โรคซิฟิลิสแต่กำเนิด อาจเป็นอันตรายต่อทารกได้ ดังนี้
- ทำให้เสียชีวิตระหว่างอยู่ในครรภ์
- ทำให้เสียชีวิตระหว่างคลอด
- ทำให้คลอดก่อนกำหนด
- ทำให้เสียชีวิตหลังจากคลอดไม่นาน
นอกจากนี้ โรคซิฟิลิสแต่กำเนิดยังเป็นสาเหตุให้ทารกพิการหรือมีร่างกายผิดปกติ ดังนี้
- น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ
- ตับและม้ามใหญ่กว่าปกติ
- ตัวเหลือง
- ฝ่ามือฝ่าเท้าพองและลอก
- น้ำมูกไหลมาก อาจมีเลือดปน คล้ายเป็นหวัดเรื้อรัง
- นอนนิ่ง ไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้ คล้ายเป็นอัมพาต
- โลหิตจางอย่างรุนแรง
- กระดูกผิดรูป
- ตาบอด
- หูหนวก
- เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
อย่างไรก็ตาม ทารกบางรายอาจไม่มีอาการป่วยใด ๆ เมื่อคลอดออกมา แต่จะมีอาการเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว 2-3 สัปดาห์หรืออาจนานกว่านั้น ทั้งนี้ หญิงตั้งครรภ์ที่ตรวจพบว่าเป็นซิฟิลิสระหว่างตั้งครรภ์ ควรสังเกตอาการของทารกหลังคลอดอย่างใกล้ชิด และรายงานให้คุณหมอทราบ
นอกจากนี้ ทารกที่เป็นโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดไม่สามารถหายเองได้ ต้องได้รับการรักษาทันทีเพื่อป้องกันการเสียชีวิต
Congenital Syphilis รักษาได้อย่างไร
โรคซิฟิลิสแต่กำเนิด คุณหมอมักรักษาด้วยการให้ยาต้านเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) ทางหลอดเลือดแก่ทารกเป็นเวลา 10-14 วัน
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผลตรวจยังไม่ชัดเจน คุณหมอมักฉีดโปรเคน เพนิซิลลิน (Procaine Penicillin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะสำหรับรักษาการติดเชื้อแบคทีเรียให้ทารกทางกล้ามเนื้อ 1 เข็ม
ทั้งนี้ หากตรวจพบว่าทารกเป็นโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดตั้งแต่ตอนหลังคลอดและได้รับการรักษาทันที และร่างกายของทารกตอบสนองต่อยา อาจรักษาให้หายได้ แต่จำเป็นต้องติดตามการรักษาเป็นระยะ ๆ โดยการตรวจเลือดเพื่อยืนยันผลการรักษา ในบางราย หากรักษาช้าเกินไปหรือร่างกายไม่ตอบสนองต่อยาที่ใช้ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
Congenital Syphilis ป้องกันได้อย่างไร
โรคซิฟิลิสแต่กำเนิดอาจป้องกันได้โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- เข้ารับการตรวจคัดกรองซิฟิลิสตั้งแต่ฝากครรภ์ครั้งแรกในช่วงไตรมาสแรก หากตรวจพบจะได้รักษาอย่างทันท่วงที และหาวิธีป้องกันการติดเชื้อของทารกในครรภ์ ทั้งนี้ การตรวจหาซิฟิลิสประกอบด้วยการตรวจร่างกาย และการเจาะเลือด เพื่อนำตัวอย่างเลือดไปตรวจหาแอนติบอดี (Antibodies) หรือสารภูมิต้านทาน
- ป้องกันตัวเองจากโรคซิฟิลิส ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่ป้องกันได้ด้วยการมีคู่นอนเพียงคนเดียว สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และหลีกเลี่ยงการใช้ยาเสพติดหรือการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินขนาด เพราะอาจทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจและเลือกมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน รวมทั้งตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
ความคิดเห็นทั้งหมด
แบ่งปันความคิดเห็นของคุณ
ร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณกับ Hello คุณหมอ
สมัครสมาชิก หรือ เข้าสู่ระบบ เพื่อร่วมการพูดคุย