backup og meta

โรคเริมเกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    โรคเริมเกิดจากอะไร รักษาได้อย่างไร

    โรคเริม เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังชนิดหนึ่ง พบได้บริเวณมุมปากหรือรอบปาก และบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก เนื่องจากเป็นโรคที่พบได้บ่อยและไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ การทราบว่า โรคเริมเกิดจากอะไร และจะรักษาให้หายได้อย่างไร จึงอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคนี้ได้

    โรคเริม คืออะไร

    โรคเริม เป็นโรคติดต่อทางผิวหนังที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes simplex หรือ HSV) ติดต่อได้ผ่านการสัมผัสกับเชื้อจากปากสู่ปาก ทางปากกับอวัยวะเพศ หรือระหว่างอวัยวะเพศกับอวัยวะเพศขณะมีเพศสัมพันธ์ โรคนี้รักษาไม่หายขาด เมื่อได้รับเชื้อไวรัสเริมแล้วจะมีเชื้ออยู่ในร่างกายตลอดชีวิต โดยทั่วไปมักไม่แสดงอาการ แต่ก็อาจทำให้เกิดอาการทางผิวหนัง เช่น เริมที่ริมฝีปาก (Cold sore) ลักษณะเป็นแผลพุพองขนาดเล็กเมื่อแผลแตกออกอาจทำให้ปวดแสบปวดร้อน รู้สึกเจ็บเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรง หลังจากการติดเชื้อครั้งแรก อาการอาจกำเริบได้เรื่อย ๆ โดยเฉพาะในช่วงที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ นอกจากนี้ เด็กทารกและผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอกว่าปกติ เช่น ผู้ที่เคยปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคมะเร็ง อาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากโรคเริมได้

    โรคเริมเกิดจากอะไร

    โรคเริมเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes simplex virus) ที่แพร่เชื้อได้ผ่านการสัมผัสกับเชื้อโดยตรงหรือการสัมผัสผิวหนังบริเวณที่ติดเชื้อ และติดต่อได้ง่ายที่สุดเมื่อแผลเปิดและเปียกน้ำ เนื่องจากของเหลวจากแผลเริมจะแพร่กระจายเชื้อไวรัสได้ไวกว่าเดิม และถึงแม้จะเป็นโรคเริมแบบไม่แสดงอาการ ก็สามารถแพร่เชื้อเริมไปสู่บุคคลอื่นได้เช่นกัน

    เชื้อเริมแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • เชื้อเริมชนิดที่ 1 (Herpes type 1 หรือ HSV-1) มักก่อให้เกิดการติดเชื้อบริเวณริมฝีปาก ในช่องปาก และใบหน้า ส่วนใหญ่ติดต่อผ่านการสัมผัสน้ำลายและผิวหนังของผู้ติดเชื้อ ไม่ได้ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
  • เชื้อเริมชนิดที่ 2 (Herpes type 2 หรือ HSV-2) มักก่อให้เกิดการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก ส่วนใหญ่ติดต่อผ่านการสัมผัสผิวหนังบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้ติดเชื้อ แต่ก็อาจติดเชื้อเริมชนิดที่ 2 ที่ปากได้หากใช้ปากขณะทำกิจกรรมทางเพศ มักพบได้ในผู้ใหญ่
  • ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคเริม

    โรคเริมสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย แต่ปัจจัยต่อไปนี้ อาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัสโรคเริม

    • เพศหญิงมีความเสี่ยงเกิดโรคเริมมากกว่าเพศชาย
    • มีคู่นอนหลายคน
    • เริ่มมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย
    • เคยมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน
    • มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
    • ไม่สวมถุงยางอนามัยหรือแผ่นยางอนามัย (Dental Dam) ขณะมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทางปาก หรือทางทวารหนัก

    โรคเริม อาการ เป็นอย่างไร

    หลังจากได้รับเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ ซิมเพล็กซ์ หรือไวรัสเริม เชื้อจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2-12 วัน คนที่ติดเชื้อไวรัสเริมอาจไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยจนอาจไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคเริม

    อาการโรคเริมที่พบได้ อาจมีดังนี้

    • มีอาการเจ็บหรือคันบริเวณอวัยวะเพศ
    • มีตุ่มน้ำหรือตุ่มแดงเล็ก ๆ รอบบริเวณอวัยวะเพศ ทวารหนัก ช่องปาก
    • มีแผลพุพองหรือตุ่มน้ำซึ่งอาจแตกออกหรือมีเลือดไหลซึมออกมา
    • มีสะเก็ดบนผิวหนังที่ก่อตัวขึ้นหลังแผลสมานตัว
    • เจ็บ แสบ ขณะถ่ายปัสสาวะ
    • มีเมือกหรือของเหลวไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ หรือช่องคลอด

    ผู้ที่เพิ่งติดเชื้อและมีอาการเป็นครั้งแรก อาจมีอาการคล้ายไข้หวัด เช่น

    แผลจากโรคเริมจะปรากฏในบริเวณติดเชื้อ บางครั้งอาจแพร่กระจายไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น รอบดวงตา ปากนิ้วมือ ก้น ต้นขา ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ ช่องคลอด ปากมดลูก องคชาต ถุงอัณฑะ จากการสัมผัสแผลแล้วไปถูหรือเกาบริเวณนั้น ผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการแกะเกาแผล และล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ

    หลังจากติดเชื้อครั้งแรก โรคเริมอาจกลับมาแสดงอาการได้อีกในภายหลัง เมื่อมีปัจจัยกระตุ้น เช่น ความเครียด ภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง แสงแดด การมีประจำเดือน การเจ็บป่วย การผ่าตัด เนื่องจากเชื้อไวรัสยังคงฟักตัวอยู่ในปมประสาท (Ganglion) โดยอาการอาจกำเริบภายใน 1 ปีหลังติดเชื้อครั้งแรก แต่ความถี่จะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ อาการส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นบริเวณเดิม แต่จะเกิดขึ้นไม่นานและไม่รุนแรงเท่าตอนที่ติดเชื้อครั้งแรก ทั้งนี้ อาการนำ (Prodromal symptoms) หรืออาการที่เป็นสัญญาณเตือนว่าโรคเริมกำเริบอาจเกิดขึ้นไม่กี่วันหรือไม่กี่ชั่วโมง เช่น เจ็บบริเวณอวัยวะเพศ รู้สึกเสียวแปลบหรือปวดร้าวบริเวณขา สะโพก หรือก้น

    โรคเริม วิธีรักษา ทำได้อย่างไร

    ปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคเริมให้หายขาดได้ การรักษาจะมุ่งเน้นเพื่อบรรเทาอาการด้วยการรับประทานยาต้านไวรัสตามใบสั่งแพทย์ เช่น อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) แฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) วาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) อาจช่วยบรรเทาอาการแสบร้อน คัน หรือรู้สึกเสียวแปลบ สามารถใช้ได้กับเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ ซิมเพล็กซ์ทั้ง 2 ชนิด เมื่อรับประทานทุกวันอาจช่วยลดความรุนแรงของอาการ ลดความถี่ของการกำเริบ ทั้งยังช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบุคคลอื่นได้

    วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคเริม

    การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันโรคเริม อาจทำได้ดังนี้

    • หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือเข้าใกล้ผู้ที่เป็นโรคเริม เช่น การจูบ การทำออรัลเซ็กส์
    • งดใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ลิปบาล์ม ช้อนส้อม
    • มีเพศสัมพันธ์กับบุคคลเพียงคนเดียว หรือจำกัดจำนวนคู่นอน
    • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และใช้แผ่นยางอนามัยเมื่อใช้ปากขณะมีเพศสัมพันธ์
    • เข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ และควรให้คู่นอนของตัวเองไปตรวจด้วย

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงนันทิวดี มาเมือง

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสุขุมวิท


    เขียนโดย ศุภานิช สุริโย · แก้ไขล่าสุด 08/05/2023

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา