backup og meta
สำรวจ
เครื่องมือตรวจเช็กสุขภาพ
ถามคุณหมอ
บันทึก

รักษาช่องคลอดอักเสบด้วยตัวเอง ทำได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/02/2024

รักษาช่องคลอดอักเสบด้วยตัวเอง ทำได้อย่างไร

ช่องคลอดอักเสบ อาจเกิดจากแบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุล ส่งผลให้มีการติดเชื้อ นำไปสู่อาการคัน เจ็บแสบขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์ มีตกขาวผิดปกติ ซึ่งอาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน จึงควรศึกษาวิธี รักษาช่องคลอดอักเสบด้วยตัวเอง เพื่อบรรเทาอาการเริ่มต้น รวมถึงวิธีป้องกันที่อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นช่องคลอดอักเสบ

สาเหตุของภาวะช่องคลอดอักเสบ

สาเหตุของภาวะช่องคลอดอักเสบ มีดังนี้

  • ช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย อาจเกิดจากแบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุล ส่งผลให้เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตมากเกินไป และทำให้เกิดการติดเชื้อ
  • การติดเชื้อราแคนดิดา (Candida) ปกติแล้วช่องคลอดจะมีเชื้อราแคนดิดาอาศัยอยู่ แต่หากมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้น เช่น ความอับชื้น ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) การควบคุมอาการของโรคเบาหวานไม่ดี ก็อาจทำให้เชื้อราเพิ่มจำนวนมากขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะช่องคลอดอักเสบ
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคพยาธิในช่องคลอด โรคเริม อาจติดต่อผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน ทำให้เชื้อแพร่กระจายเข้าสู่ช่องคลอด นำไปสู่อาการช่องคลอดอักเสบ เนื้อเยื่อช่องคลอดเสียหาย บางคนอาจมีแผลภายในช่องคลอด
  • วัยหมดประจำเดือน อาจส่งผลให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนลดลง ทำให้เยื่อบุมดลูกบาง และช่องคลอดแห้ง นำไปสู่อาการคันระคายเคืองในช่องคลอด และอาจรู้สึกเจ็บแสบขณะปัสสาวะหรือระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • อาการแพ้ มักเกิดจากการแพ้สารเคมีในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด สบู่ น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผงซักฟอก ผ้าอนามัย หรือกระดาษชำระ ที่ทำให้ช่องคลอดหรือรอบ ๆ ช่องคลอดระคายเคืองและอักเสบ

อาการช่องคลอดอักเสบ

อาการช่องคลอดอักเสบ อาจสังเกตได้จาก

  • ตกขาวผิดปกติ เช่น ตกขาวมีความเหนียวข้น ตกขาวสีเขียว สีเทา หรือสีเหลือง และมีกลิ่นไม่พึงประสงค์
  • คันช่องคลอด
  • เจ็บแสบช่องคลอด และอาจมีเลือดออกขณะปัสสาวะหรือมีเพศสัมพันธ์
  • ช่องคลอดบวมแดง
  • ปวดท้องช่วงล่าง
  • มีแผลบริเวณรอบ ๆ ช่องคลอดหรือในช่องคลอด ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV)

อย่างไรก็ตาม หากสังเกตว่ามีอาการคันช่องคลอด ช่องคลอดมีกลิ่น สีตกขาวผิดปกติ ปวดกระดูกเชิงกราน มีไข้ หนาวสั่น ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการตรวจทันที

การรักษาช่องคลอดอักเสบด้วยตัวเอง

การรักษาช่องคลอดอักเสบด้วยตัวเอง อาจทำได้โดยการนำผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นหมาด ๆ มาประคบบริเวณที่ระคายเคือง เพื่อบรรเทาอาการเบื้องต้น และใช้ยารักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะช่องคลอดอักเสบ ซึ่งอาจหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปโดยแจ้งอาการเบื้องต้นให้เภสัชกรทราบ เพื่อจัดหายารักษาได้เหมาะสม ควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องจนกว่าคุณหมอจะสั่งให้หยุดใช้ยา

ยารักษาที่คุณหมอแนะนำ มีดังนี้

  • ยารักษาภาวะช่องคลอดอักเสบจากแบคทีเรีย คุณหมออาจแนะนำเป็นยาเม็ดหรือเจลทาบริเวณที่ได้รับผลกระทบเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เช่น เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) ทินิดาโซล (Tinidazole) เซคนิดาโซล (Secnidazole)
  • ยารักษาการติดเชื้อรา มีทั้งในรูปแบบครีมสำหรับทา และยาเหน็บ ใช้เพื่อต้านเชื้อรา เช่น ไมโคนาโซล (Miconazole) ไทโอโคนาโซล (Tioconazole) โคลไทรมาโซล (Clotrimazole) และบูโตโคนาโซล (Butoconazole)
  • ยาต้านไวรัส อาจใช้สำหรับภาวะช่องคลอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) ที่ได้รับมาจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน
  • การรักษาสำหรับช่วงวัยหมดประจำเดือน อาจใช้ยาที่มีส่วนประกอบของฮอร์โมนเอสโตรเจนในรูปแบบครีมสำหรับทาในช่องคลอด หรือยาเหน็บ หรืออาจใช้สารหล่อลื่นเพื่อช่วยบรรเทาอาการช่องคลอดแห้ง

การป้องกันช่องคลอดอักเสบ

การป้องกันช่องคลอดอักเสบ อาจทำได้ ดังนี้

  • ควรสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และ
  • ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ไม่สวนล้างช่องคลอดหรือฉีดน้ำแรง ๆ บริเวณช่องคลอดขณะทำความสะอาดเพราะอาจทำให้แบคทีเรียในช่องคลอดเสียสมดุล ควรทำความสะอาดบริเวณรอบ ๆ อวัยวะเพศภายนอกช่องคลอดเท่านั้น นอกจากนี้ หลังเข้าห้องน้ำควรทำความสะอาด และใช้ทิชชู่ซับน้ำ โดยเช็ดจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อลดการแพร่กระจายแบคทีเรียจากบริเวณทวารหนักเข้าสู่ช่องคลอด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของน้ำหอม เช่น สบู่ น้ำยาทำความสะอาดอวัยวะเพศ รวมถึงสังเกตผ้าอนามัย ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่มที่ใช้อยู่ เพราะอาจก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณช่องคลอดได้
  • ไม่ควรสวมกางเกงชั้นในที่รัดแน่นจนเกินไป และเลือกกางเกงชั้นในที่ทำจากผ้าฝ้ายที่ระบายอากาศได้ดี ลดความอับชื้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยให้สุขภาพแข็งแรง เพื่อให้สามารถต่อสู้กับการติดเชื้อ
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพช่องคลอดเป็นประจำ เพื่อคัดกรองโรคและความผิดปกติเกี่ยวกับช่องคลอด

หมายเหตุ

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด



ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ปัญญพัฒน์ เอี่ยมสิน · แก้ไขล่าสุด 26/02/2024

ad iconโฆษณา

คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

ad iconโฆษณา
ad iconโฆษณา