backup og meta

ประจำเดือนมาไม่ตรง เกิดจากสาเหตุใด

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง · สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/02/2023

    ประจำเดือนมาไม่ตรง เกิดจากสาเหตุใด

    ประจำเดือน คือ เยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกผ่านช่องคลอดออกมาเป็นเลือดประจำเดือนในทุก ๆ เดือน เกิดขึ้นเมื่อไข่ไม่ได้ผสมกับอสุจิและเกิดการปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน โดยปกติแล้วประจำเดือนจะมาในช่วงเวลาและปริมาณที่ใกล้เคียงกันทุกเดือน แต่บางคนอาจมีอาการ ประจำเดือนมาไม่ตรง ในบางเดือน ซึ่งอาจเกิดจากภาวะเครียด การออกกำลังกายหักโหมเกินไป ภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์ เป็นต้น ปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติอาจแก้ไขได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น หาวิธีคลายเครียด ปรับวิธีออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ดีต่อสุขภาพ แต่หากปรับพฤติกรรมแล้วไม่ได้ผล ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกวิธี

    ลักษณะของประจำเดือนตามปกติ

    รอบประจำเดือนของผู้หญิงแต่ละรอบจะเริ่มนับจากวันสุดท้ายของการมีประจำเดือนรอบล่าสุดไปจนถึงวันแรกของการมีประจำเดือนในรอบถัดไป โดยทั่วไป รอบเดือนปกติในแต่ละเดือนจะห่างกันประมาณ 28 วัน หรืออาจอยู่ในช่วง 21-35 วัน ในแต่ละรอบเดือน ผู้หญิงจะมีประจำเดือนประมาณ 3-5 วัน

    ในช่วงปีแรก ๆ ของการมีประจำเดือนหรือในช่วงที่เพิ่งเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ (อายุ 13-16 ปี) ผู้หญิงหลายคนอาจมีรอบเดือนห่างกันมากและจำนวนวันในแต่ละรอบเดือนอาจแปรปรวน แต่เมื่ออายุมากขึ้นรอบเดือนมักจะสั้นลง และมีจำนวนวันในแต่ละรอบเดือนใกล้เคียงกันมากขึ้น เนื่องจากการหลั่งฮอร์โมนเริ่มคงที่

    อาการของประจำเดือนมาไม่ตรง

    อาการของประจำเดือนมาไม่ตรง อาจมีดังนี้

    • รอบเดือนเปลี่ยนไปจากเดิม อาจมาช้าหรือมาเร็วกว่าปกติ
    • ประจำเดือนมามากกว่าปกติ หรือมาน้อยกว่าปกติ
    • จำนวนวันที่เป็นประจำเดือนแตกต่างจากเดิม อาจเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง
    • มีจุดเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน

    ประจำเดือนมาไม่ตรง เกิดจากสาเหตุใด

    ปัจจัยที่อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ตรง อาจมีดังนี้

    • ความเครียด เมื่อเกิดภาวะเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด เช่น อะดรีนาลีน คอร์ติซอล ในปริมาณมาก ซึ่งอาจกระทบต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์ และอาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ตรงได้
    • การทำกิจกรรมหักโหมเกินไป เช่น การฝึกซ้อมกีฬา การออกกำลังกาย อาจทำให้มีไขมันสำหรับนำไปใช้เป็นพลังงานไม่เพียงพอ จนระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายผิดปกติ ซึ่งอาจกระทบต่อการตกไข่ด้วย
    • ความผิดปกติของไฮโปทาลามัส ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) คือ ส่วนของสมองที่ทำหน้าที่ควบคุมฮอร์โมนระบบสืบพันธุ์ โดยไฮโปทาลามัสจะไปกระตุ้นให้ต่อมใต้สมองหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นรังไข่ให้ผลิตเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีส่วนทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัว และหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน หากไฮโปทาลามัสทำงานผิดปกติ ก็อาจส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ตรงได้
    • ภาวะถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome หรือ PCOS)เป็นภาวะที่มีความปกติในการตกไข่ โดยไข่อาจไม่ตก หรือตกไข่ไม่สม่ำเสมอ ทำให้มีถุงน้ำภายในจำนวนมากภายในรังไข่ ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ตรงหรือไม่มาเลย รวมถึงอาจทำให้มีบุตรยากด้วย
    • น้ำหนักตัวน้อยหรือมากกว่าเกณฑ์ อาจส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนภายในร่างกาย ทำให้ผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนเยอะเกินจำเป็น นอกจากนี้ การมีน้ำหนักน้อยเกินไปก็อาจทำให้กระบวนการตกไข่ผิดปกติ และส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ตรงได้

    ประจำเดือนมาไม่ตรง รับมืออย่างไร

    เมื่อมีอาการประจำเดือนมาไม่ตรง คุณหมอจะรักษาด้วยวิธีที่แตกต่างกันไปตามสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ตรง ดังต่อไปนี้

    • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต คุณหมออาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างที่อาจส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ตรง เช่น หากมีน้ำหนักเกินอาจจำเป็นต้องออกกำลังกายมากขึ้นและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หากออกกำลังกายหักโหมเกินไปอาจต้องออกกำลังกายให้เบาลง เพื่อให้ระดับฮอร์โมนภายในร่างกายสมดุลขึ้นและอาจช่วยให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติได้ในไม่ช้า
    • หาวิธีคลายเครียด คุณหมออาจแนะนำให้คลายเครียดด้วยการทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่สนใจ เช่น จัดสวน ปลูกต้นไม้ ทำขนม แต่หากมีภาวะเครียดเรื้อรังหรือรุนแรงจนส่งผลให้วิตกกังวลมากและถึงขั้นซึมเศร้า ควรไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัดเพื่อพูดคุยและรับคำปรึกษาที่เหมาะสม
    • ใช้ยาปรับฮอร์โมน คุณหมอจะสั่งให้ใช้ยาฮอร์โมนหรือยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน หรือแนะนำให้ใช้ห่วงคุมกำเนิด ยาเหล่านี้ประกอบด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด ได้แก่ เอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรน ซึ่งจะช่วยปรับระดับฮอร์โมนตามธรรมชาติของร่างกายให้สมดุล จนอาจช่วยให้ประจำเดือนมาสม่ำเสมอขึ้น หรือเพื่อให้ประจำเดือนมาเป็นปกติในบางภาวะ เช่น ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ หรือรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism)
    • การผ่าตัด สำหรับคนที่โครงสร้างมดลูกมีปัญหา ท่อนำไข่ผิดปกติ หรือเนื้อเยื่อของอวัยวะในระบบสืบพันธุ์เสียหายหรือเป็นแผล จนทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ คุณหมออาจเลือกใช้วิธีผ่าตัดเพื่อแก้ไขโครงสร้างให้กลับมาเป็นปกติ หรือผ่าตัดนำเนื้อเยื่อแผลเป็นที่เสียหายรุนแรงออก ซึ่งอาจช่วยให้ประจำเดือนกลับมาเหมือนเดิมได้

    เมื่อไรควรไปพบคุณหมอ

    หากมีอาการประจำเดือนมาไม่ตรงในลักษณะต่อไปนี้ ควรไปพบคุณหมอเพื่อรับการรักษาด้วยวิธีการที่เหมาะสม

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น มาทุก ๆ 6 สัปดาห์แทนที่จะมาทุก 4 สัปดาห์
  • ประจำเดือนมานานกว่าปกติ เช่น มามากกว่า 7 วัน
  • ประจำเดือนไม่มานานกว่า 6 เดือน
  • ประจำเดือนมาเร็วหรือมาช้าติดต่อกันเกิน 3 เดือน
  • มีเลือดออกจากช่องคลอดในช่วงที่ไม่ได้เป็นประจำเดือน
  • อยู่ในวัยเจริญพันธุ์แต่กลับไม่มีประจำเดือนเลย
  • ปวดท้องหรือปวดประจำเดือนรุนแรงจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงอธิภัทร์ นวลละออง

    สุขภาพทางเพศ · โรงพยาบาลสมุทรสาคร


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 14/02/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา