backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ

1

ถามคุณหมอ
บันทึก

ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์ · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 4 สัปดาห์ก่อน

ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

การรับประทาน ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด ทันที หลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ถุงยางอนามัยแตก ลืมรับประทานยาคุม หรือภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ อาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ ยิ่งรับประทานยาคุมชนิดนี้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งลดโอกาสในการตั้งครรภ์ได้มากขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้ การใช้ยาคุมฉุกเฉินมีข้อจำกัดในการใช้งานและความเสี่ยงจากการใช้ยา จึงควรทำความเข้าใจวิธีการใช้ยาที่ถูกต้องและศึกษาผลข้างเคียงอย่างละเอียดเพื่อเพิ่มความปลอดภัยต่อสุขภาพ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์

ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด ทำงานอย่างไร

ยาคุมฉุกเฉินออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์เมื่อมีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยโดยช่วยชะลอหรือยับยั้งการตกไข่ ช่วยป้องกันอสุจิเดินทางไปผสมกับไข่ และช่วยขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อนที่เกิดจากไข่ผสมกับอสุจิและปฏิสนธิ ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ดังนี้

ลีโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel)

เป็นยาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่มีฮอร์โมนโปรเจสตินสังเคราะห์ มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ประมาณ 87% มีทั้งแบบ 1 เม็ด และแบบ 2 เม็ด หากเป็นแบบ 1 เม็ด ขนาดยา 1.5 มิลลิกรัม ให้รับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหรือ 3 วันหลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ส่วนแบบ 2 เม็ด ขนาดยา 0.75 มิลลิกรัม ให้รับประทานห่างกัน 12 ชั่วโมง หรือรับประทานพร้อมกันทั้ง 2 เม็ด ภายใน 72 ชั่วโมงหรือ 3 วัน หลังจากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ลีโวนอร์เจสเตรลจะออกฤทธิ์ชะลอการตกไข่ และป้องกันไม่ให้ไข่ผสมกับอสุจิและเกิดการปฏิสนธิได้ แต่หากรับประทานหลังไข่ตกแล้วอาจป้องกันการตั้งครรภ์ไม่ได้

ยูริพริสทอล อะซิเตท (Ulipristal Acetate)

เป็นยาคุมกำเนิดฉุกเฉินที่หยุดการทำงานของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ช่วยหยุดหรือชะลอการตกไข่ มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ประมาณ 80-90% มีขนาดยา 30 มิลลิกรัม รับประทานเพียงเม็ดเดียวภายใน 120 ชั่วโมงหรือ 5 วัน หลังมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ยาคุมฉุกเฉินชนิดนี้สามารถคุมกำเนิดได้ดีกว่าชนิดลีโวนอร์เจสเตรล เนื่องจากสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้แม้ว่าจะอยู่ในช่วงตกไข่ มีฤทธิ์ต้านการฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้วด้วยการยับยั้งการทำงานของเยื่อบุโพรงมดลูก ทั้งนี้ ยังไม่มีจำหน่ายในประเทศไทย

วิธีใช้ ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด

วิธีใช้ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด อย่างถูกวิธี อาจมีดังนี้

  • ควรรับประทานยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ดให้เร็วที่สุด หรือภายใน 72-120 ชั่วโมง หรือ 3-5 วัน หลังการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของยา เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
  • หากมีการอาเจียนภายใน 2 ชั่วโมงหลังจากรับประทานยาคุมฉุกเฉิน ควรถามคุณหมอหรือเภสัชกรว่าควรรับประทานยาอื่น ๆ เพื่อทดแทนหรือไม่ หรือต้องรับประทานยาุคมอีก 1 เม็ด โดยอาจต้องกินยาแก้คลื่นไส้ก่อน
  • ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันหลังการรับประทานยาคุมฉุกเฉิน การใช้ยาคุมจะได้ผลก็ต่อเมื่อรับประทานหลังการมีเพศสัมพันธ์เท่านั้น จึงจำเป็นต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่น ๆ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์
  • ยาคุมฉุกเฉินอาจช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ได้ แต่ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ได้ จึงควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ไม่ทราบประวัติกิจกรรมทางเพศหรือหากมีคู่นอนหลายคน
  • การใช้ยาคุมฉุกเฉินมีประสิทธิภาพน้อยกว่าการคุมกำเนิดวิธีอื่น หากประจำเดือนไม่มาภายใน 3-4 สัปดาห์หลังใช้ยาคุมฉุกเฉิน ควรใช้ที่ตรวจครรภ์เพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้ของการตั้งครรภ์
  • ผู้ที่กำลังใช้ยารักษาโรค มีความดันโลหิตสูง เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็งเต้านม โรคตับระดับรุนแรง หรือเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ควรปรึกษาคุณหมอหรือเภสัชกรก่อนตัดสินใจใช้ยาคุมฉุกเฉิน

เมื่อไรที่ควรใช้ยาคุมฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด

ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินแบบ 1 เม็ด ไม่ควรนำมาใช้ทดแทนการรับประทานยาคุมกำเนิด เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์น้อยกว่า ทำให้เสี่ยงตั้งครรภ์ได้ง่ายกว่าการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น สถานการณ์ที่เหมาะในการเลือกใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน อาจมีดังนี้

  • ไม่ได้ใช้วิธีคุมกำเนิดใด ๆ เมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • ถุงยางอนามัยหลุดหรือแตก
  • ลืมรับประทานยาคุมกำเนิดตามปกติอย่างน้อย 2-3 เม็ดติดต่อกัน
  • ลืมใส่ห่วงอนามัยหรือลืมแปะแผ่นแปะคุมกำเนิด
  • สงสัยว่าวิธีคุมกำเนิดที่ใช้อยู่อาจไม่ได้ผล
  • ถูกบังคับให้มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน

ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมฉุกเฉิน ในกรณีต่อไปนี้

  • กำลังตั้งครรภ์หรือสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์
  • มีประวัติแพ้ส่วนประกอบ เช่น ฮอร์โมนต่าง ๆ ในยาคุมกำเนิด
  • มีประวัติเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยจากคุณหมอ

ผลข้างเคียงของการใช้ยาคุมฉุกเฉิน

หลังรับประทานยาคุมฉุกเฉิน 2-3 วัน อาจเกิดผลข้างเคียงดังต่อไปนี้ได้

  • ปวดศีรษะ
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • ปวดท้อง
  • อ่อนเพลีย
  • เต้านมคัดตึง
  • ท้องเสีย
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • มีเลือดออกจากช่องคลอด

วิธีบรรเทาอาการที่เกิดจากการใช้ยาคุมฉุกเฉิน มีดังนี้

  • หากมีอาการไม่สบายหรือปวดตามร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง ให้รับประทานยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือนาพรอกเซน (Naproxen) เป็นเวลา 1-2 วัน เพื่อบรรเทาอาการปวด
  • หากอาเจียนหรือคลื่นไส้จนไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ให้รับประทานอาหารบ่อยขึ้น โดยแบ่งอาหารในแต่ละมื้อให้น้อยลง เพื่อให้ได้รับสารอาหารเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
  • หากเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงขึ้นหรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงอรกนิษฐา อรุณาทิตย์

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 4 สัปดาห์ก่อน

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา