backup og meta

รักษาเริมด้วยตัวเอง และวิธีป้องกันโรคเริม

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/06/2022

    รักษาเริมด้วยตัวเอง และวิธีป้องกันโรคเริม

    โรคเริม เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากไวรัส ซึ่งมีสาเหตุมาจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ป้องกัน ที่สามารถพบได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย โดยอาจสังเกตได้จากอาการแผลพุพองบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือริมฝีปาก วิธีการรักษาเริมด้วยตัวเอง อาจทำได้โดยการรับประทานยาต้านไวรัสตามที่คุณหมอกำหนดอย่างเคร่งครัด และปรับพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์โดยการป้องกันทุกครั้งด้วยการสวมถุงยางอนามัย

    โรคเริมเกิดจากอะไร

    โรคเริมเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus) ผ่านการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การจูบ และการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ติดเชื้อไวรัส เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง รวมถึงเด็กที่อาจได้รับเชื้อมาจากคุณแม่ระหว่างคลอด

    ไวรัสเริมแบ่งออก 2 ชนิด ได้แก่

    HSV-1

    • มักทำให้เกิดโรคเริมที่ริมฝีปาก ส่วนใหญ่แพร่กระจายผ่านการสัมผัสผิวหนัง และสามารถแพร่กระจายไปยังบริเวณอวัยวะเพศได้หากมีเพศสัมพันธ์ทางปาก โรคเริมที่ปากอาจส่งผลให้มีอาการดังนี้
    • แผลพุพอง หรือตุ่มน้ำใส มักปรากฏบริเวณริมฝีปากและจมูก
    • มีไข้ ปวดศีรษะ
    • ต่อมน้ำเหลืองบวม
    • รอยแดง อาการคัน และแสบร้อนในช่องปาก
    • แผลเป็นสะเก็ดแข็ง

    HSV-2

    • มักทำให้เกิดโรคเริมที่อวัยวะเพศและทวารหนัก โดยไวรัสจะแพร่กระจายจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และผ่านทางการสัมผัสทางผิวหนังของผู้ติดเชื้อ อาการจะเริ่มปรากฏหลังสัมผัสกับไวรัสประมาณ 4-5 วัน การติดเชื้อในครั้งแรกจะมีอาการหนักสุด ได้แก่ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย จากนั้น 1-2 สัปดาห์ต่อมา จะเริ่มมีรอยโรคที่อวัยวะเพศ เป็นลักษณะตุ่มใสขนาด 1-2 มิลลิเมตร จากนั้นจะแตกและมีน้ำสีเหลืองข้นเคลือบด้านบน เจ็บ และอาจมีปัสสาวะแสบขัด รวมระยะเวลาที่มีอาการประมาณ 2-4 สัปดาห์

    เริมหายเองได้ไหม

    โดยปกติ เมื่อกลับมาเป็นโรคเริมซ้ำ อาการมักไม่รุนแรง และมักหายไปได้เองภายใน 1 สัปดาห์ แต่อาจใช้เวลาและรบกวนชีวิตประจำวันพอสมควร มักจะเป็นที่ตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใกล้เคียง ระยะแรกจะรู้สึกยิบ ๆ ที่อวัยวะเพศเป็นสัญญาณเตือนก่อน  บางรายจะมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวเล็กน้อย อาจมีอาการเกิดซ้ำในครั้งต่อ ๆ ไป สัมพันธ์กับภูมิต้านทานที่อ่อนแอลง เช่น ช่วงก่อนมีประจำเดือน มีความเครียด อดนอนหรือการไม่สบายจากโรคอื่น

    หากโรคเริมไม่หายไปเอง สามารถช่วยบรรเทาอาการเริมให้ดีขึ้นตามลำดับจนหายได้ภายใน 7-10 วัน หรือ 2-3 สัปดาห์ หากรับประทานยารักษาและดูแลตัวเองตามคำแนะนำของคุณหมอเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม โรคเริมไม่สามารถรักษาให้หายขาดและอาจมีอาการเกิดขึ้นซ้ำ ๆ หากมีพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน การใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น รวมถึงการนอนพักผ่อนไม่เพียงพอ และมีความเครียดสะสม เพราะอาจส่งผลให้ การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันลดลง จนกระตุ้นให้อาการกำเริบขึ้น

    การรักษาเริมด้วยตัวเอง

    การรักษาเริมด้วยตัวเอง อาจทำได้ดังนี้

    • ยาต้านไวรัส ใช้เพื่อช่วยลดความรุนแรงของแผล ช่วยให้แผลเริมหายเร็วขึ้น ลดโอกาสการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น ซึ่งมีในรูปแบบรับประทานและขี้ผึ้ง เช่น วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) เพนซิโคลเวียร์ (Penciclovir)
    • การประคบเย็นบริเวณแผลเริม อาจช่วยบรรเทาอาการคันและปวดแสบปวดร้อนแผล โดยสามารถประคบได้วันละหลาย ๆ ครั้ง ครั้งละ 2-3 นาที
    • การนอนหลับให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้ร่างกายได้ฟื้นฟู ลดความเครียด และช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานดีขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้อาการของโรคเริมหายไวขึ้น
    • การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เพื่อช่วยเสริมให้ระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง ช่วยฟื้นฟูสุขภาพ ซึ่งอาจช่วยให้แผลเริมหายไวขึ้น และป้องกันอาการเริมกำเริบ
    • การล้างแผลเริม สำหรับแผลเริมที่อวัยวะเพศควรล้างแผลเริมด้วยสบู่สูตรอ่อนโยนและน้ำสะอาด จากนั้นซับให้แห้ง ไม่ควรพันแผลหรือสวมกางเกงชั้นในที่รัดแน่น รวมถึงไม่ควรทาโลชั่นหรือครีมบริเวณแผลเริม เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคือง เจ็บแสบแผลได้ สำหรับเริมที่ริมฝีปากอาจใช้น้ำเกลือเช็ดเพื่อบรรเทาอาการแผลพุพอง

    วิธีป้องกันโรคเริม

    วิธีป้องกันโรคเริม มีดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย
    • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแผล น้ำลาย และสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ
    • ไม่ควรใช้ของร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า แก้วน้ำ
    • ตรวจสุขภาพเป็นประจำ โดยเฉพาะสตรีตั้งครรภ์ เพื่อตรวจคัดกรองโรคเริมก่อนแพร่กระจายไปสู่ทารกระหว่างคลอด

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงวรัญญา สิริธนาสาร

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์


    เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 28/06/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา