backup og meta

ยาทาเริม มีอะไรบ้าง ช่วยรักษาอาการได้อย่างไร

ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร · สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 26/11/2022

    ยาทาเริม มีอะไรบ้าง ช่วยรักษาอาการได้อย่างไร

    เริมเป็นโรคผิวหนังและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes Simplex Virus หรือ HSV) ซึ่งแพร่ผ่านการจูบ การมีเพศสัมพันธ์ และการสัมผัสกับผิวหนังของผู้ติดเชื้อ ทั้งในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการและไม่มีอาการ วิธีรักษาเริมนั้น คุณหมอจะจ่าย ยาทาเริม ให้ผู้ป่วย เพื่อช่วยให้เริมหายเร็วขึ้น และช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดหรือคันบริเวณที่ติดเชื้อ

    เริม คืออะไร

    เริมเป็นโรคผิวหนังและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง เมื่อเป็นแล้วจะมีตุ่มน้ำใสเล็ก ๆ เกาะกันเป็นกลุ่มก้อน จากนั้นตุ่มน้ำใสจะแตกออกเกิดเป็นแผลพุพองบริเวณปาก เหนือสะดือ อวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ร่วมกับมีอาการคันและแสบร้อน เมื่อเป็นแล้วอาจรักษาให้อาการดีขึ้นได้ แต่ไม่สามารถรักษาให้เริมหายขาดได้ เชื้อจะยังคงแฝงอยู่ในร่างกาย และมักกลับมาเป็นซ้ำหากมีตัวกระตุ้นหรืออยู่ในช่วงที่ร่างกายมีภูมิคุ้มกันลดลง

    สาเหตุของเริมคือการติดเชื้อไวรัสเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์ ซึ่งมีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ HSV-1 และ HSV-2 โดย HSV-1 มักทำให้เป็นเริมที่ปาก ในขณะที่ HSV-2 เป็นสาเหตุของเริมบริเวณอวัยวะเพศหรือทวารหนัก โดยมักเกิดขึ้นในผู้ที่ร่างกายอ่อนแอ พักผ่อนน้อย ภูมิคุ้มกันต่ำ

    เริม ติดต่อทางไหนได้บ้าง

    เริมบริเวณอวัยวะเพศมักติดต่อกันผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าทางอวัยวะเพศ ทางปาก หรือทางทวารหนัก ทั้งในขณะที่ผู้ป่วยมีบาดแผลหรือรอยขีดข่วน หรือแม้กระทั่งในขณะที่ผู้ป่วยติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ ก็สามารถแพร่เชื้อได้เช่นกัน

    โดยปกติแล้ว เชื้อเฮอร์พีส์ ซิมเพล็กซ์จะตายอย่างรวดเร็วเมื่ออยู่ภายนอกร่างกายผู้ติดเชื้อเนื่องจากเป็นเชื้อไวรัส โอกาสติดเชื้อจากการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับผู้ป่วยค่อนข้างต่ำ อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อเริมบริเวณอื่น ๆ เช่น ปาก เหนือสะดือ อาจเกิดขึ้นได้เมื่อสัมผัสกับรอยโรคโดยตรง โดยเฉพาะการสัมผัสบริเวณแผลเริมเปิดหรือแผลที่ยังสดอยู่ รวมทั้งการสัมผัสกับน้ำเหลืองของผู้ป่วยโดยไม่ตั้งใจ เช่น การดื่มน้ำแก้วเดียวกับผู้ป่วยที่อาจมีน้ำเหลืองจากแผลเริมติดอยู่

    ยาทาเริม มียาอะไรบ้าง

    เริมไม่มียารักษาให้หายขาด เมื่อเป็นแล้วอาการอาจค่อย ๆ ดีขึ้นด้วยการใช้ยาทาเริมและดูแลตนเองเพื่อให้ภูมิคุ้มกันกลับมาแข็งแรง แต่ก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้ โดยความถี่ของการเป็นซ้ำจะลดลงเรื่อย ๆ และอาการของโรคแต่ละครั้งจะรุนแรงน้อยลงกว่าครั้งก่อนหน้า

    ทั้งนี้ ยาทาเริมที่อาจช่วยให้เริมหายเร็วขึ้นหรือช่วยบรรเทาอาการผิดปกติต่าง ๆ มีดังนี้

    • อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) เป็นยาต้านไวรัส มีคุณสมบัติเร่งการฟื้นฟูผิวหนังที่เป็นตุ่มใสหรือแผลจากเริม และบรรเทาความรู้สึกเจ็บปวด คัน หรือแสบ อย่างไรก็ตาม การทายาอะไซโคลเวียร์ไม่ได้ช่วยป้องกันการเป็นซ้ำของเริม ทั้งนี้ สามารถใช้ร่วมกับยา acyclovir ในรูปแบบของยารับประทายได้ โดยขนาดและระยะเวลาที่ต้องรับประทานยา ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เป็น ระยะที่เป็น หรือจำนวนครั้งของการติดเชื้อซ้ำ ๆ
    • ลิโดเคน (Lidocaine) เป็นยาชาเฉพาะที่ ใช้ทาเพื่อระงับความเจ็บปวดของเริม ทั้งนี้ ยาอีกชนิดที่คุณหมออาจจ่ายให้ผู้ป่วยคือครีมเบนโซเคน (Benzocaine) ซึ่งมีฤทธิ์ในการช่วยลดความเจ็บปวดของเริมเช่นเดียวกัน
    • ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) เป็นยาแก้อักเสบในกลุ่มสเตียรอยด์ ใช้ทาเพื่อลดอาการแดงหรือแสบร้อนเมื่อเป็นเริม รวมถึงอาจช่วยให้เริมหายเร็วขึ้น โดยทั่วไป ยานี้มักใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเพื่อรักษาเริมที่อวัยวะเพศ
    • โดโคซานอล (Docosanol) เป็นยาต้านไวรัส มีคุณสมบัติช่วยให้เริมหายเร็วขึ้นและช่วยบรรเทาอาการไม่สบายตัวต่าง ๆ ที่เกิดจากเริม งานวิจัยหนึ่งเกี่ยวกับประสิทธิภาพของโดโคซานอล ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the American Academy of Dermatology ปี พ.ศ. 2544 นักวิจัยได้ทดสอบประสิทธิภาพของโดโคซานอล และพบข้อสรุปว่า ระยะเวลาเฉลี่ยที่ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นจากโรคเริมหลังทาโดโคซานอลอยู่ที่ประมาณ 4-5 วันโดยการทาโดโคซานอลวันละ 5 ครั้งนั้นปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคเริมที่เป็นซ้ำ
    • ไลซีน (Lysine) เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ เป็นยาสำหรับรับประทานที่สั่งจ่ายโดยเภสัชกรหรือคุณหมอเท่านั้น มีคุณสมบัติช่วยชะลอการเติบโตของเชื้อไวรัส HSV-1 ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเริม

    ทั้งนี้ เมื่อเริ่มมีอาการอาจปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยาใกล้บ้านเพื่อรับยาทาเริม แต่หากแผลใหญ่หรือลุกลาม หรือเป็นแผลบริเวณอวัยวะเพศ แผลในร่มผ้า ควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจและเข้ารับการรักษาอย่างถูกวิธี

    หมายเหตุ

    Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

    ตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์โดย

    แพทย์หญิงรัชตภา นาเวศภูติกร

    สูตินรีเวชวิทยา · โรงพยาบาลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


    เขียนโดย ธนชาติ จึงแย้มปิ่น · แก้ไขล่าสุด 26/11/2022

    advertisement iconโฆษณา

    คุณได้รับประโยชน์จากบทความนี้หรือไม่?

    advertisement iconโฆษณา
    advertisement iconโฆษณา