เริมที่ปาก คือ แผลพุพองที่ปรากฏรอบริมฝีปากหรือภายในช่องปาก เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดทางปากกับผู้ติดเชื้อไวรัสเริม เช่น การจูบ ที่อาจทำให้ได้รับเชื้อที่อาจปะปนมากับน้ำลาย เมื่อเชื้อเริมเข้าสู่ร่างกายจนเข้าสู่ร่างกายของอีกคน สามารถนำไปสู่การอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น โรคไขข้ออักเสบ การติดเชื้อที่ตาและสมอง โดยเฉพาะในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี
[embed-health-tool-ovulation]
คำจำกัดความ
เริมที่ปาก คืออะไร
เริมที่ปาก คือ การติดเชื้อที่ริมฝีปาก ในช่องปาก และเหงือก จากไวรัสเริมซึ่งมีอยู่ 2 ชนิด คือ ไวรัสเริมชนิดที่ 1 (HSV-1) และไวรัสเริมชนิดที่ 2 (HSV-2) โดยไวรัสเริมชนิดที่ 1 สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อที่การแพร่กระจายนำไปสู่เริมที่ปากจนเกิดเป็นแผลพุพองได้ ในปี พ.ศ. 2559 ของประชากรทั้งหมดทั่วโลก ประมาณ 3.7 พันล้านคน หรือ 67% ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี มีการติดเชื้อไวรัสเริม HSV-1 ในปากและอวัยวะเพศ ขณะเดียวกันมีการประเมินสำหรับช่วงอายุ 15-49 ปี ประมาณ 122-192 ล้านคน ที่มีการติดเชื้อ HSV-1 ที่อวัยวะเพศเพียงอย่างเดียวร่วมด้วย
ส่วนไวรัสเริมชนิดที่ 2 อาจส่งผลให้เกิดเริมบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก แต่บางครั้งก็อาจทำให้เกิดเริมที่ปากได้เช่นกัน หากมีเพศสัมพันธ์ผ่านทางปาก
อาการ
อาการเริมที่ปาก
เริมที่ปากส่วนใหญ่อาจไม่ปรากฏอาการ และบางคนอาจไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ HSV-1 อย่างไรก็ตาม หากปล่อยไว้เป็นเวลานานอาการเริมที่ปากอาจปรากฏขึ้น โดยสามารถสังเกตได้จากสัญญาณ ดังต่อไปนี้
- รู้สึกแสบร้อน มีรอยแดง และคันบริเวณที่ติดเชื้อไวรัสเริม ก่อนจะมีแผล
- มีแผลพุพองในปาก รอบปาก และริมฝีปาก และอาจมีของเหลวใสภายในแผล
- หลังจาก 4-6 วัน แผลอาจตกสะเก็ด และหายไปได้เอง
- อาการคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองบวม
สาเหตุ
สาเหตุเริมที่ปาก
สาเหตุที่ทำให้เกิดเริมที่ปาก คือ การสัมผัสน้ำลายของผู้ติดเชื้อ หรือแผลที่ติดเชื้อไวรัสเริมชนิดที่ 1 ในช่องปาก ผ่านกิจกรรมที่ใช้ปาก เช่น การจูบ การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก การใช้ของส่วนตัวร่วมกัน
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงเริมที่ปาก
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระตุ้นทำให้เกิดเริมที่ปากซ้ำ ๆ หรือบ่อยครั้ง ได้แก่
- การผ่าตัดที่กระทบต่อเส้นประสาท
- การรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เช่น สเตียรอยด์
- การเผชิญกับแสงแดดเป็นเวลานาน
- ความเครียด หรือภาวะทางอารมณ์
การวินิจฉัยและการรักษา
ข้อมูลในที่นี้ไม่มีเจตนาให้ใช้ทดแทนคำแนะนำทางการแพทย์ ควรปรึกษาคุณหมอทุกครั้งเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
การวินิจฉัยเริมที่ปาก
หากมีอาการเจ็บปวด และมีผื่นขึ้นบริเวณรอบปากหรือในช่องปาก คุณหมออาจวินิจฉัยด้วยการเก็บตัวอย่างเลือดและชิ้นเนื้อที่ปากไปตรวจหาเชื้อไวรัสเริม เพราะบางครั้งเริมที่ปากอาจทำให้ผู้ป่วยสับสนกับการติดเชื้อจากภาวะอื่น ๆ เช่น อาการแพ้ จึงจำเป็นต้องวิเคราะห์เลือดและเนื้อเยื่ออย่างละเอียด
การรักษาเริมที่ปาก
เริมที่ปาก คุณหมออาจรักษาด้วยการให้ยาต้านเชื้อไวรัส เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) ซึ่งมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคเริม และอาจช่วยบรรเทาอาการรุนแรงได้ ควรรับประทานยาต้านเชื้อไวรัสให้เร็วที่สุดภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากมีอาการ เพื่อลดการแพร่เชื้อและบรรเทาอาการเจ็บปวดจากแผลเริมที่ปาก
นอกจากนี้ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของคุณหมอ เพื่อรักษาแผลเริ่มที่ปาก ดังนี้
- ไม่สัมผัส หรือแกะแผล เพื่อป้องกันการเกิดหนองและแผลเป็น
- ประคบและทำความสะอาดแผลด้วยผ้าก๊อซชุบน้ำเกลือหรือน้ำต้มสุก หรือกลั้วปากด้วยน้ำเกลือ กรณีที่มีแผลในปาก
- พักผ่อนให้เพียงพอ และดื่มน้ำให้มาก ๆ
- รับประทานยาตามอาการ เช่น พาราเซตามอลลดไข้ หรือเช็ดตัวลดอุณหภูมิในร่างกาย
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเอง
การปรับไลฟ์สไตล์และการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันเริมที่ปาก
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดเริมที่ปาก คือ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ เว้นระยะห่าง และไม่ควรใช้สิ่งของที่สัมผัสกับน้ำลายร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ช้อนส้อม รวมถึงควรงดการมีเพศสัมพันธ์ด้วยปาก หรืออาจใช้ถุงยางอนามัย หรือแผ่นยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อลดการแพร่กระจายของไวรัสเริม