backup og meta

ถุงยางผู้หญิง ข้อดี ข้อเสีย และวิธีการใช้

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/02/2023

    ถุงยางผู้หญิง ข้อดี ข้อเสีย และวิธีการใช้

    ถุงยางผู้หญิง เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการคุมกำเนิดที่ช่วยป้องกันไม่ให้น้ำอสุจิเข้าไปผสมกับไข่ภายในช่องคลอด หากใช้อย่างถูกวิธีอาจช่วยลดความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ได้ถึง 95% ดังนั้น จึงควรศึกษาถึงวิธีการใช้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม การใช้ถุงยางผู้หญิงอาจส่งผลให้รู้สึกไม่สบายตัว มีอาการคัน และแสบร้อนช่องคลอด รวมถึงรบกวนการมีเพศสัมพันธ์ อาจทำให้ไปถึงจุดสุดยอดได้ยากขึ้น และอาจทำให้ความพึงพอใจจากการมีเพศสัมพันธ์ลดลงได้

    ถุงยางผู้หญิง คืออะไร

    ถุงยางผู้หญิง คือ ถุงยางอนามัยสำหรับผู้หญิงในรูปแบบใส่ทางช่องคลอด เป็นอุปกรณ์สำหรับการคุมกำเนิดที่ทำจากน้ำยางสังเคราะห์หรือโพลียูรีเทน (Polyurethane) มีลักษณะเป็นวงแหวน 2 ด้าน โดยด้านหนึ่งเป็นแบบเปิดเพื่อให้อวัยวะเพศชายสามารถสอดเข้าได้ ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นแบบปิด เพื่อกีดขวางไม่ให้อสุจิของผู้ชายเข้าไปผสมกับไข่ในช่องคลอด หากใช้อย่างถูกวิธีอาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ถึง 95% อีกทั้งการสวมถุงยางผู้หญิงยังอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคหนองในเทียม หนองในแท้ โรคหูด โรคเริม การติดเชื้อเอชไอวี โรคซิฟิลิส และการติดเชื้อตับอักเสบ

    ข้อดีและข้อเสียของการใช้ถุงยางผู้หญิง

    ข้อดีและข้อเสียของการใช้ถุงยางผู้หญิง อาจมีดังนี้

    ข้อดีของถุงยางผู้หญิง

    • มีขนาดเล็กและพกพาสะดวก
    • สามารถใช้งานได้ทันทีที่ต้องการ หรืออาจใส่ล่วงหน้าได้ถึง 8 ชั่วโมง ก่อนมีเพศสัมพันธ์
    • สามารถใช้ได้กับองคชาตหลายขนาด
    • ผู้ชายไม่จำเป็นต้องนำอวัยวะเพศออกเมื่อถึงจุดสุดยอด
    • อาจก่อให้เกิดอาการแพ้น้อยกว่า และมีโอกาสถุงยางแตกน้อยกว่าเมื่อเทียบกับถุงยางอนามัยผู้ชาย
    • มีอายุการใช้งานยาวนาน บางยี่ห้ออาจอยู่นานถึง 5 ปี

    ข้อเสียของถุงยางผู้หญิง

    • มีอัตราการป้องกันการตั้งครรภ์ล้มเหลวมากถึง 21% ในขณะที่ถุงยางอนามัยผู้ชายมีอัตราการป้องกันการตั้งครรภ์ล้มเหลว 13%
    • อาจทำให้รู้สึกไม่สบายตัว ระคายเคืองช่องคลอด
    • อาจทำให้รู้สึกคันและแสบร้อนช่องคลอด
    • อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หากใส่ถุงยางผู้หญิงนานเกินไป
    • มีราคาสูงกว่าถุงยางอนามัยผู้ชาย
    • วิธีการใส่ยุ่งยากกว่าถุงยางอนามัยผู้ชาย เนื่องจากต้องสอดเข้าไปในช่องคลอด
    • อาจส่งผลกระทบต่อการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้รับความรู้สึกได้น้อยลง ทำให้อาจไปถึงจุดสุดยอดได้ยากมากขึ้น

    วิธีใช้ถุงยางผู้หญิง

    วิธีใช้ถุงยางผู้หญิง มีดังนี้

    1. นำถุงยางอนามัยออกจากบรรจุภัณฑ์ และตรวจดูว่าฝั่งใดเป็นด้านปิดและด้านเปิด
    2. จากนั้นใช้นิ้วชี้และนิ้วโป้งบีบวงแหวนบริเวณด้านปลายปิดให้มีขนาดเล็กพอที่จะสอดเข้าไปในช่องคลอดได้
    3. สอดถุงยางด้านเข้าไปในช่องคลอด แล้วใช้นิ้วมือสอดด้านปลายเปิด เพื่อดันให้ถุงยางเข้าไปด้านใน ติดกับปากมดลูก
    4. หลังจากมีเพศสัมพันธ์ให้ถอดถุงยางผู้หญิง โดยบิดวงแหวนด้านปลายเปิดเบา ๆ แล้วค่อย ๆ ดึงถุงยางออกจากช่องคลอด ห่อทิ้งในถังขยะให้เรียบร้อย และล้างมือให้สะอาด

    คำแนะนำในการใช้ถุงยางผู้หญิง

    คำแนะนำในการใช้ถุงยางอนามัยผู้หญิง มีดังนี้

  • อ่านวิธีการใช้ วันหมดอายุ และคำแนะนำข้างบรรจุภัณฑ์ก่อนใช้งาน
  • ระวังการฉีกบรรจุภัณฑ์ถุงยางผู้หญิง ควรหลีกเลี่ยงการใช้ของมีคมตัด เพราะอาจทำให้ถุงยางขาด
  • สามารถใช้สารหล่อลื่นร่วมด้วยได้ เพื่อให้ถุงยางสอดใส่ผ่านเข้าไปในช่องคลอดได้ง่ายขึ้น
  • ไม่ควรให้องคชาตสัมผัสบริเวณช่องคลอดก่อนใส่ถุงยางผู้หญิง
  • ระวังการมีเพศสัมพันธ์ที่รุนแรง เพราะอาจทำให้เกิดการดันถุงยางผู้หญิงเข้าไปในช่องคลอดลึกมากเกินไป
  • ไม่ควรใช้ถุงยางผู้หญิงซ้ำ หลังจากใช้งานเสร็จควรถอดทิ้งในถังขยะทันที และไม่ควรทิ้งลงในชักโครกเพราะอาจทำให้ท่ออุดตันได้
  • สำหรับผู้ที่แพ้น้ำยาง อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ ระคายเคือง ผื่นขึ้น และแสบร้อนช่องคลอด เนื่องจากถุงยางบางยี่ห้อทำจากน้ำยาง
  • ถึงแม้ถุงยางผู้หญิงอาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์และช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ แต่ก็อาจไม่สามารถป้องกันได้ 100% เนื่องจากเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิด เช่น เชื้อเริม หูด และซิฟิลิส อาจส่งผ่านทางน้ำลาย และบาดแผลบนผิวหนัง ดังนั้น ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคเป็นประจำ รวมถึงศึกษาวิธีการใช้ถุงยางผู้หญิงอย่างถูกต้อง และวิธีการเก็บรักษาอย่างเหมาะสม

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 27/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา