เอสโตรเจน หรือฮอร์โมนเพศหญิง ผลิตจากต่อมหมวกไตและรังไข่ มีบทบาทต่อการเจริญเติบโตและลักษณะทางร่างกายของเพศหญิง เช่น เต้านม สะโพกผาย ผิว ประจำเดือน การผลิตไข่ การตกไข่ นอกจากนี้ ยังมีบทบาทในด้านอื่น ๆ เช่น ควบคุมคอเลสเตอรอล ปกป้องสุขภาพกระดูก สมอง หัวใจ ผิวหนัง และเนื้อเยื่อ โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนอาจประกอบด้วยฮอร์โมน ดังนี้
- เอสโทรเจน (Estrogen) เป็นฮอร์โมนที่ผลิตจากรังไข่เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และมีระดับสูงขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์
- เอสตราไดออล (Estradiol) เป็นฮอร์โมนเพศหลักของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ ผลิตจากรังไข่ มีบทบาทต่อพัฒนาการด้านลักษณะของเพศหญิง การทำงานทางเพศ และสำคัญต่อสุขภาพกระดูกของผู้หญิง นอกจากนี้ ฮอร์โมนเอสตาไดออลที่ผิดปกติอาจทำให้เกิดเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เนื้องอกในมดลูก และมะเร็งในเพศหญิงได้ด้วย
- เอสโทรน (Estrone) เป็นฮอร์โมนที่กระจายอยู่ทั่วไปในร่างกาย เป็นเอสโตรเจนหลักที่มักเกิดขึ้นในช่วงหลังวัยหมดประจำเดือน
โปรเจสเตอโรน (Progesterone)
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนผลิตจากคอร์ปัสลูเทียม (Corpus luteum) ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อชั่วคราวที่ร่างกายสร้างขึ้นหลังจากการตกไข่ เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการตั้งครรภ์และมีระดับสูงขึ้นในช่วงตั้งครรภ์หรือมีรอบเดือน
โปรเจสเตอโรนมีหน้าที่สร้างเยื่อบุโพรงมดลูกเพื่อเตรียมพร้อมตั้งครรภ์หลังการตกไข่ โดยกระตุ้นให้เยื่อบุหนาขึ้นเพื่อรองรับไข่ที่ปฏิสนธิแล้ว นอกจากนี้ ยังช่วยยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อในมดลูกที่อาจทำให้ร่างกายปฏิเสธไข่ ร่างกายจะไม่ตกไข่ในช่วงที่มีระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายสูง
หากไม่เกิดการตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายลดลงทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกลอกตัวออก และเกิดเป็นประจำเดือน แต่หากมีการตั้งครรภ์ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างหลอดเลือดในเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ เมื่อรกพัฒนาขึ้นร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับของโปรเจสเตอโรนยังคงสูงตลอดการตั้งครรภ์ ทำให้ร่างกายไม่ผลิตไข่เพิ่มขึ้น และยังช่วยเตรียมเต้านมสำหรับการผลิตน้ำนมอีกด้วย
โปรเจสติน (Properties) เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์ที่ถูกสร้างขึ้นมักใช้ร่วมกับเอสโตรเจน มีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน สามารถเปลี่ยนเยื่อบุโพรงมดลูกและหยุดการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูกได้ ฮอร์โมนโปรเจสตินถูกพัฒนามาเป็นยาคุมกำเนิดเนื่องจากมีคุณสมบัติดูดซึมได้ดีกว่าโปรเจสเตอโรน นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ในการรักษาอาการวัยหมดประจำเดือน เช่น ร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง
ปัญหาจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศ
ความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศอาจทำให้เกิดปัญหาได้ ดังนี้
ฮอร์โมนแอนโดรเจน และฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ที่ต่ำเกินไปในผู้ชายอาจทำให้มีอาการขนร่วง สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ความต้องการทางเพศลดลง ขนาดอัณฑะเล็ก จำนวนอสุจิลดลง เกิดภาวะมีบุตรยาก หน้าอกขยาย อารมณ์แปรปวน กระดูกเปราะ และร้อนวูบวาบ สำหรับผู้หญิงอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ความต้องการทางเพศลดลง กระดูกเปราะ และขาดสมาธิ
หากผู้ชายมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูงอาจทำให้จำนวนอสุจิต่ำ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว เสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย โรคตับ สิว บวมน้ำ ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง ปวดหัว มวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น ลิ่มเลือด และอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว สำหรับผู้หญิงที่มีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูง ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่มีปัญหากลุ่มอาการรังไข่มีถุงน้ำหลายใบ อาจทำให้เกิดอาการประจำเดือนมาไม่ปกติ ความต้องการทางเพศลดลง มีขนบนใบหน้า แขนขา และลำตัว ศีรษะล้าน ผิวคล้ำ น้ำหนักขึ้น ซึมเศร้า และวิตกกังวล
ฮอร์โมนเอสโตรเจน ที่ต่ำเกินไปมักเกิดขึ้นในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนหรือผู้ที่ผ่านการผ่าตัดรังไข่ อาจทำให้มีอาการร้อนวูบวาบ ประจำเดือนหยุดหรือมาน้อย ปัญหาการนอนหลับ ช่องคลอดแห้ง ความต้องการทางเพศต่ำ อารมณ์แปรปรวน และผิวแห้ง สำหรับผู้ชายอาจทำให้เกิดไขมันส่วนเกินสะสมที่หน้าท้องและความต้องการทางเพศต่ำ
ผู้หญิงที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงมักทำให้เกิดปัญหาน้ำหนักขึ้น มีไขมันสะสม โดยเฉพาะบริเวณเอว สะโพก และต้นขา ประจำเดือนไม่ปกติ ปวดท้องก่อนมีประจำเดือน มีก้อนที่เต้านม เนื้องอกในมดลูกที่ไม่เป็นมะเร็ง เหนื่อยล้า วิตกกังวล และความต้องการทางเพศต่ำ สำหรับผู้ชายอาจทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก หน้าอกขยาย และอวัยวะเพศไม่แข็งตัว
ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ที่ต่ำเกินไปอาจทำให้รอบเดือนผิดปกติและมีปัญหาการตั้งครรภ์ เช่น ภาวะมีบุตรยาก แท้งบุตร คลอดก่อนกำหนด สัญญาณของโปรเจสเตอโรนต่ำ ได้แก่ เลือดออกผิดปกติในมดลูก ประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดท้องระหว่างตั้งครรภ์ แท้งบุตรบ่อยครั้ง
ทำอยางไรให้ฮอร์โมนสมดุล
การปรับสมดุลฮอร์โมนสามารถทำได้ด้วยวิธีเหล่านี้
- การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทน สำหรับวัยหมดประจำเดือนที่มีอาการร้อนวูบวาบ
- การให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทางช่องคลอด สำหรับผู้มีอาการช่องคลอดแห้ง หรือปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
- การใช้ยาคุมกำเนิด เพื่อช่วยปรับฮฮร์โมน คุมรอบประจำเดือน ลดสิวและขนตามใบหน้าหรือร่างกาย
- การใช้ยาต้านแอนโดเจน สำหรับผู้หญิงที่มีระดับฮอร์โมนเพศชาายสูง
- การให้ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนทดแทน เพื่อช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนสำหรับผู้ที่มีฮอร์โมนเพศชายต่ำ
- ไทรอยด์ฮอร์โมนบำบัด สำหรับผู้ที่มีภาวะไฮโปไทรอยด์ (hypothyroid) หรือภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย