วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย คือ การเข้ารับการตรวจภายในอย่างสม่ำเสมอแม้ว่าจะยังไม่มีอาการผิดปกติ เพื่อสามารพบและให้การติดตามรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
การรักษาเนื้องอกมดลูก
วิธีรักษาเนื้องอกมดลูก มีดังนี้
ยา
ใช้ในการรักษาเนื้องอกในมดลูกโดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยควบคุมฮอร์โมนเพศ ลดความดันในอุ้งเชิงกรานที่ส่งผลให้มีอาการปวดท้อง และช่วยให้ประจำเดือนมาตามปกติ ซึ่งอาจทำให้เนื้องอกหดตัวลง แต่ไม่ได้ช่วยกำจัดเนื้องอกให้หายไป ยาที่ใช้อาจมีดังต่อไปนี้
- โกนาโดโทรปิน รีลิสซิงฮอร์โมน อะโกนิสต์ (Gonadotropin Releasing Hormone Agonists: GnRH agonists) ใช้เพื่อขัดขวางการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งอาจทำให้ประจำเดือนหยุดไหลชั่วคราวและอาจช่วยให้เนื้องอกหดตัว อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้ยานี้นานเกิน 3-6 เดือน เพราะอาจทำให้เข้าสู่วัยทองก่อนกำหนดได้
- กรดทรานเอกซามิก (Tranexamic Acid) เป็นยาที่มีส่วนช่วยให้เลือดแข็งตัว ใช้เพื่อบรรเทาอาการประจำเดือนมามากกว่าปกติหรือมีอาการเลือดออกทางช่องคลอด
- ห่วงคุมกำเนิด มีฮอร์โมนโปรเจสตินที่อาจช่วยบรรเทาอาการเลือดออกจากช่องคลอด
- ยาฮอร์โมนอื่น ๆ เช่น การฉีดยาคุมกำเนิด
การผ่าตัด
เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นเนื้องอกมดลูกที่มีอาการในระดับปานกลางหรือรุนแรงและมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด เช่น เนื้องอกทำให้เกิดเลือดออกมากผิดปกติจนมีภาวะซีด ก้อนเนื้องอกกดเบียดอวัยวะอื่นก้อนเนื้องอกมดลูกมีขนาดใหญ่มากจนทำให้รู้สึกไม่สบายตัวหรือส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยการผ่าตัดเนื้องอกมดลูกจะมีหลายเทคนิค ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคุณหมอ ดังนี้
- การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกผ่านช่องท้อง เป็นการผ่าตัดเพื่อนำเนื้องอกมดลูกออก เหมาะสำหรับผู้ที่มีเนื้องอกจำนวนมากหรือมีเนื้องอกขนาดใหญ่
- การผ่าตัดมดลูกออกทั้งหมด อาจช่วยกำจัดเนื้องอกมดลูกและแก้ไขปัญหาประจำเดือนมามากกว่าปกติ แต่อาจทำให้ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ตลอดชีวิต หากวางแผนมีบุตรควรปรึกษาคุณหมอก่อนการรักษา
- การใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Magnetic Resonance-guided Focused Ultrasound) เป็นการรักษาด้วยการใช้คลื่นเสียงที่มีความถี่ที่ทำให้เกิดความร้อนสูง เพื่อสลายเนื้องอกมดลูกและทำลายเนื้อเยื่อ โดยใช้ร่วมกับการสร้างภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) เพื่อช่วยกำหนดขอบเขตของเนื้องอกได้อย่างตรงจุด
- ผ่าตัดเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial ablation) เป็นกระบวนการผ่าตัดโดยใช้พลังงานความร้อนหรือกระแสไฟฟ้าเพื่อทำลายเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูก เพื่อช่วยลดการไหลของประจำเดือน เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาประจำเดือนมามากผิดปกติ
- การผ่าตัดเนื้องอกมดลูกผ่านการส่องกล้อง เป็นการผ่าตัดโดยการสอดกล้องขนาดเล็กผ่านช่องคลอดเข้าไปในมดลูก และใช้เครื่องมือผ่าตัดขนาดเล็กตัดเนื้องอกภายในมดลูกออก นอกจากนี้ ยังมีการผ่าตัดโดยการใช้หุ่นยนต์ ซึ่งเป็นกระบวนการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่าและเสียเลือดน้อยกว่า แต่มีความซับซ้อนและมีค่าใช้จ่ายสูง
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย