ปัญหาสุขภาพและข้อจำกัดบางประการ เช่น โอกาสในการตั้งครรภ์ที่น้อยกว่าผู้หญิงที่ชอบเพศตรงข้าม อาจทำให้เลสเบี้ยนเสี่ยงเป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ ได้มากกว่า เนื่องจากฮอร์โมนที่ร่างกายหลั่งออกมาในระหว่างครรภ์และระหว่างให้นมลูก อาจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งดังกล่าวได้ นอกจากนี้ เลสเบี้ยนอาจนิยมดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นโรคอ้วน และมีปัญหาเรื่องโภชนาการ ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นต้น
ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ
เลสเบี้ยนในวัยเจริญพันธ์ุ อายุ 20-40 ปี อาจมีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาถุงน้ำรังไข่หลายใบสูง ภาวะนี้เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของฮอร์โมน อาจส่งผลกระทบต่อการมีประจำเดือน เช่น ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ ทำให้มีลักษณะทางกายภาพคล้ายผู้ชาย เช่น มีหนวด มีขนขึ้นในบริเวณเดียวกับผู้ชาย เสียงเปลี่ยน เนื่องจากมีฮอร์โมนเพศชายสูง และอาจมีซีสต์ในรังไข่จำนวนมากได้ด้วย
อาการซึมเศร้าและความวิตกกังวล
เลสเบี้ยนเสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้าและโรควิตกกังวลได้มากกว่า ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความรู้สึกแปลกแยกทางสังคม การถูกเลือกปฏิบัติ การถูกคนที่รักปฏิเสธ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ และการถูกใช้ความรุนแรง เลสเบี้ยนอาจต้องปกปิดรสนิยมของตัวเองไว้ไม่ให้คนอื่น ๆ เช่น เพื่อน ครอบครัว นายจ้าง รับรู้ จนอาจทำให้เครียด กดดัน และเกิดเป็นภาวะซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลได้
ปัญหาสุขภาพจากการใช้ความรุนแรง
เลสเบี้ยนอาจประสบปัญหาการใช้ความรุนแรงจากคู่รัก ครอบครัว หรือคนอื่น ๆ ในสังคม โดยอาจเริ่มจากการใช้คำพูดทำร้ายจิตใจจนกลายเป็นการทำร้ายร่างกาย บางคนอาจเคยถูกข่มขืน ถูกทำร้ายร่างกาย ถูกคนรักสะกดรอยตาม เป็นต้น ซึ่งประสบการณ์รุนแรงที่เคยเผชิญ นอกจากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย เช่น ทำให้มีอาการบาดเจ็บ เสี่ยงเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว ยังอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจ จนนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคแพนิคหรือโรคตื่นตระหนก
งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Western Journal of Medicine เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2543 ทำการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยที่เป็นเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล และคนข้ามเพศ พบว่า เยาวชนเลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล หรือคนข้ามเพศ เคยถูกเพื่อนและสมาชิกในครอบครัวทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง จนอาจเสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพ เช่น การถูกทำร้ายร่างกาย การใช้สารเสพติด โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การฆ่าตัวตาย
วิธีป้องกันปัญหาสุขภาพของ เลสเบี้ยน
วิธีเหล่านี้อาจช่วยลดการเกิดปัญหาสุขภาพของเลสเบี้ยนได้
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ขณะทำกิจกรรมทางเพศหรือมีเพศสัมพันธ์ หากเป็นไปได้ ควรสวมถุงยางอนามัยนิ้วหรือใช้อุปกรณ์ป้องกันอื่น ๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากใช้เซ็กส์ทอย ก็ควรใช้ถุงยางอนามัยเช่นกัน และควรล้างเซ็กส์ทอยให้สะอาดด้วยน้ำสบู่หลังใช้งานทุกครั้ง และที่สำคัญ ไม่ควรใช้เซ็กส์ทอยร่วมกับผู้อื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดหรือแพร่กระจายเชื้อโรค
- ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ คู่รักหรือคู่นอนควรเข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก่อนตัดสินใจมีเพศสัมพันธ์หรือทำกิจกรรมทางเพศ และควรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นในกรณีที่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เนื่องจากบางโรคอาจไม่แสดงอาการ จึงทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่ากำลังติดเชื้อ นอกจากนี้ หากตรวจพบโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรเข้ารับการรักษาและดูแลตัวเองตามคำแนะนำของคุณหมอด้วย
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย การมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนเพียงคนเดียวอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
- จำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และไม่ใช้สารเสพติด เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสารเสพติดอาจทำให้มึนเมา ขาดสติ จนอาจพลาดมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันและเสี่ยงติดเชื้อ ทั้งยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคกระดูกพรุน และโรคมะเร็งได้ด้วย
- ฉีดวัคซีน เข้ารับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี เชื้อไวรัสตับอักเสบ เป็นต้น อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
- ตรวจมดลูก ผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ชอบเพศตรงข้ามหรือเพศทางเลือกควรเข้ารับการตรวจแปปสเมียร์ (Pap test) เป็นประจำ โดยเริ่มตรวจครั้งแรกเมื่ออายุไม่เกิน 21 ปี หรือภายใน 3 ปีหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของมดลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ ซึ่งอาจช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้
- ตรวจคัดกรองมะเร็ง เลสเบี้ยนอาจเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งเต้านม และมะเร็งรังไข่ จึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งแต่ละชนิดเป็นประจำ หากตรวจพบ จะได้รักษาได้อย่างทันท่วงที
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี จัดการความเครียดให้ได้ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้สุขภาพโดยรวมแข็งแรง ลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน เป็นต้น
- ปรึกษาคุณหมอเกี่ยวกับสุขภาพจิต หากถูกกดดัน ถูกทำร้ายร่างกาย หรือประสบปัญหาที่อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล ควรเข้าพบคุณหมอหรือนักบำบัดทันที เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งอาจช่วยลดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจตามมา รวมถึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายได้ด้วย
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย