backup og meta

ประจำเดือนเลื่อน นานสุด กี่วัน ถึงจะเรียกว่าผิดปกติ

ประจำเดือนเลื่อน นานสุด กี่วัน ถึงจะเรียกว่าผิดปกติ

ประจำเดือนเลื่อน นานสุด กี่วัน คำตอบคือ ปกติรอบเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 21-35 วัน หากมาช้ากว่า 35 วันในรอบเดือนนั้นโดยที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อาจเป็นสัญญาณว่ามีภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือตั้งครรภ์ แต่หากตรวจแล้วไม่พบว่าตั้งครรภ์ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การพักผ่อนอย่างเพียงพอ การออกกำลังกายที่เหมาะสมเป็นประจำ การจัดการความเครียด แต่หากประจำเดือนยังมาไม่ปกติ ควรไปพบคุณหมอเพื่อหาสาเหตุต่อไป

[embed-health-tool-ovulation]

ประจำเดือนเลื่อน นานสุด กี่วัน

โดยปกติรอบเดือนของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์จะมาทุก ๆ 21-35 วัน โดยอาจช้าหรือเร็วกว่ารอบเดือนปกติที่มาเป็นประจำทุกเดือนประมาณ 3-7 วัน แต่หากพบว่าประจำเดือนมาช้ากว่า 35 วัน แสดงว่ามีภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติ (Amenorrhea) ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย

สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนเลื่อน

สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนเลื่อน อาจมีดังนี้

  • การตั้งครรภ์ สำหรับผู้ที่มีประจำเดือนมาช้ากว่าปกติไปอย่างน้อย 1 สัปดาห์ และในช่วงก่อนหน้านี้ไม่ได้ใช้อุปกรณ์คุมกำเนิดขณะมีเพศสัมพันธ์ แสดงว่าอาจตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม ควรตรวจครรภ์เพื่อยืนยันผลการตั้งครรภ์ และไปฝากครรภ์ที่คลินิกหรือโรงพยาบาลโดยเร็ว
  • ความเครียด เมื่อมีความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลหรือฮอร์โมนแห่งความเครียดในปริมาณมาก ซึ่งมักส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์และทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • น้ำหนักลดกะทันหัน น้ำหนักที่ลดลงอย่างรวดเร็วอาจทำให้ประจำเดือนมาช้ากว่าปกติได้ เนื่องจากร่างกายมีไขมันไม่เพียงพอเพื่อใช้เป็นพลังงานสำหรับการทำงานของระบบสืบพันธุ์ตามปกติ ส่งผลให้ร่างกายหยุดผลิตฮอร์โมนที่จำเป็นสำหรับการตกไข่และการมีประจำเดือน
  • น้ำหนักเกินมาตรฐาน ผู้มีน้ำหนักเกินเกณฑ์อาจส่งผลให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนในปริมาณที่มากเกินไป ส่งผลให้ระดับฮอร์โมนไม่สมดุลซึ่งอาจทำให้ประจำเดือนเลื่อนได้
  • ออกกำลังกายหักโหม ผู้ที่ออกกำลังกายหักโหมเพื่อเผาผลาญไขมันและสร้างกล้ามเนื้อ อาจเกิดปัญหามีไขมันน้อยกว่าที่ร่างกายต้องการใช้ ทำให้ระบบฮอร์โมนหยุดทำงานและกระทบต่อการตกไข่ตามปกติ ส่งผลให้ประจำเดือนมาช้ากว่าเดิม นอกจากนี้ ผู้ที่ควบคุมแคลอรีอย่างเข้มงวดในช่วงลดน้ำหนักก็อาจทำให้ร่างกายมีไขมันไม่เพียงพอจนประจำเดือนเลื่อนได้เช่นกัน
  • การใช้ยาคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดอาจทำให้ระดับฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลงและอาจทำให้ประจำเดือนเลื่อนหรือมาผิดปกติไปบ้าง เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนเดี่ยว (Progestin only pill หรือ POP) ยาฉีดคุมกำเนิด ห่วงอนามัยชนิดหลั่งสารโปรเจสติน (Progestin-releasing IUDs) อาจทำให้ประจำเดือนไม่มาไปเลยก็ได้ แต่ตามปกติหากหยุดใช้ยาคุมกำเนิดแล้วก็จะกลับมาเป็นประจำเดือนตามปกติ
  • วัยหมดประจำเดือน เมื่อผู้หญิงอายุประมาณ 50 ปี ประจำเดือนจะเริ่มมาช้ากว่าปกติ มากะปริบกะปรอย หรือไม่มาเลยในบางเดือน เนื่องจากระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนเริ่มลดลงและการตกไข่จะน้อยลง นอกจากนี้ อาจเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ร้อนวูบวาบ หนาวสั่นโดยไม่มีสาเหตุ กลางคืนมักจะนอนไม่หลับแต่ตื่นเร็ว
  • ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome: PCOS) เป็นปัญหาสุขภาพที่เกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนที่รบกวนกระบวนการปล่อยไข่ อาจทำให้ประจำเดือนเลื่อน ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น มีสิว ขนขึ้นตามร่างกายมากกว่าปกติ ผมร่วง น้ำหนักเพิ่มขึ้นและลดน้ำหนักได้ยาก
  • ปัญหาต่อมไทรอยด์ ต่อมไทรอยด์เป็นส่วนหนึ่งของกลไกการทำงานของระบบฮอร์โมนในร่างกาย หากเกิดความผิดปกติขึ้น เช่น ภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ (Hyperthyroidism) ภาวะขาดไทรอยด์ (Underactive Thyroid) อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ประจำเดือนเลื่อน หรือขาดหายไป แต่บางครั้งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นอาการของวัยหมดประจำเดือนได้เช่นกัน หากไม่แน่ใจว่าประจำเดือนเลื่อนเกิดจากสาเหตุใดควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงและรับการรักษาได้อย่างตรงจุด

การดูแลตัวเองเมื่อประจำเดือนเลื่อน

วิธีดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมซึ่งอาจทำให้ระดับฮอร์โมนสมดุลมากขึ้นและช่วยให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติได้ ลองปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และให้คุณค่าทางโภชนาการที่ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่ ไม่รับประทานอาหารซ้ำ ๆ จำเจ เลือกอาหารจากแหล่งที่มีมาตรฐาน สด สะอาด ไม่มีสารพิษปนเปื้อน และล้างผักผลไม้ให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทาน
  • จัดการกับความเครียดของตัวเอง เช่น ปรึกษาและระบายกับคนรอบข้าง ไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด ทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่สนใจ อ่านหนังสือเล่มโปรด นั่งสมาธิหรือฝึกควบคุมลมหายใจ
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที โดยเลือกกิจกรรมหรือกีฬาที่สนใจเพื่อให้มีแรงกระตุ้นในการออกกำลังกายจนเป็นนิสัย
  • ควบคุมน้ำหนักของตัวเองให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่มากหรือน้อยจนเกินไป
  • นอนหลับให้เพียงพอเพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูและซ่อมแซมตัวเองอย่างเต็มที่ในตอนกลางคืน
  • งดสูบบุหรี่หรือสูดดมควันบุหรี่มือสอง รวมไปถึงหลีกเลี่ยงยาเสพติดและยากล่อมประสาท
  • รักษาปัญหาสุขภาพของตัวเองให้หาย ซึ่งอาจช่วยให้ระดับฮอร์โมนกลับสู่ภาวะปกติและทำให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติ

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

หากมีอาการต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการดูแลอย่างเหมาะสม

  • ประจำเดือนไม่มาติดต่อกัน 3 เดือน
  • ประจำเดือนไม่มาและมีอาการที่บ่งบอกว่าตั้งครรภ์ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน อารมณ์แปรปรวน หน้าอกบวม
  • ประจำเดือนมามากกว่า 7 วัน
  • ประจำเดือนหยุดก่อนอายุ 45 ปี
  • ยังมีประจำเดือนอยู่หลังจากอายุ 55 ปี

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

8 Reasons Why Your Period Is Late. https://health.clevelandclinic.org/why-is-my-period-late/. Accessed June 20, 2023

Stopping the Pill? 10 Ways Your Body May Change. https://www.webmd.com/sex/birth-control/stopping-pill-10-ways-body-changes. Accessed June 20, 2023 

Menstrual Period – Missed or Late. https://www.seattlechildrens.org/conditions/a-z/menstrual-period-missed-or-late/. Accessed June 20, 2023 

Stopped or missed periods. https://www.nhs.uk/conditions/stopped-or-missed-periods/. Accessed June 20, 2023 

Amenorrhea. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/amenorrhea/symptoms-causes/syc-20369299. Accessed June 20, 2023 

เวอร์ชันปัจจุบัน

10/07/2023

เขียนโดย ศุภานิช สุริโย

ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย Duangkamon Junnet

อัปเดตโดย: Duangkamon Junnet


บทความที่เกี่ยวข้อง

ประจำเดือนเลื่อน เกิดจากอะไร มาช้าหรือเร็วแค่ไหนคือผิดปกติ

ถ้า เครียด ประจำเดือนเลื่อน กี่วัน ควรหาหมอเมื่อใด


ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลโดย

Duangkamon Junnet


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 10/07/2023

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา