โรคตาขี้เกียจในเด็ก เป็นหนึ่งในความผิดปกติของดวงตาที่สามารถพบได้บ่อยในเด็กเล็ก เกิดขึ้นจากความผิดปกติของดวงตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว ตาเข หากปล่อยไว้นานอาจทำให้การมองเห็นลดลง และอาจนำไปสู่อาการตาบอดสนิทได้ ดังนั้น เด็กจึงควรได้รับการตรวจดวงตาเป็นประจำ เพื่อจะได้ตรวจพบความผิดปกติ และทำการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ
โรคตาขี้เกียจในเด็กคืออะไร
โรคตาขี้เกียจ เกิดจากความผิดปกติของการมองเห็น เช่น สายตาเอียง สายตาสั้น ตาเข ทำให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง และหากปล่อยทิ้งไว้อาจเพิ่มความเสี่ยงของอาการตาบอดในอนาคต
โรคตาขี้เกียจในเด็กสามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจวัดสายตา และการตรวจพัฒนาการของดวงตา เด็กบางคนอาจสามารถบอกปัญหาการมองเห็นของตัวเองให้ผู้ปกครองรับทราบ เช่น อาการตามัว ตาเบลอ มองเห็นไม่ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตการมองเห็นของลูก และพาลูกไปตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำ เพื่อจะได้ตรวจพบความผิดปกติตั้งแต่เนิ่น ๆ
สาเหตุของโรคตาขี้เกียจในเด็ก
โรคตาขี้เกียจ มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของการมองเห็น ดังนี้
- ตาเข ตาเหล่
- ค่าสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง
- หนังตาตก
- กระจกตาขุ่น
- ต้อกระจกแต่กำเนิด
- ต้อหิน
ความผิดปกติของดวงตา โดยเฉพาะหากการมองเห็นของดวงตาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน อาจทำให้เด็กใช้ตาข้างใดข้างหนึ่งในการมองมากเกินไป ส่วนดวงตาที่ข้างที่ไม่ค่อยได้ใช้ ก็อาจจะค่อย ๆ เสื่อมถอยลง และกลายเป็นโรคตาขี้เกียจ หากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้สูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้
ภาวะแทรกซ้อนของโรคตาขี้เกียจในเด็ก
หากเด็กที่ป่วยเป็นโรคตาขี้เกียจไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที อาจส่งผลให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง จนถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรในอนาคต มีงานวิจัยที่พบว่า 2.9% ของอาการตาบอดถาวรในผู้ใหญ่ มีสาเหตุมาจากโรคตาขี้เกียจในเด็กที่ไม่ได้ทำการรักษา
วิธีรักษาโรคตาขี้เกียจในเด็ก
การรักษาโรคตาขี้เกียจ อาจต้องใช้วิธีการปิดตาข้างที่เห็นชัด เพื่อให้ตาข้างที่เห็นไม่ชัด ได้ใช้งานบ้าง นอกจากนี้ ก็อาจจะต้องรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของโรคตาขี้เกียจ ดังนี้
- สำหรับเด็กที่มีอาการตาเขเพียงข้างเดียว คุณหมอจะทำการปิดดวงตาข้างที่ไม่มีความผิดปกติไว้ ให้เหลือแต่ดวงตาข้างที่ผิดปกติ เพื่อให้ได้ใช้งานดวงตาข้างที่ผิดปกตินั้น จนกระทั่งดวงตาทั้งสองข้างสามารถที่จะมองเห็นได้ดีเท่ากัน
- สำหรับเด็กที่มีปัญหาทางสายตา เช่น สายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง คุณหมออาจจะแนะนำให้เด็กใส่แว่นตาเป็นเวลา 6 เดือนเพื่อดูอาการ หากสายตาของเด็กดีขึ้นตามลำดับ ก็อาจไม่ต้องใช้วิธีการปิดตา และให้เด็กใช้แว่นตาต่อไปเรื่อย ๆ ตามปกติ
- สำหรับความผิดปกติของดวงตาอื่น ๆ เช่น ต้อกระจก ต้อหิน หนังตาตก แพทย์ก็อาจต้องทำการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม เช่น ใช้ยาหยอดยารักษาโรคหิน ทำการผ่าตัดเพื่อรักษาต้อกระจกหรือหนังตาตก
การป้องกันโรคตาขี้เกียจในเด็ก
โรคตาขี้เกียจมักเกิดขึ้นในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 ปี และเด็กทุกคนมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคตาขี้เกียจ โดยเฉพาะเด็กที่มีความผิดปกติทางสายตาอยู่แล้ว เช่น สายตาสั้น สายตายาว และ ตาเหล่ พ่อแม่หรือผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตอาการของทารก และตรวจสุขภาพของเด็กอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะทารกแรกเกิดไปจนถึงวัย 6-12 เดือน
ส่วนเด็กที่อยู่ในช่วงวัยก่อนเข้าเรียน หรืออายุประมาณ 3-4 ปี ควรเข้ารับการตรวจวัดสายตาเป็นประจำ หากตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ในระยะเนิ่น ๆ ก็จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
เด็กควรเริ่มตรวจดวงตาเมื่อไหร่
การตรวจดวงตาทำเพื่อตรวจหาความผิดปกติของดวงตา เช่น โรคตาขี้เกียจ การมองเห็นบกพร่อง ยิ่งตรวจพบความผิดปกติเร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากเท่านั้น
สมาคมจักษุแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (The American Academy of Ophthalmology) และสมาคมจักษุวิทยาเด็กและตาเขแห่งสหรัฐอเมริกา (the American Association for Pediatric Ophthalmology and Strabismus) ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการตรวจดวงตาในเด็ก ดังนี้
เด็กทารก
เด็กทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 1 ปี ควรได้รับการตรวจดวงตา ดังนี้
- ทารกแรกเกิด ควรตรวจแสงสะท้อนแสงจากจอประสาท หากดวงตาของเด็กสะท้อนกลับมาเป็นสีแดง หมายความว่าปกติ แต่หากไม่สะท้อนเป็นสีแดง อาจรับการตรวจเพิ่มเติม รวมถึงตรวจดูความผิดปกติของลักษณะดวงตา การกระพริบตา และการตอบสนองของรูม่านตาอีกด้วย
- ทารกอายุ 6-12 เดือน ควรตรวจดูตำแหน่งของดวงตา การเคลื่อนไหวของดวงตา และตรวจวัดสายตาของเด็ก เพื่อดูว่าทารกมีความผิดปกติในการมองเห็นหรือไม่ เช่น สายตายาว สายตาเอียง
เด็กอายุ 1-3 ปี
เด็กอายุ 1-3 ปี ควรตรวจดูพัฒนาการของดวงตาและความสามารถการมองเห็น นอกจากนี้ หากสงสัยว่าเด็กอาจมีปัญหาเกี่ยวกับสายตา อาจต้องตรวจวัดสายตาเพิ่มด้วย
เด็กอายุ 3-5 ปี
เด็กในช่วงวัยนี้ควรได้รับการตรวจความสามารถในการการมองเห็น และตำแหน่งของดวงตา นอกจากนี้ คุณหมออาจจะให้ตรวจดวงตาด้วยวิธี photoscreening เพื่อตรวจสอบหาความผิดปกติ ดังนี้
- โรคตาขี้เกียจ
- โรคตาเข ตาเหล่
- การหักเหของแสงที่เข้าสู่ดวงตาผิดปกติ เช่น สายตายาว สายตาเอียง
- ปัญหาเกี่ยวกับการโฟกัสของดวงตา
เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป
เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป ควรตรวจวัดสายตาเพื่อหาความผิดปกติของตำแหน่งการมองเห็น เช่น สายตาสั้น และดูว่าเด็กควรใส่แว่นหรือไม่ นอกจากนี้ก็อาจจำเป็นต้องทดสอบตาบอดสีอีกด้วย