ปัญหาสุขภาพจิต
ปัญหาสุขภาพจิตที่มักเกิดขึ้นในผู้ที่เป็นเกย์ มีดังนี้
ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และการฆ่าตัวตาย
ภาวะซึมเศร้าและวิตกกังวลอาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มเพศทางเลือก เนื่องจากบางสังคมหรือบางครอบครัวไม่เปิดรับในความหลากหลายทางเพศ จนอาจทำให้เกย์หลายคนต้องปิดบังตัวตนจนเกิดเป็นความกดดันและความเครียด ทำให้มีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลมากขึ้น นอกจากนี้ อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะฆ่าตัวตายได้เช่นกัน
งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Archive of The Western Journal of Medicine ปี พ.ศ. 2543 ทำการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพของผู้ป่วยที่เป็นเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศ พบว่า เกย์มีแนวโน้มที่จะพยายามฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ที่รักเพศตรงข้าม 6 เท่า ปัจจัยเสี่ยงในการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ค่านิยมทางสังคมที่ไม่ยอมรับ การเปิดเผยตัวเองว่าเป็นเกย์ตั้งแต่อายุยังน้อย ประสบการณ์รักร่วมเพศครั้งแรกตั้งแต่อายุยังน้อย รวมไปถึงการถูกล่วงละเมิดทางเพศ
ความรุนแรง
ในบางสังคมหรือบางครอบครัวที่ไม่ยอมรับในความหลากหลายทางเพศอาจใช้ความรุนแรงกับผู้ที่อยู่ในกลุ่มเพศทางเลือก โดยอาจเริ่มจากการดูหมิ่นด้วยคำพูดดูถูก ทำร้ายจิตใจและขยายไปสู่การทารุณกรรมทางร่างกาย ความรุนแรงเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตและนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และการฆ่าตัวตายได้
โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเอง (Dysmorphia)
โรคไม่ชอบรูปร่างหน้าตาตัวเองหรือโรคคิดว่าตนเองมีรูปร่างหรืออวัยวะผิดปกติ เป็นภาวะสุขภาพจิตที่ทำให้รู้สึกกังวลกับข้อบกพร้องของร่างกายตัวเอง เป็นโรคที่มักพบในวันรุ่น ผู้ใหญ่วัยหนุ่มสาว และผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ อาจทำให้มีความกังวลเกี่ยวกับส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่น มองตัวเองในกระจกบ่อยครั้ง พยายามหาทางปกปิดจุดบกพร่อง โดยโรคนี้อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ทำร้ายตัวเอง และอาจฆ่าตัวตายได้
ปัญหารูปร่างหน้าตามักพบบ่อยในผู้ชายที่เป็นเกย์หรือมีความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความผิดปกติของการกิน อาจกินอาหารน้อยลงจนกลายเป็นโรคกลัวอ้วน (Anorexia nervosa) หรือโรคล้วงคอ (Bulimia) นอกจากนี้ ยังอาจใช้อาหารเสริมที่ไม่ดีหรือใช้อะนาโบลิกสเตียรอยด์ (Anabolic Steroids) ที่เป็นสารสเตียรอยด์มีฤทธิ์เสริมสร้างกล้ามเนื้อ ซึ่งหากใช้ในระยะเวลานานอาจนำไปสู่ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และอัณฑะหดเล็กได้
การป้องกันปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับเกย์
เพื่อให้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ลดความเสี่ยงปัญหาทางสุขภาพกายและจิตใจ การรู้วิธีป้องกันความเสี่ยงอาจช่วยได้ ดังนี้
- ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ ควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากอุจจาระและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และควรใส่ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ทางปากด้วยเช่นกัน เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ทางปาก เช่น เริมที่ปาก นอกจากนี้ ควรใช้สารหล่อลื่นที่เหมาะสมกับประเภทของถุงยางที่ใช้ เพื่อป้องกันถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพ และถุงยางอนามัยแตก
- ไม่ควรเปลี่ยนคู่นอนบ่อย นื่องจากการเปลี่ยนคู่นอนบ่อยครั้งอาจเพิ่มโอกาสในการเสี่ยงติดเชื้อจากคนอื่น ๆ ได้
- ฉีดวัคซีน ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดต่อ เช่น ไวรัสตับอักเสบ ควรฉีดวัคซีนเมื่อต้องเดินทางไปประเทศที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อประมาณ 1 เดือน หรือเมื่อต้องใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบ เชื้อเอชพีวี ผู้หญิงและผู้ชายควรฉีดวัคซีนเอชพีวี อายุ 9-26 ปี โดยเน้นให้ฉีดช่วงอายุ 11-12 ปี เนื่องจากเชื้อเหล่านี้อาจติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นำไปสู่อาการร้ายแรง เช่น ภาวะตับวาย มะเร็งตับ การเสียชีวิต โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ใช้ยาเพร็พ (PrEP) เป็นยาต้านไวรัสที่ป้องกันการติดชื้อเอชไอวีในผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบและมีโอกาสสัมผัสเชื้อ ปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับการใช้ยาเพร็พเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ก่อนการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง โดยคุณหมอจะให้รับประทานยาเพร็พทุกวัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาด้านสุขภาพจากคุณหมอและความเสี่ยงที่เป็นไปได้
- ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คู่รักควรเข้ารับการตรวจความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทุกชนิด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคสู่ผู้อื่นและป้องกันการติดเชื้อจากผู้อื่น
- จำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่ใช้สารเสพติด เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดอาจทำให้รู้สึกมึนเมา ขาดสติ และมีแนวโน้มเสี่ยงมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันหรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปหรือใช้สารเสพติดอาจเพิ่มความเสี่ยงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็งตับ โรคจิตเภท
- ตรวจคัดกรองมะเร็ง เนื่องจากผู้ชายอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งอัณฑะ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งช่องปาก มะเร็งทวารหนัก จึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อป้องกันและสามารถรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
- รักษาสุขภาพอยู่เสมอ ด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนัก เพื่อให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรง ลดความเสี่ยงคอเลสเตอรอล ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน เป็นต้น
- พยายามอยู่ในสังคมและครอบครัวที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ การเปิดเผยรสนิยมทางเพศอาจช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย คลายความตึงเครียดลงได้ซึ่งส่งผลดีอย่างมากต่อสุขภาพจิต จึงควรเข้าไปอยู่ในสังคมเพื่อนและครอบครัวที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อไม่ให้รู้สึกโดดเดี่ยวและแปลกแยก
- ปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับสุขภาพจิต หากถูกบีบบังคับทางสังคมหรือเกิดปัญหาอื่น ๆ จนตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาและลดปัญหาการฆ่าตัวตายได้
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย