อย 7-15 ครั้ง หรือถ้าหากลืม ก็สามารถแปะโน้ตไว้ที่คอมพิวเตอร์เพื่อเตือนตัวเองไม่ให้ลืมกะพริบตา
-
พักสายตาจากการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัล
การใช้สายตาอยู่กับอุปกรณ์ดิจิทัลตลอดทั้งวัน มีผลให้เกิดปัญหาสุขภาพดวงตาหลายอย่าง ทั้งปัญหาตาแห้ง อาการตาล้า และ อาการตาล้าจากสื่อดิจิทัล การพักสายตาจากการใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ก็จะช่วยให้ดวงตาได้พักผ่อน ไม่ต้องเพ่งอยู่ที่หน้าจอตลอดทั้งวัน รวมถึงยังได้เป็นการพักผ่อนเพื่อร่างกายให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า และผ่อนคลายความเมื่อยล้าจากการทำงานด้วย
-
ใช้สูตร 20-20-20
อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยป้องกัน อาการตาล้าจากสื่อดิจิทัล สูตร 20-20-20 ก็คือ พักสายตาทุกๆ 20 นาที เพื่อมองวัตถุอื่นที่อยู่ไกลออกไป 20 ฟุต เป็นเวลาอย่างน้อย 20 วินาที
เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ
หากรู้สึกว่าอาการตาล้าและ อาการตาล้าจากสื่อดิจิทัล ที่เป็นอยู่ไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น ควรหาโอกาสไปพบกับคุณหมอที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง หรือจักษุแพทย์ เพื่อทำการตรวจวัดสายตาหรือทำการวินิจฉัยเพื่อทพการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป